หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร,ดร. » หลักการตีความในเนตติปกรณ์ และเปฏโกปเทส
 
เข้าชม : ๑๕๓๒๔ ครั้ง

''หลักการตีความในเนตติปกรณ์ และเปฏโกปเทส ''
 
พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร,ผู้แปล

ความเป็นมาของเนตติปกรณ์และเปฏโกปเทส

พระพุทธศาสนานิกายเถรวาทนับตั้งแต่ยุคต้น ๆ ได้ยึดเอาพระไตรปิฎกเป็นศูนย์กลางของจารีตทางความคิด ยอมรับว่า พระไตรปิฎกคือ “พุทธวจนะ” และเป็น “ธรรมกาย” (กองธรรม) จากการที่จัดพระไตรปิฎกไว้ในตำแหน่งศูนย์กลางนี้เอง ปัญหาในเชิงการตีความคัมภีร์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในสายเถรวาท ผลที่ตามมาคือ นิกายเถรวาทได้พัฒนาคำสอนและแนวคิดต่าง ๆ ขึ้นมาในรูปของคัมภีร์อรรถกถาและฎีกาสำหรับอธิบายพระไตรปิฎก ดังที่ข้าพเจ้าเคยตั้งข้อสังเกตไว้แล้วในที่อื่นๆ งานเขียนในแนวอรรถกถาเป็นตัวแทนของการแก้ปัญหาขั้นที่สองและขั้นสุดท้ายของเถรวาทที่เสนอวิธีการตีความหรือการทำความเข้าใจพระไตรปิฎก อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาการตีความขั้นแรก ๆ พบในคัมภีร์ยุคหลังพระไตรปิฎก 2 คัมภีร์ คือ “เนตติปกรณ์” และ “เปฏโกปเทส” หลักการหรือแนวทางสำหรับตีความพระไตรปิฎกในคัมภีร์ทั้งสองนี้ ได้มีอิทธิพลต่อการกำหนดกรอบวิธีคิดในจารีตการแต่งคัมภีร์แนวอรรถกถาของเถรวาทอย่างลึกซึ้ง คัมภีร์ทั้งสองนี้ได้รับการยอมรับตามจารีตว่าเป็นผลงานของท่าน “พระมหากัจจานะ” ถือว่าเป็นคู่มือการตีความที่สลับซับซ้อนและใช้เทคนิคชั้นสูง แม้คัมภีร์ทั้งสองนี้จะมีเนื้อหาไม่เหมือนกันทั้งหมด แต่ก็ได้เสนอมุมมองและหลักการตีความอย่างเดียวกัน

เนตติปกรณ์ และ เปฏโกปเทส ได้พัฒนาแนวคิดเรื่องทางสู่พระนิพพานตามลำดับขั้น (gradual path) และได้ใช้แนวคิดนี้เป็นยุทธศาสตร์การตีความเพื่ออธิบายหลักธรรม แม้แนวคิดนี้จะเป็นที่รับรู้โดยทั่วไปในพระพุทธศาสนายุคหลัง ทั้งในฝ่ายเถรวาทและมหายาน และได้กลายมาเป็นเอกลักษณ์สำคัญของจารีตทางความคิดของเถรวาทที่ส่งทอดผ่านคัมภีร์ต่าง ๆ เช่น วิสุทธิมรรค เป็นต้น ดูเหมือนว่าแนวคิดทำนองนี้จะไม่ได้ปรากฏออกมาชัดเจนนักในคัมภีร์เถรวาทยุคก่อนเนตติปกรณ์และเปฏโกปเทส เมื่อเป็นเช่นนี้ ถามว่า คัมภีร์ทั้งสองได้หยิบยกเอาแนวคิดนี้ขึ้นมานำเสนออย่างมีพลังได้อย่างไร บริบทแวดล้อม (context) ในช่วงที่คัมภีร์ทั้งสองเกิดขึ้น สามารถจะแสดงบทบาทกำหนดรูปแบบและทำให้แนวทัศนะในการตีความมีความสำคัญขึ้นมาได้หรือไม่ เราจะเริ่มต้นด้วยการพิจารณาปัญหาข้อที่สองก่อน คิดว่าน่าจะทำให้เรามองเห็นความสำคัญและความหมายของยุทธศาสตร์การตีความในคัมภีร์ทั้งสองนี้ได้ดีขึ้น

ความสัมพันธ์ระหว่างตัวบท (text) กับบริบท (context)

ในหนังสือชื่อว่า “Selfless Persons” สตีเวน คอลลินส์ ได้เสนอแนวคิดไว้ว่า คัมภีร์ของเถรวาทเกิดขึ้นตามเงื่อนไขแห่งบริบทแวดล้อม โดยเขาเขียนไว้ว่า “แนวคิดของเถรวาทเกิดมาจากบริบททางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม แล้วสร้างรูปแบบและสมมติฐานบางอย่างขึ้นมาเพื่อปลดเปลื้องข้อวิตกกังวลเฉพาะบางอย่าง…” เขาให้เหตุผลว่า คัมภีร์ต่าง ๆ สามารถทำความเข้าใจได้ในความหมายของ เดอร์ไคม์ (Durkhiem) ที่ว่าเป็น “ข้อเท็จจริงทางสังคม” (social facts) ทัศนะของคอลลินส์ ในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างคัมภีร์ของเถรวาทกับบริบทแวดล้อมได้สนับสนุนแนวคิดของนักวิชาการคนอื่น ๆ เกี่ยวกับปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง “ตัวบท” (text-หมายถึงตัวเนื้อหา รูปแบบ และโครงสร้างของคัมภีร์หรือตำรา-ผู้แปล) กับ “บริบท” (context-บรรยากาศด้านสภาพแวดล้อม ค่านิยม ความเชื่อ ขนบธรรมเนียม และประเพณีวัฒนธรรม เป็นต้น-ผู้แปล )

เพื่อไม่ให้ออกนอกประเด็นไปไกลเกินไป ขอสรุปสั้น ๆ อย่างนี้ว่า บริบทแวดล้อมทำหน้าที่อย่างน้อย 2 ระดับในการกำหนดรูปแบบกระบวนการผลิตและการตีความคัมภีร์ในจารีตทางศาสนาในรูปของการสะสมขึ้นเรื่อย ๆ ประการแรก คือ บริบทแวดล้อมเป็นบ่อเกิดของคัมภีร์ นี้คือความจริงที่ได้รับการยอมรับมานานในสาขาไบเบิลศึกษา (Biblical Studies) ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับสร้างหลักการวิจารณ์และวิธีการทำความเข้าใจคัมภีร์ นักวิชาการคนอื่น ๆ เช่น แมรี่ ดักลาส (Mary Douglas) ได้แสดงให้เห็นว่า ความเชื่อและระบบคุณค่าต่าง ๆ (values) ที่สร้างจักรวาลวิทยา (โลกทัศน์-ชีวทัศน์) ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ถูกกำหนดหรือออกแบบโดยบริบทแวดล้อม และในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ออกแบบบริบทแวดล้อมขึ้นมาใหม่ด้วย บริบททางสังคมเป็นตัวกำหนดโครงสร้างและแบบแผนการให้รางวัลและการลงโทษ เป็นตัวกำหนดระบบคุณค่าบางอย่างและความหมายของการดำรงอยู่ และในขณะเดียวกัน มันก็ได้มอบคุณค่าและการตีความที่ไม่มีเหตุผลอื่นๆ กลับคืนมาด้วย จากการส่งอิทธิพลต่อความเชื่อในลักษณะกดดันของบริบท บริบทแต่ละอย่างจึงก่อให้เกิดอคติเชิงวัฒนธรรมและจักรวาลวิทยา นั่นคือ “สำนึกร่วมทางศีลธรรม (ของสังคม) เกี่ยวกับมนุษย์และตำแหน่งแห่งที่ (place) ของตนในจักรวาล” เนื่องจาก “ตัวบท” เป็นตัวแทนของ “จักรวาลวิทยาที่ถูกแช่แข็ง” (frozen cosmologies) ดังนั้น เราจึงอาจเห็นได้ว่า ตัวบทเกิดขึ้นภายใต้ความกดดันของบริบทและเป็นตัวแทนของบริบทนั้น

ประเด็นที่สองที่ควรตั้งข้อสังเกตก็คือว่า ตัวบทจะทำหน้าที่อนุญาตให้จักรวาลวิทยาบางอย่างเข้ามาในฐานะเป็นสิ่งที่มีเหตุผล ในขณะเดียวกันก็เป็นตัวกันจักรวาลวิทยาอื่น ๆ ออกไปในฐานะเป็นสิ่งที่ไร้เหตุผลด้วย เช่นเดียวกัน บริบทก็เป็นตัวอนุญาตให้หลักการตีความตัวบทบางอย่างเข้ามาและเป็นตัวกันหลักการตีความอื่น ๆ ออกไป ดังที่ แคนท์เวลล์ สมิธ (W.Cantwell Smith) ได้กล่าวไว้ว่า คัมภีร์ทางศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของจารีตที่ผ่านการสั่งสม ซึ่งตกทอดมาจากอดีต เมื่อได้มาปะทะกับปัจเจกบุคคลผู้มีศรัทธา ปัจเจกบุคคลนั้นก็จะตีความคัมภีร์ในวิถีทางที่ให้ความหมายและความสมเหตุสมผลในบริบทของเขาเอง บริบทจึงมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของประชาชนสูงมากเกี่ยวกับวิธีการทำความเข้าใจคัมภีร์ ในแง่ที่ว่า พวกเขาควรจะรับเอาหรือเน้นย้ำแนวคิดแบบใด และควรจะสลัดทิ้งแนวคิดแบบใด?

เนตติปกรณ์และเปฏโกปเทสกับบริบททางสังคม

ดูเหมือนว่า เนตติปกรณ์ และเปฏโกปเทส ได้เกิดขึ้นในบริบทและเป็นตัวสะท้อนบริบททางประวัติศาสตร์เฉพาะบางอย่าง ซึ่งบริบทนี้เองเป็นตัวออกแบบวิธีการทำความเข้าใจหลักธรรมในคัมภีร์ทั้งสอง ดูเหมือนว่าทั้งสองคัมภีร์จะเป็นตัวแทนของสิ่งที่ คอลลินส์ เรียกว่า “ข้อเท็จทางสังคม” แน่นอนว่า การสันนิษฐานบริบททางสังคมที่อยู่เบื้องหลังคัมภีร์ทางพุทธศาสนา เป็นสิ่งที่อันตราย เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอ เรายังไม่มีความแน่นอนชัดเจนในรายละเอียดทั้งหมดของบริบทอินเดียโบราณที่คัมภีร์ทั้งสองเกิดขึ้น จะอย่างไรก็ตาม ก็มีทัศนะร่วมกันในเชิงวิชาการเกี่ยวกับสภาพบริบทสังคมอินเดียและสถานะของศาสนาในบริบทนั้น และทัศนะเหล่านี้ได้เป็นประดุจประทีปนำทางกลับไปหาภูมิหลังและเจตนารมณ์ของคัมภีร์

หลุย ดูมองต์ (Louis Dumont) ได้บรรยายภาพบริบทสังคมอินเดียว่า มีคนอยู่ 2 กลุ่ม คือ “ผู้อยู่ในโลก กับผู้สละโลก” (กลุ่มอาคาริก กับกลุ่มอนาคาริก-ผู้แปล) ผู้ดำเนินชีวิตตามบรรทัดฐานของระบบวรรณะและผู้ครองเรือนคือผู้ที่ดูมองต์บอกว่า “ผู้อยู่ในโลก” (men of the world) ส่วนผู้ที่เข้าป่า เรียกว่า “ผู้สละโลก” (renouncers) นี้คือภาพพื้นฐานทั่วไปของสังคมอินเดียสมัยโบราณ ซึ่งก็สอดคล้องกับทัศนะของแมกซ์ เวเบอร์ (Max Weber) เกี่ยวกับการแบ่งคนออกเป็น 2 ประเภท (dichotomy) คือ สามัญชน กับชนชั้นสูง (virtuosos) ดูมองต์ ได้ให้เหตุผลต่อไปอีกว่า แนวคิดทางศาสนาของยุคนี้ต้องทำความเข้าใจโดยสัมพันธ์กับคน 2 กลุ่มเหล่านี้ นักบวชหรือผู้สละโลกมีศาสนาแนวปัจเจก ในขณะที่กลุ่มผู้อยู่ในโลกหรือฆราวาสไม่ได้มองตัวเองในเชิงปัจเจก หากแต่มีแนวคิดทางศาสนาแบบเน้นกลุ่มชน (group-oriented)

หลุย ปูแซง (Louis de la Vallee Poussin) ได้ให้ภาพบริบทสังคมอินเดียในแนวนี้เหมือนกันและได้ชี้ให้เห็นว่า ศาสนาต่าง ๆ ในอินเดียได้แสดงให้เห็นบริบทแบบนี้อย่างไร สังคมอินเดียโบราณเป็นบ่อเกิดของจารีตทางศาสนา 2 ประเภท ประเภทแรกเหมาะสำหรับผู้สละโลก หรือปัจเจกบุคคล ประเภททีสอง เหมาะสำหรับผู้อยู่ในโลก ประเภทแรกเขาให้ชื่อว่า “จริยธรรมเพื่อความหลุดพ้น” ประเภทหลังให้ชื่อว่า “ศาสนา” ศาสนาทั้งหลายมุ่งตอบสนองความต้องการพื้นฐานของประชาชนที่อยู่ในสังคม ทั้งความต้องการเฉพาะหน้าและสูงสุด ศาสนาประกอบด้วย ศาสนิกชน พิธีกรรม การบวงสรวง เทวดา และประเพณีศักดิ์สิทธิ์ โดยการจัดวางคำสอนระดับศีลธรรม ปรับความศักดิ์สิทธิ์ให้ลงมาอยู่ในระดับโลกีย์ และยอมรับการมีชีวิตอยู่ในโลก ในแง่ของพิธีกรรมเกี่ยวกับศพ ศาสนาก็ได้ให้หลักประกันแก่คนตายและชีวิตหลังตาย นอกจากนั้น ศาสนายังได้ให้จักรวาลวิทยาชนิดลดหลั่นแก่ประชาชนผู้ต้องการจะดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมแบบรวมกลุ่ม

อย่างไรก็ตาม “จริยธรรมเพื่อความหลุดพ้น” ไม่ได้มีลักษณะจักรวาลวิทยาแบบรวมกลุ่มเหล่านี้อยู่ ไม่ได้มีลักษณทางปรัชญาและศาสนา หากแต่เป็นเพียงทางที่นำไปสู่ความหลุดพ้นหรือพระนิพพาน มุ่งเป้าหมายระดับโลกุตระมากกว่าโลกิยะ เน้นจริยธรรมเพื่อความหลุดพ้น ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐานของประชาชน เช่น การแต่งงาน พิธีศพ หรือการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ทั้งนี้ก็เนื่องจากเป็นหลักการที่มุ่งไปที่บุคคลผู้สละโลกและสังคมนั่นเอง หลักแห่งความหลุดพ้นเช่นนี้ได้เริ่มขึ้นในพระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมตามที่ปูแซงได้อธิบายไว้

ทัศนะของปูแซงในเรื่องบริบทสังคมอินเดียโบราณและสถานะของพระพุทธศาาสนาในบริบทนั้น มีความคล้ายคลึงกับทัศนะของ แมกซ์ เวเบอร์ (Max Weber) เวเบอร์มองพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมในฐานะเป็นระบบที่ขาดมิติทางสังคมที่มุ่งความหลุดพ้นแบบเข้มข้น (asocial system of radical salvation striving) โดยได้เน้นวิถีทางสำหรับนักบวชผู้สละโลก และมีแนวทางสำหรับผู้อยู่ในโลกเพียงนิดหน่อยเท่านั้น

ที่บอกว่า พระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมเป็นตัวแทนจริยธรรมเพื่อความหลุดพ้น ดูเหมือนจะมีความน่าเชื่อถืออยู่ไม่น้อย พระพุทธเจ้าและสาวกของพระองค์ในยุคต้น ๆ ก็เป็นส่วนหนึ่งความเคลื่อนไหวอย่างแพร่หลายของกลุ่มสมณะหรือผู้สละโลกในอินเดียโบราณ พระสูตรหรือคำสอนทางพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก ก็ได้สะท้อนจักรวาลวิทยาเชิงปัจเจกและการแสวงหาความหลุดพ้นตามแนวคิดเรื่อง “จริยธรรมเพื่อความหลุดพ้น” ของปูแซง ถ้าเป็นอย่างที่ปูแซงเชื่อ พระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมก็เริ่มต้นในฐานะเป็นจริยธรรมสำหรับผู้สละโลก ต่อมาไม่นานจึงมีคำศัพท์เกี่ยวกับความต้องการของฆราวาสชัดเจนขึ้น เมื่อพระพุทธศาสนาพัฒนาไปเรื่อย ๆ ก็เริ่มมีการสร้างความสัมพันธ์กับสังคมในโลกฆราวาส ดูมองต์ ได้มองกระบวนการคลี่คลายขยายตัวของศาสนาในอินเดียว่า “ความลี้ลับของศาสนาฮินดู อาจพบได้ในบทสนทนาระหว่างผู้สละโลก กับผู้อยู่ในโลก” ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นก็ดี จารีตทางศาสนาฮินดูได้วิวัฒน์ก็ดี ก็เพราะผู้สละโลกเป็น “ผู้ผลักดัน (agent) การพัฒนาทั้งในทางศาสนาและการคาดเดาความจริงของอินเดีย ผู้สร้างระบบคุณค่า (creators of values)” จะต้องนำเสนอตัวเองต่อสังคมในวงกว้าง ดูมองต์ ได้เขียนไว้อีกว่า “พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของศาสนาฮินดู ด้านหนึ่งเป็นพัฒนาการแบบมุ่งความหลุดพ้น (สันยาสี) อีกด้านหนึ่งเป็นพัฒนาการของศาสนาแบบโลก ๆ”

พระพุทธศาสนาก็เช่นเดียวกัน ปฏิสัมพันธ์ระหว่างบริบททางสังคม 2 อย่าง (คือ ค่านิยมแบบผู้สละโลก และผู้อยู่ในโลก –ผู้แปล) กับจักรวาลวิทยา 2 อย่าง (คือ จักรวาลวิทยาแนวปัจเจก และจักรวาลวิทยาแบบเน้นกลุ่มชน- ผู้แปล) ได้เป็นตัวผลักดันให้เกิดการพัฒนาและกำหนดรูปแบบศาสนา หนึ่งในบรรดาปัญหาหลัก ๆ ที่พระพุทธศาสนาได้เผชิญในขณะนั้น ก็คือ ความจำเป็นในการที่จะอธิบายบทบาทของมนุษย์ที่อยู่ในโลกให้มีความสมเหตุสมผล และความจำเป็นในการที่จะตอบสนองความต้องการทางสังคมหรือทางศาสนาของกลุ่มคนผู้ไม่ได้สละโลก

เนตติปกรณ์และเปฏโกปเทส ได้ถือกำเนิดขึ้นมาภายใต้สภาพแวดล้อมแห่งการปะทะกันของบริบททั้งหลายเหล่านี้ คัมภีร์ทั้งสองนี้ได้สะท้อนถึงกระบวนการพัฒนาในจารีตของเถรวาทและการสร้างมุมมองอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนขึ้นมา บางทีอาจจะสะท้อนได้ชัดเจนมากกว่าคัมภีร์อื่น ๆ ในยุคต้นด้วยซ้ำไป คัมภีร์ทั้งสองได้ยอมรับตัวแบบอุดมคติ (ideal types) 2 อย่าง คือ ผู้สละโลก กับผู้อยู่ในโลก และพยายามที่จะอธิบายหลักธรรมให้สัมพันธ์กับตัวแบบทั้งสองนี้ วิธีการและมุมมองในการตีความของคัมภีร์ทั้งสอง ได้พัฒนาขึ้นมาเพื่อรับมือกับปัญหาในการหาทางนำเสนอความห่วงใยของศาสนาต่อประชาชนผู้มีความต้องการที่แตกต่างหลากหลาย ในขณะเดียวกัน ก็สงวนไว้ซึ่งแนวคิดแกนกลางที่ว่า สัจธรรมมีเพียงหนึ่งเดียว และนำไปสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ พระนิพพาน เนตติปกรณ์และเปฏโกปเทส ได้ตอบสนองภาวะยุ่งยากทางบริบทแวดล้อมด้วยการสร้างทางสู่พระนิพพานตามลำดับขั้นเป็นเครื่องมือตีความ เพื่อปรองดองกับจักรวาลวิทยาและแนวคิดที่แตกต่างกันภายใต้ร่มเงาของเอกภาพแห่งสัจธรรมเดียวกัน

แนวคิดเรื่องทางสู่พระนิพพานตามลำดับขั้น ได้เปิดช่องทางให้เนตติปกรณ์และเปฏโกปเทส สามารถรวมเอาเป้าหมายระดับโลกียะให้เข้ามาอยู่ภายใต้เป้าหมายระดับโลกุตระ และทำให้อธิบายได้ว่า สัจธรรมมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับประชาชนทั้งหมดอย่างไร ในการพัฒนาทางสู่พระนิพพานตามลำดับขั้นให้เป็นยุทธศาสตร์แห่งการตีความ นิกายเถรวาทได้ดำเนินตามแบบแผนเดียวกันกับที่ ดูมองต์ กล่าวไว้ในกรณีศาสนาฮินดู เขาได้ตั้งข้อสังเกตคำสอนเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด (สังสารวัฏ) ว่า “คือการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้สละโลกในฐานะเป็นปัจเจกบุคคล กับคนที่อยู่ในโลกที่เป็นเหมือนดวงวิญญาณผู้คอยค้ำจุนผู้สละโลกอยู่เบื้องหลัง” “แนวคิดเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดมีเจตจำนงเด่นชัดในการที่จะยืมความจริงที่ผู้สละโลกค้นพบมาให้แก่คนที่อยู่ในโลก” คัมภีร์ทั้งสองได้ใช้ทางสู่ความหลุดพ้นตามลำดับขั้นคล้ายๆ กัน โดยใช้เป็นวิถีทางสำหรับมองการเวียนว่ายตายเกิดเหมือนอย่างที่คอลลินส์เรียกว่า “ยุทธศาสตร์ในเชิงวิมุตวิทยา” (soteriological strategy)

หลักการตีความในเนตติปกรณ์และเปฏโกปเทส

ในฐานะเป็นคู่มือแห่งการตีความ เนตติปกรณ์และเปฏโกปเทส ได้นำเสนอเส้นทางตามลำดับขั้นในฐานะเป็นกุญแจสำหรับไขเข้าไปสู่อรรถะหรือความหมายแห่งธรรมของพระพุทธเจ้า เนตติปกรณ์อธิบายหลักธรรมโดยการอ้างพุทธพจน์ที่ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง และงามในที่สุด พร้อมทั้งอรรถะและพยัญชนะ แก่เธอทั้งหลาย” (N.5; เนตติ. 5/7; Majjhima Nikaya III. 280) แม้จะมีความสลับซับซ้อนมาก แต่เนตติปกรณ์ก็ยืนยันในข้อเท็จจริงที่ว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าไม่มีขอบเขต ไม่มีประมาณ (N. 8; เนตติ. 9/11) คำอธิบายเหล่านี้ได้สร้างความกระจ่างเกี่ยวกับความสูงสุดของธรรม เพราะเป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ จึงเป็นความจริงที่ไม่มีขอบเขต ไม่มีประมาณ พร้อมทั้งมีโครงสร้างและตรรกะอยู่ภายในพร้อมเสร็จ การที่จะเข้าใจธรรมนั้นได้ ผู้ตีความจะต้องเข้าถึงระบบตรรกะแล้วถือเอาอรรถะและพยัญชนะของธรรมได้อย่างเหมาะสม ดังข้อความในอังคุตตรนิกายที่ว่า การตีความอรรถะและพยัญชนะของธรรมอย่างไม่ถูกต้อง ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมสูญและการทำลายพระสัทธรรม (Anguttara Nikaya II.147; ดู องฺ. ทุก.21/160/223 ฉบับภาษาไทย มจร.)

ทั้งเนตติปกรณ์และเปฏโกปเทส ได้ตั้งสมมติฐานว่า ระบบตรรกะและโครงสร้างภายในหลักธรรม มีรากฐานมาจากทางตามลำดับขั้น ทางตามลำดับขั้นปรากฏออกมาเป็นธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง และงามในที่สุด พระพุทธเจ้าทรงนำเอาเป้าหมายสูงสุดเข้ามาสัมพันธ์กับประชาชนก็ด้วยอาศัยแนวคิดแบบนี้เอง หลักการตีความทั้งหมดในคัมภีร์ทั้งสอง รวมทั้งหลักอรรถะและพยัญชนะ ก็ทำงานภายในกรอบของทางตามลำดับขั้นนี้เอง เมื่อได้วางแบบแผนของทางตามลำดับขั้นทับซ้อนลงไปบนหลักธรรม คัมภีร์ทั้งสองนี้จึงมองหาลำดับขั้นตอนแบบลดหลั่นของทางและเป้าหมายที่จำเป็นต่อการนำธรรมเข้าไปสัมพันธ์กับความหลากหลายของประชาชน แต่ยังรักษาไว้ซึ่งแนวคิดที่ว่า เป้าหมายและความหมายสูงสุดของธรรมมีเพียงหนึ่งเดียว

เมื่อได้วางตรรกะและโครงสร้างแห่งทางสำหรับเข้าถึงธรรมโดยรวมแล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดนี้ เนตติปกรณ์และเปฏโกปเทส จึงได้จัดประเภทบุคคลที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมโปรดตามอุปนิสัยและประเภทพระสูตรที่ทรงนำมาแสดงแก่บุคคลเหล่านี้ การจัดประเภทแบบนี้ (typologies) ปรากฏในบทที่ว่าด้วย “สาสนปัฏฐาน” (the foundation of the sasana) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงหัวใจสำคัญที่คัมภีร์ทั้งสองได้วางไว้ นักตีความผู้เข้าไปสัมผัสกับธรรมโดยไม่ตระหนักถึงลักษณะพิเศษเหล่านี้ จะไม่สามารถเข้าใจธรรมได้ และถือว่าเป็นเรื่องอันตราย ดังที่เปฏโกปเทสได้ชี้ว่า “ทำพระสูตรให้วิปริต” (mixing up the suttas) (P. 80)

ในการจัดประเภทบุคคลตามที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมโปรดตามอุปนิสัย คัมภีร์ทั้งสองได้แบ่งบุคคลออกเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ คือ ปุถุชน เสขบุคคล และอเสขบุคคล (P.42; N.49) ประเภทบุคคลเหล่านี้ก็คือตัวแทนของระดับขั้นในมรรค คือ ตั้งแต่ระดับโสดาบันไปจนถึงระดับอรหันต์ สองประเภทแรกชัดเจนว่าหมายถึงคนที่อยู่ในโลกและผู้สละโลกโดยลำดับ ส่วนประเภทที่สาม เป็นประเภทบุคคลผู้สละโลกที่เข้าถึงเป้าหมายแล้ว (อเสขบุคคล) ซึ่งก็ก้าวขึ้นมาจากบุคคลผู้กำลังเดินทางคือเสขบุคคลนั่นเอง บุคคลสองกลุ่มนี้ ก็คือกลุ่มผู้กำลังขวนขวายเพื่อความบริสุทธิ์ กับกลุ่มผู้เข้าถึงความบริสุทธิ์แล้ว (N. 20)

นอกจากการจัดระดับบุคคลดังกล่าวมาแล้ว คัมภีร์ทั้งสองยังได้จัดประเภทบุคคลตามจริตและความสามารถอีกด้วย อาศัยการพิจารณาคำสอนเรื่องกรรมและสังสารวัฏของพุทธศาสนา การจัดประเภทแบบนี้จึงมีสมมติฐานว่า บุคคลแต่ละระดับอาจมีความต้องการ ความโน้มเอียง และความสามารถที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม แม้คัมภีร์ทั้งสองจำแนกบุคคลออกเป็นหลายประเภทตามจริต แต่ก็ได้สรุปลงในกลุ่มจริตหลัก 2 กลุ่ม คือ ตัณหาจริตบุคคล และทิฏฐิจริตบุคคล (N. 109) โดยใช้กิเลสที่แต่ละคนมีอยู่เป็นตัวตัดสิน เช่น ทิฏฐิจริตบุคคลจะมีอวิชชาเป็นกิเลส ในขณะที่ตัณหาจริตบุคคลมีตัณหาเป็นกิเลส (N. 109) นอกจากนั้น จริตยังสามารถใช้พฤติกรรมการแสวงหาความพ้นทุกข์เป็นตัวตัดสินได้ด้วย คือ ทิฏฐิจริตบุคคล ก็จะใช้วิธีบำเพ็ญตบะอย่างเคร่งครัด (อัตตกิลมถานุโยค) และตัณหาจริตบุคคล จะใช้วิธีทำตนให้หมกมุ่นอยู่ในกามคุณ (กามสุขัลลิกานุโยค) (P. 242)

แม้คัมภีร์ทั้งสองจะจัดประเภทจริตไว้หลายอย่างดังกล่าวมาแล้ว แต่จริตทั้งหมดนั้นก็สามารถทอนลงในจริต 2 อย่างได้ คือ ทิฏฐิจริต และตัณหาจริต (N. 126) มีการแบ่งอีกแบบ คือ แบ่งเป็น 3 ได้แก่ ราคจริต โทสจริต และโมหจริต (N. 190) นอกจากนั้น ยังสามารถใช้ความแตกต่างด้านระดับสติปัญญาเป็นเกณฑ์ในการแบ่งได้ด้วย คือ คนที่เข้าใจธรรมที่แสดงโดยย่อได้ เรียกว่า อุคฆฏิตัญญู คนที่เข้าใจคำสอนได้เมื่อขยายความ เรียกว่า วิปจิตัญญู และคนที่พอแนะนำได้ เรียกว่า เนยยะ (N. 7) บางครั้งมีการแบ่งแตกขยายออกไปมากมาย โดยใช้ระดับสติปัญญาเหล่านี้เป็นฐานแล้วมีคุณสมบัติด้านอินทรีย์อ่อน (มุทินทรีย์) หรืออินทรีย์แก่กล้า (ติกขินทรีย์) มาพ่วงท้าย

หลังจากแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของประเภทบุคคลแล้ว เนตติปรณ์และเปฏโกปเทส ก็ได้ชี้ให้เห็นประเภทของพระสูตร การจัดประเภทพระสูตรเหล่านี้ ได้ฉายให้เห็นภาพธรรมชาติของทางตามลำดับขั้นได้เป็นอย่างดี โดยได้จัดพระสูตรพื้นฐานไว้ 4 ประเภทดังที่ปรากฏในบทที่ว่าด้วย “สาสนปัฏฐาน” คือ (1) สังกิเลสภาคิยสูตร (สูตรที่ว่าด้วยสังกิเลส) (2)วาสนาภาคิยสูตร (สูตรที่ว่าด้วยการบำเพ็ญบุญกุศล หรือชีวิตทางศีลธรรม) (3) นิพเพธภาคิยสูตร (สูตรที่ว่าด้วยการทำลายกิเลส หรือการบรรลุมรรคผล) และ (4) อเสขภาคิยสูตร (สูตรที่ว่าด้วยอเสขบุคคล หรือพระอรหันต์) ประเภทของพระสูตรเหล่านี้ สามารถขยายเพิ่มจาก 4 เป็น 8 และจาก 8 เป็น 16 โดยการนำพระสูตรพื้นฐานทั้ง 4 มาผสมกัน

ประเภทของพระสูตรเหล่านี้ ได้สะท้อนให้เห็นบริบทหลัก 2 ประการที่ดูมองต์เสนอไว้ และศาสนา 2 ประเภทที่ปูแซงบรรยายไว้ พระสูตรพื้นฐาน 2 ประเภทแรก คือ วาสนาภาคิยสูตร และ นิพเพธภาคิยสูตร ก็สอดคล้องกับแนวคิดเรื่องศาสนาของผู้อยู่ในโลกและจริยธรรมของผู้สละโลก มีประเด็นหนึ่งที่เปฏโกปเทส นิยามคำว่าพระสูตรพื้นฐาน 2 ประเภทต่างจากเนตติปกรณ์ คือปุพพโยคสูตร (พระสูตรที่ว่าด้วยการบำเพ็ญเพียรในกาลก่อน) และนิพเพธภาคิยสูตร (P.42.)

จากการขยายพระสูตรพื้นฐาน 2 ประเภท ไปเป็น 4 ประเภท คัมภีร์ทั้งสองก็ได้แสดงถึงกรอบเค้าโครงของทางตามลำดับขั้น คือ ประเภทพระสูตรที่เกี่ยวกับสังกิเลส ก็จะบรรยายถึงความทุกข์ที่บุคคลต้องแบกรับในชาติแล้วชาติเล่า เพราะมีตัณหาและประกอบอกุศลกรรม ในบทที่ว่าด้วย “สาสนปัฏฐาน” เนตติปกรณ์ได้อธิบายพระสูตรแนวนี้ด้วยการอ้างคาถาธรรมบทสั้น ๆ ว่า “เมื่อบุคคลพูดหรือทำด้วยจิตอันเศร้าหมอง ทุกข์ย่อมติดตามเขาไปเหมือนล้อเกวียนหมุนตามรอยเท้าโค ฉะนั้น” (N. 129) ยังมีตัวอย่างอื่น ๆ ที่แสดงให้เห็นว่า พระสูตรในแนวนี้ได้กล่าวถึงสภาพความทุกข์ยากของบุคคลผู้ยังไม่ได้ตรัสรู้ โดยบรรยายไว้ว่า อวิชชา และตัณหา เป็นตัวนำหมู่มนุษย์ให้เขวออกนอกทาง (ทางตรัสรู้) นี้คือด้านลบของชีวิตมนุษย์ผู้อยู่ในโลก

ส่วนด้านบวกของชีวิตได้กล่าวไว้ในพระสูตรระดับศีลธรรมที่เหมาะกับคนที่อยู่ในโลก (วาสนาภาคิยสูตร) ดังที่เนตติปกรณ์ได้อธิบายถึงพระสูตรที่ว่าด้วยเรื่องบุญและหนทางไปเกิดในสุคติภพ (N. 48f.) ภายใต้การจัดประเภทพระสูตรในลักษณะนี้ เนตติปกรณ์ก็ได้จัดลำดับองค์ประกอบของการทำบุญตามจารีตเถรวาท คือเริ่มต้นด้วยการให้ทาน (ทานกถา) รักษาศีล (สีลกถา) แล้วได้สวรรค์ (สัคคกถา) อันเป็นจุดหมายในสุคติภพ (เนตติ. 49) พระสูตรระดับศีลธรรม (วาสนาภาคิยสูตร) ไม่มีคำสอนเกี่ยวกับระดับขั้นในมรรคที่สูงขึ้นไป แต่ก็พูดถึงคุณธรรมในแง่ความสำรวมระวังและวิบากของกรรมดี (N. 49, 159) มีตัวอย่างมากมายที่พระสูตรแนวนี้ได้ยกตัวขึ้นมาเพื่อแสดงให้เห็นบุคคลผู้เข้าถึงเป้าหมายคือสุคติภพอันเป็นผลจากการสร้างกุศลกรรม เช่น การยกตัวอย่างเรื่องของบุรุษคนหนึ่งผู้ถวายเทริดดอกไม้แด่พระพุทธเจ้า แล้วพระพุทธเจ้าได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า บุรุษนี้จะได้สุคติภพเป็นเวลานานถึง 84 กัป จักได้เป็นเทวราชาปกครองหมู่เทพและเป็นพระราชาปกครองมนุษย์ และในชาติสุดท้ายเขาจักได้บวชแล้วเห็นแจ้งในอริยสัจ 4 (N. 138f.; ดู เนตติ. 95/165-166) นอกจากนั้น ยังมีการกล่าวถึงตัวอย่างการทำบุญอื่น ๆ อีก เช่น เรื่องการถวายดอกบัว 4 ดอก หรือเรื่องการถวายข้าวละมานทะนานหนึ่ง แล้วส่งผลให้ไปเกิดในสุคติภพเป็นเวลาหลายพันปี ดังข้อความในสูตรหนึ่งที่ว่า “ตั้งแต่กัปนั้นเป็นต้นมา บัดนี้เป็นกัปที่ 30 แล้ว ข้าพเจ้าไม่รู้จักทุคติเลย และไม่เคยไปสู่นรกเลย…” (N. 141; ดู เนตติ. 98, 170) ชัดเจนว่า การจัดประเภทพระสูตรในลักษณะนี้ เท่ากับเป็นการอธิบายเรื่องการเกิดใหม่ให้เป็นจุดหมายที่ยอมรับกันได้ในหมู่คนที่อยู่ในโลก เพียงหมั่นขยันบำเพ็ญบุญกุศล ก็รับประกันได้ว่าบุคคลจะได้บังเกิดในภพภูมิที่ดี ๆ อย่างไรก็ตาม การเกิดในสุคติภพก็ถูกมองว่าไม่ใช่จุดจบในตัวของมันเอง หากแต่เป็นบันไดขั้นสำคัญที่บุคคลสามารถจะใช้เป็นฐานเพื่อก้าวไปสู่จุดหมายสูงสุดได้ ข้อความที่อ้างไว้ในเนตติปกรณ์ มีหลายแห่งที่ไม่สามารถสืบสาวที่มาในพระไตรปิฎกได้ แต่ก็ชัดเจนว่า ที่ว่าเกิดใหม่ในสุคติภพนั้น อย่างสูงก็แค่ระดับพระอนาคามี ไม่ใช่จุดหมายสูงสุด (อรหันต์) มีตัวอย่างข้อความตอนหนึ่ง ที่กล่าวถึงบุรุษคนหนึ่งนำผ้าใหม่คู่หนึ่งเข้าไปถวายพระปัจเจกพุทธเจ้าพระนามว่า อริฏฐะ แล้วท่องเที่ยวบังเกิดเป็นเทวดาและมนุษย์เป็นอเนกชาติ ในชาติสุดท้ายได้มาเกิดเป็นบุตรเศรษฐีผู้มั่งคั่งชาวเมืองพาราณสี ในชาตินี้เองเขาได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วได้เข้าถึงความหลุดพ้นในที่สุด สุคติภพไม่ได้เป็นตัวแทนหรือมีความหมายเท่ากับจุดหมายสูงสุด หากแต่เป็นจุดหมายขั้นย่อย ๆ อันเป็นปรารถนาของชาวโลก ไม่ได้มีความหมายเท่ากับพระนิพพาน ภพภูมิเหลานี้จึงเป็นบันใดขั้นสำคัญในมรรคาแห่งวิสุทธิและการพัฒนา (N. 143; ดู เนตติ. 98/171) โดยนัยนี้ พระสูตรระดับศีลธรรม (วาสนาภาคิยสูตร) จึงเป็นศาสนาแบบมีชีวิตชีวาและมุ่งมั่นศรัทธา ที่ปูแซงมองว่าเป็นศาสนาสำหรับชาวบ้าน

นิพเพธภาคิยสูตร ตรงข้ามกับวาสนาภาคิยสูตรอย่างสิ้นเชิง ในขณะที่วาสนาภาคิยสูตรเน้นในเรื่องบุญเรื่องกุศล นิพเพธภาคิยสูตรจะเน้นในเรื่องผลของอริยมรรค หรือจุดหมายสูงสุดคือพระนิพพาน (N. 48; ดู เนตติ. 99, 172) ในขณะที่วาสนาภาคิยสูตรบรรยายถึงศีลในแง่การสำรวมระวัง นิพเพธภาคิยสูตรจะบรรยายถึงศีลในแง่การเว้นขาด ในขณะที่วาสนาภาคิยสูตรไม่เอ่ยถึงปัญญา อริยมรรค และอริยผล เรื่องเหล่านี้กลับเป็นหัวใจสำคัญของนิพเพธภาคิยสูตร (N. 49) ขณะที่วาสนาภาคิยสูตรจะนำเสนออุดมคติเรื่องการทำบุญเป็นบาทฐานเบื้องต้น แต่นิพเพธภาคิยสูตรจะนำเสนอบาทฐานที่สูงขึ้นไปอีก คือ การออกจากเรือนไปสู่ความเป็นผู้ไม่มีเรือน (N. 159f.)

เนตติปกรณ์ได้ให้ตัวอย่างของพระสูตรในแนวนี้ไว้เป็นจำนวนมาก ชัดเจนว่า นิพเพธะ หรือการทำลายกิเลส เป็นตัวแทนของจริยธรรมเพื่อความหลุดพ้นสำหรับผู้สละโลก พระสูตรเหล่านี้สอนทางสำหรับ “ผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร” และ “ผู้ถือการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร” ที่ละทิ้ง กิจกรรมอย่างโลก ๆ (N. 145) แม้ว่า เนตติปกรณ์และเปฏโกปเทส จะไม่ได้ยืนยันหนักแน่นในประเด็นนี้ แต่ก็ได้นำเสนอผู้สละโลกที่มุ่งทำลายกิเลสในฐานะเป็นพระภิกขุเท่านั้น แม้จะไม่ได้ระบุไว้ว่า ฆราวาสไม่สามารถดำเนินตามมรรคนี้ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่มีตัวอย่างใด ๆ เลยที่อ้างถึงฆราวาสในพระสูตรประเภทนี้ เปฏโกปเทส แสดงพระสูตรประเภทนี้ในฐานะเป็น “มรรค 4 ผล 4 สำหรับภาวะของพระภิกษุ” (P.130) ผู้แต่งคัมภีร์มองว่า ธุระด้านการทำลายกิเลสเป็นธุระของชาววัด ในขณะที่ธุระด้านศีลธรรมเป็นธุระเบื้องต้นของชาวบ้าน มีหลายสูตรที่เนตติปกรณ์ยกมาเป็นตัวอย่างประกอบ แม้จะไม่ได้เอ่ยถึงวินัยที่เป็นสิกขาบทของชาววัดเหมือนที่มีอยู่ในพระวินัยปิฎก ซึ่งประกอบด้วยข้อวัตรปฏิบัติหรือสิกขาบทเล็กน้อยมากมาย แต่พระสูตรแนวนี้เกี่ยวข้องกับวินัย (ศีล) ขั้นสูงที่มุ่งกำจัดความยึดมั่นถือมั่นว่ามีอัตตาและอารมณ์ต่าง ๆ เพื่อความก้าวหน้าในการเจริญกรรมฐาน ตัวอย่างที่นิพเพธภาคิยสูตรอ้างถึง คือ “ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติอยู่เพื่อละกามราคะ” (N. 146; ดู เนตติ. 101/175) และอ้างถึงภิกษุผู้หลุดพ้นแล้ว พระสูตรที่บรรยายถึงวิธีกำจัดราคะ โทสะ และกิเลสอื่น ก็คือพระสูตรที่อยู่ในฝ่ายนิพเพธะนั่นเอง (N. 145) ในนิพเพธคาคิยสูตร สัตว์ทั้งหลายจะถูกกล่าวถึงและได้รับการสั่งสอนในแง่ที่เกี่ยวกับ “การข้ามโอฆสงสาร” และการเข้าถึงความหลุดพ้นจากภพ

พระสูตรประเภทที่ 4 คือ อเสขภาคิยสูตร (พระสูตรที่ว่าด้วยอเสขบุคคลหรือพระอรหันต์) หมายถึง ผู้พัฒนาตนให้ก้าวหน้าจากปุถุชนมาสู่ความเป็นบุคคลผู้หลุดพ้นหรือเป็นพระอรหันต์อย่างสมบูรณ์แบบ พระสูตรในแนวนี้จะเกี่ยวกับพระอริยบุคคลผู้เอาชนะกิเลสได้แล้ว มีสติสมบูรณ์ และสำรวมตน (N. 150; ดู เนตติ. 105/181) เป้าหมายของพระพุทธศาสนาก็มีอยู่ในพระสูตรแนวนี้ เนตติปกรณ์ได้ยกตัวอย่างพระสูตรแนวนี้โดยอ้างถึงข้อความในคัมภีร์อุทานที่บอกว่า บุคคลผู้เป็นพราหมณ์ในความหมายทางพระพุทธศาสนาคือบุคคลผู้ประเสริฐ (N. 150; Ud. 6; ดู เนตติ.104/181) บุคคลเช่นนี้เป็นเข้าถึงภาวะกลาง ๆ อยู่เหนือการเวียนว่ายตายเกิดในรูปภพและอรูปภพ และอยู่เหนือสุขและทุกข์ เนตติปกรณ์ได้ยกตัวอย่างอเสขบุคคล เช่น พระโมฆราช ผู้หมดจดจากอาสวะ มีวิชชา 3 มีฤทธิ์ และทรงไว้เพียงอัตภาพสุดท้าย (N. 152; ดู เนตติ. 104/184)

นอกจากการจัดพระสูตรเป็น 4 ประเภทดังกล่าวมาแล้ว เนตติปกรณ์และเปฏโกปเทส ยังได้เสนอการจัดประเภทพระสูตรเพิ่มขึ้นไปอีก โดยอธิบายว่า การจัดระบบ 4 ประเภท สามารถขยายขึ้นไปเป็น 5 โดยแบ่งนิพเพธภาคิยสูตรเป็น 2 คือ ทัสสนสูตร และ ภาวนาสูตร (P.39;N.168) ทัสสนสูตร เป็นสูตรที่ว่าด้วยโสดาปัตติมรรค ส่วนภาวนาสูตร เป็นสูตรที่ว่าด้วยอริยมรรค 3 อย่างที่เหลือ (คือ สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตตมรรค) นอกจากนั้น คัมภีร์ทั้งสองยังได้เสนอระบบการจัดประเภทพระสูตรอีกแบบ คือ โลกิยสูตร และโลกุตรสูตร (P.23; N.162) อย่างไรก็ตาม การจัดระบบในแนวนี้ ถูกเสนอขึ้นมาไม่ใช่เพื่อแสดงถึงระบบการจัดพระสูตรที่แตกต่างไปอีกระบบหนึ่ง หากแต่เป็นการเอาพระสูตรพื้นฐานทั้ง 4 มาจัดระบบใหม่ คือ สังกิเลสภาคิยสูตร และวาสนาภาคิยสูตร จัดอยู่ในประเภทโลกิยสูตร ส่วนนิพเพธภาคิยสูตร และอเสขภาคิยสูตร จัดอยู่ในประเภทโลกุตรสูตร การจัดประเภทพระสูตรแบบอื่น ๆ ในเนตติปกรณ์ ก็มีลักษณะคล้ายคลึงกันในฐานะเป็นวิธีจัดพระสูตรพื้นฐานแบบสลับกัน เช่น สัตตาธิฏฐานสูตร (พระสูตรที่แสดงแบบยกบุคคลเป็นตัวอย่าง-ผู้แปล) หรือธัมมาธิฏฐานสูตร (พระสูตรที่ยกธรรมขึ้นแสดงล้วน ๆ-ผู้แปล) ญาณสูตร และกุสลสูตร หรืออกุสลสูตร (N.161; ดู เนตติ. 112/194)

เปฏโกปเทส ได้เสนอระบบการจัดประเภทพระสูตรเพิ่มเติมอีก 2 แบบ ประกอบด้วยการจัดแบบ 30 ประเภท และ 28 ประเภทโดยลำดับ แม้ว่าการจัดระบบแบบนี้จะเสนอทัศนะต่อพระสูตรที่แตกต่างกัน เช่น กัมมสูตร และวิปากสูตร หรืออัสสาทสูตร (ว่าด้วยคุณหรือรสอร่อยของกาม) และอาทีนวสูตร (ว่าด้วยโทษของกาม) เปฏโกปเทส ก็ได้อธิบายว่า ประเภทพระสูตรเหล่านี้ทั้งหมด ก็ล้วนแต่แตกขยายออกมาจากพระสูตรพื้นฐาน 4 หรือ 5 ประเภทนั่นเอง (P.42)

หลังจากได้อธิบายถึงการจัดประเภทพระสูตรเป็น 4 หรือ 5 และพระสูตรที่แตกขยายออกมาจากพระสูตรพื้นฐานเหล่านี้แล้ว เนตติปกรณ์และเปฏโกปเทส ก็ได้แสดงให้เห็นความหมายของพระสูตรในแง่อื่น ๆ โดยแสดงแบบปฏิปักขนัยที่สูงขึ้นโดยลำดับ (แสดงแบบคู่แย้ง) ซึ่งแต่ละสูตรก็จะเป็นตัวแทนของลำดับขั้นที่แตกต่างกัน คือ วาสนาภาคิยสูตรมีไว้เพื่อละสังกิเลสภาคิยสูตร ทัสสนภาคิยสูตรมีไว้เพื่อก้าวล่วงวาสนาภาคิยสูตร ภาวนาภาคิยสูตรมีไว้เพื่อสละทัสสนภาคิยสูตร อเสขภาคิยสูตรมีไว้เพื่อสละภาวนาภาคิยสูตร อเสขภาคิยสูตรมีไว้เพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน (N.189; เนตติ.125/225) พระสูตรประเภทต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่นำเสนอกระบวนการก้าวขึ้นจากกิเลสไปสู่การตรัสรู้ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม ภาพที่ทำให้เห็นความก้าวหน้าในมรรคตามลำดับขั้นได้ดีที่สุด เมื่อคัมภีร์ทั้งสองได้แสดงให้เห็นถึงวิธีที่จะนำเอาประเภทของพระสูตรที่แตกต่างหลากหลายไปประยุกต์ใช้กับความหลากหลายของระดับหรือประเภทบุคคล หลังจากได้สร้างความหลากหลายของพระสูตรตามระดับและประเภทของบุคคล คัมภีร์ทั้งสองจึงนำเสนอเส้นทาง (สู่นิพพาน) อันยืดยาวแบบค่อยไปตามลำดับ แน่นอนว่า ระบบความสัมพันธ์พื้นฐาน ก็คือ ระหว่างพระสูตร 5 ประเภท กับระดับของบุคคล 3 ระดับ คือ ปุถุชน เสขบุคคล และอเสขบุคคล สังกิเลสภาคิยสูตร และวาสนาภาคิยสูตร ใช้กับบุคคลระดับปุถุชน ทัสสนสูตร และภาวนาสูตรใช้กับเสขบุคคล และอเสขภาคิยสูตร ใช้กับอเสขบุคคล ระบบความสัมพันธ์แบบนี้ มีความซับซ้อนมากขึ้นในเนตติปกรณ์ เมื่อประเภทของพระสูตรถูกนำไปประยุกต์ใช้กับประเภทของบุคคล (N.189f.; ดู เนตติ.125/226) ในที่นั้น พระสูตรระดับโลกิยะ คือ สังกิเลสภาคิยสูตร และวาสนาภาคิยสูตร แสดงด้วยจริตของบุคคล 19 ประเภท จริตทั้งหมดนั้นมีรากฐานมาจากราคจริต โทสจริต และโมหจริต เช่นเดียวกัน พระสูตรระดับโลกุตระ ก็แสดงด้วยเสขบุคคลและอเสขบุคคล 26 ประเภท (N.189f.; ดู เนตติ.125/226)

อย่างไรก็ตาม การสร้างดุลยภาพระหว่างพระสูตรกับบุคคลของเปฏโกปเทส อยู่เหนือระบบการคำนวณของเนตติปกรณ์ ซึ่งแสดงให้เห็นทางตามลำดับขั้นที่สมบูรณ์แบบ ทางนี้เริ่มต้นด้วยสังกิเลสภาคิยสูตรที่อ้างถึงบุคคลผู้เศร้าหมองด้วยทิฏฐิจริตและตัณหาจริต หรือด้วยการประกอบทุจริต (P.29) ในวาสนาภาคิยสูตร มีคำสอนที่แสดงให้เห็นว่า บุคคลเหล่านี้จะสามารถข่มกิเลสของตนได้อย่างไร บุคคลเหล่านี้สามารถใช้ฌานที่เกิดจากสมถกรรมฐาน มาใช้ข่มกิเลส เช่น ราคะ โทสะ และโมหะได้ (P. 144) เมื่อบุคคลเหล่านี้อาศัยการบำเพ็ญบุญและฌาน ก็จะประสบความก้าวหน้าในธรรม และเข้าสู่มรรคขั้นโลกุตระ บุคคลเหล่านี้แม้จะบรรเทาเบาบางกิเลสของตนได้ แต่ก็มีลักษณะพิเศษเฉพาะตน คือ ตัณหาจริตบุคคล กลายเป็นผู้แล่นไปตามศรัทธา (สัทธานุสารี-ผู้ใช้ศรัทธาเป็นตัวนำ-ผู้แปล) ส่วนทิฏฐิจริตบุคคล กลายเป็นแล่นไปตามธรรม (ธัมมานุสารี-ผู้ใช้ปัญญาเป็นตัวนำ-ผู้แปล) (P.243; N.112; ดู เนตติ.226)

ในระดับนิพเพธภาคิยสูตร ธัมมานุสารี ก็คือ อุคฆฏิตัญญูบุคคล (บุคคลผู้บรรลุธรรมได้แม้เพียงฟังธรรมโดยย่อ) และสัทธานุสารี ก็คือ เนยยบุคคล (ผู้พอแนะนำได้) ส่วนบุคคลประเภทที่สาม ก็คือ วิปจิตัญญูบุคคล (บุคคลผู้เข้าใจได้เมื่อขยายความ) เกิดจากการแบ่งปัญญาของบุคคลสองประเภทแรกให้เป็นผู้มีอินทรีย์อ่อนหรืออินทรีย์แก่กล้า คือ อุคฆฏิตัญญูบุคคล ผู้มีอินทรีย์อ่อน หรือเนยยบุคคล ผู้มีอินทรีย์แก่กล้า ก็จะกลายเป็นบุคคลประเภทที่สาม คือ วิปจิตัญญูบุคคล (P.30)

ตั้งแต่จุดนี้เป็นต้นไป ระดับปัญญา 3 ประเภทเหล่านี้ ได้ครอบคลุมการอธิบายมรรคของเปฏโกปเทสโดยตลอด ในทัสสนภาคิยสูตร บุคคล 3 ประเภทนี้เข้าถึงระดับโสดาบันแตกต่างกัน อุคฆฏิตัญญูบุคคล กลายเป็นพระโสดาบันประเภท “เอกพีชี” (single-seeder-ผู้มีพืชคืออัตภาพเดียว หมายถึง พระโสดาบันผู้เกิดอีกครั้งเดียวก็จะได้บรรลุอรหัตผล-ผู้แปล) เป็นพระโสดาบันประเภทที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด เนยยบุคคล กลายเป็นพระโสดาบันประเภท “โกลังโกละ” (clan to clan- ผู้ไปจากตระกูลสู่ตระกูล หมายถึง พระโสดาบันผู้จะเกิดอีก 2-3 ภพ จึงจะบรรลุอรหัตผล -ผู้แปล) และวิปจิตัญญูบุคคล กลายเป็นพระโสดาบันประเภท “สัตตักขัตตุปรมะ” (seven times at most-ผู้จะไปเกิดอีก 7 ภพ จึงจะได้บรรลุอรหัตผล-ผู้แปล) เป็นพระโสดาบันผู้ใช้เวลายาวนานที่สุดในการทำมรรคให้สมบูรณ์

ในระดับที่สูงขึ้นไป ความแตกต่างในการบรรลุธรรมก็ยังดำเนินต่อไป เอกพีชีบุคคล จะกลายเป็นพระอนาคามีประเภทใดประเภทหนึ่งระหว่าง “อันตราปรินิพพายี” (ผู้ปรินิพพานในระหว่าง คือเกิดในสุทธาวาสภพใดภพหนึ่งแล้ว อายุยังไม่ถึงกึ่ง ก็ปรินิพพานโดยกิเลสปรินิพพาน-ผู้แปล) หรือ “อุปหัจจปรินิพพายี” (ผู้จวนจะถึงปรินิพพาน คือ อายุพ้นกึ่งแล้ว จนจะถึงสิ้นอายุจึงปรินิพพาน-ผู้แปล) วิปจิตัญญูบุคคล ก็จะเป็นพระอนาคามีประเภทหนึ่งในสองประเภทเหมือนกัน (ระหว่าง อสังขารปรินิพพายี คือ ผู้ปรินิพพานโดยไม่ต้องใช้แรกชักจูง หรือปรินิพพานโดยง่าย ไม่ต้องใช้ความเพียรนัก กับ สสังขารปรินิพพายี คือ ผู้ปรินิพพานโดยใช้แรงชักจูง คือ ปรินิพพานโดยต้องใช้ความเพียรมาก-ผู้แปล) ในขณะที่เนยยบุคคล จะกลายเป็นพระอนาคามีประเภท “อุทธังโสโต อกนิฏฐคามี” (ผู้มีกระแสในเบื้องบนไปสู่อกนิฏฐภพ คือ เกิดในสุทธาวาสภพใดภพหนึ่งแล้วก็ตาม จะเกิดเลื่อนต่อไปจนถึงอกนิฏฐภพแล้วจึงปรินิพพาน-ผู้แปล) (P. 88-91/36-37; เปฏ.17/217-218) สุดท้าย ในระดับพระอรหันต์ มีการจำแนกประเภทบุคคลระเอียดขึ้นไปอีก คือ-

1. อุคฆฏิตัญญูบุคคลผู้มีอินทรีย์แก่กล้า กลายเป็นบุคคล 2 ประเภท คือ

    1. อุภโตภาควิมุตฺโต (ผู้หลุดพ้นโดยสองส่วน)
    2. ปญฺญาวิมุตฺโต (ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา)
    3. 2. อุคฆฏิตัญญูบุคคลผู้มีอินทรีย์อ่อน กลายเป็นบุคคล 2 ประเภท คือ

    4. ฐิตกปฺปี (ผู้ดำรงอยู่ตลอดกัป)
    5. ปฏิเวธนภาโว (ผู้มีภาวะคือการแทงตลอด)
    6. 3. วิปจิตัญญูบุคคลผู้มีอินทรีย์แก่กล้า กลายเป็นบุคคล 2 ประเภท คือ

    7. เจตนาภพฺโพ (เป็นผู้ควรโดยการเลือก/จำนงหมาย-Able by choice)
    8. รกฺขนาภพฺโพ (เป็นผู้ควรโดยการรักษา-Able by guarding)
    9. 4. วิปจิตัญญูบุคคลผู้มีอินทรีย์อ่อน กลายเป็นบุคคล 2 ประเภท คือ

    10. สเจ เจเตติ น ปรินิพฺพายี, โน เจ เจเตติ ปรินิพฺพายี
    11. ผู้ไม่ปรินิพพานถ้าจำนงหมาย (เลือก) จะปรินิพพานถ้าไม่จำนงหมาย

    12. สเจ อนุรกฺขติ น ปรินิพฺพายี, โน เจ อนุรกฺขติ ปรินิพฺพายี
    13. ผู้ไม่ปรินิพพานถ้าตามรักษา จะปรินิพพานถ้าไม่ตามรักษา

      5. เนยยบุคคล กลายเป็น

    14. ปริหานธมฺโม (ผู้เสื่อมจากธรรม) หรือ กมฺมนิยโต (ผู้แน่นอนในกรรม)

(P.92/38-39; ดู เปฏ.17/218-9 ภาษาบาลี ฉบับ มจร.)

เมื่อได้แสดงภาพการผสมผสานประเภทของพระสูตร ลำดับขั้น และประเภทของบุคคลที่แตกต่างหลากหลายเข้าด้วยกันแล้ว เปฏโกปเทส จึงสามารถแสดงให้เห็นทั้งความยาวและความหลากหลายของทางตามลำดับขั้นได้ รูปแบบของมรรคในลักษณะนี้ เท่ากับเป็นการยืดทางให้ยาวออกไปจากแนวคิดเดิมเรื่องพระอริยบุคคล 4 ให้เป็นเพียงขั้นบันใดที่สูงขึ้นตามลำดับ

การเข้าใจทางตามลำดับขั้นในฐานะเป็นโครงสร้างพื้นฐานแห่งธรรมของพระพุทธเจ้า ได้ทำให้วิธีการการตีความความในรูปแบบอื่น ๆ มีเหตุมีเหตุขึ้นมาด้วย เนตติปกรณ์ ได้ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของการตีความ 2 ด้าน คือ ด้านอรรถะ หรือความหมาย (meaning) และด้านพยัญชนะ (phrasing) (N.5) ด้วยแนวคิดเรื่องอรรถะและพยัญชนะนี้เอง คัมภีร์ทั้งสองจึงเสนอรูปแบบการตีความเพิ่มเข้ามาอีก 2 วิธี คือ “นัย” (Guide-Lines) และ “หาร” (Modes of Conveying) นัยได้เสนอแนวทาง 3 แนวทางในการใช้กุศลธรรมกำจัดกิเลสหรืออกุศลธรรม แล้วนำคนเข้าหาสู่อรรถะหรือจุดหมายแห่งธรรม นัยเหล่านี้มุ่งที่จะแสดงให้ผู้ตีความเห็นว่า มูลบท 18 ประการ (root terms) ได้ใส่รหัสความหมาย (encode) หรืออรรถแห่งธรรมไว้อย่างไร และนำอรรถะไปสัมพันธ์กับประเภทของบุคคลอย่างไร อย่างไรก็ตาม รูปแบบการตีความแบบนี้ อาจมองได้ด้วยการอธิบายในรูปแบบอื่น ๆ ที่ว่า พระสูตรที่เป็นปฏิปักข์กับกิเลสของบุคคลนั้น อยู่ในมรรคระดับต่ำ ๆ เท่านั้น และประเภทของบุคคลทีอยู่ในกรอบของนัยเหล่านี้ ก็คือบุคคลระดับปุถุชน และอยู่ในพระสูตรระดับโลกิยะ

นัยประเภทแรก คือ นันทิยาวัฏฏนัย (conversion of relishing) เกี่ยวกับบุคคลประเภทตัณหาจริตและทิฏฐิจริต นัยประเภทนี้แสดงให้เห็นว่าอกุสลมูลบท 2 คือ ตัณหา และอวิชชา ถูกขัดขวางหรือถูกกำจัดโดยกุสลมูลบท 2 คือ สมถะ และวิปัสสนาอย่างไร (N.110f.) นัยประเภทที่ 2 คือ สีหวิกกีฬิตนัย (lion’s play) เป็นการนำเอาอกุสลมูลบท 4 และ กุสลมูลบท 4 ไปสัมพันธ์กับจริต 4 อย่าง คือ ราคจริต โทสจริต ทิฏฐจริตมันทะ (ทิฏฐิจริตบุคคลผู้มีปัญญาน้อย) และทิฏฐิจริต- อุทัตตะ (ทิฏฐิจริตบุคคลผู้ปัญญามาก) (N.118) นัยสุดท้าย คือ ติปุกขลนัย (trefoil) เป็นการนำเอาระดับสติปัญญาของบุคคล 3 ระดับมาเสนออีกครั้งหนึ่ง แล้วชี้ให้เห็นว่า พระสูตรทั้งหลายได้ใช้กุสลมูลบทเพื่อกำจัดอกุสลมูลบทโดยสัมพันธ์กับบุคคล 3 ประเภทนี้อย่างไร ทั้งกุสลมูลบท และ อกุสลมูลบทในนัยทั้ง 3 อย่างนี้ คือ ตัวแทนของสารัตถะหรือแก่นแห่งธรรม และนัยเหล่านี้ก็ได้ให้คำอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า แก่นแห่งธรรมได้รับการแสดงไว้ในพระสูตรต่าง ๆ ด้วยรูปแบบและวิธีการอันหลากหลายเพื่อให้เหมาะสมกับประเภทของบุคคลอย่างไร

รูปแบบการตีความที่สำคัญอีกวิธีหนึ่ง คือ “หาร” เป็นวิธีการตีความที่ยึดเอาพยัญชนะของพระสูตรแล้วแสดงให้เห็นว่ามีเอกภาพภายใต้ความหลากหลายอย่างไร “หาร” เป็นวิธีวิเคราะห์พระสูตรที่แตกต่างกันถึง 16 วิธี เพื่อที่จะยอมรับว่า “อรรถะของพระสูตรเป็นหนึ่งเดียว เพียงพยัญชนะเท่านั้นที่แตกต่างกัน” (เหมือนกันโดยอรรถ ต่างกันโดยพยัญชนะ-ผู้แปล) วัตถุประสงค์ของหารเหล่านี้ ก็คือ ต้องการสอนให้ผู้ตีความให้รู้จักวิธีวิเคราะห์พระสูตรในรูปแบบของการลดทอนลงไปหา “องค์ประกอบหลัก” (prime factors) คัมภีร์ทั้งสองได้วางเค้าโครงขององค์ประกอบหลักหรือแนวคิด (ideas) ที่ประกอบเข้าเป็นแก่นหรือเป็นหัวใจของธรรม ในบรรดาแนวคิดต่าง ๆ ที่รวมอยู่ในเค้าโครงนี้ ก็คือ อริยสัจ 4 ปฏิจจสมุปบาท ขันธ์ ธาตุ อายตนะ และอินทรีย์ นั่นเอง (N.21f., 63f.; P.98f.) เกี่ยวกับเค้าโครงนี้ เปฏโกปเทส อธิบายว่า ไม่มีพระสูตรใดเลยที่อยู่นอกเหนือกรอบของแนวคิดเหล่านี้ (P.98)

ดังนั้น หารจึงเป็นวิธีการตีความตรรกะแห่งพระสูตร เพื่อจะได้เข้าใจสมมติฐานเบื้องต้นและเจตนารมณ์ของธรรม หารเหล่านี้ยังเผยให้เห็นว่า พระพุทธองค์ทรงประยุกต์คำสอนอันหลากหลายให้เข้ากับบุคคลประเภทต่าง ๆ อย่างไร อย่างไรก็ตาม หน้าที่เบื้องต้นของหาร ก็คือการชี้ให้เห็นแนวคิดอันแก่นสำคัญที่มีอยู่ในพระสูตรประเภทต่าง ๆ หลังจากได้ชี้ให้เห็นประเภทของพระสูตรและวิธีนำไปประยุกต์ใช้กับประเภทของบุคคลแล้ว ผู้ตีความก็สามารถนำเอาหารต่าง ๆ เหล่านี้เข้าค้นหาแก่นของพระสูตร โดยการเชื่อมระบบพยัญชนะของพระสูตรเข้ากับมโนทัศน์อันเป็นแกนกลางของธรรม

สรุป

ประเด็นหลัก ๆ ที่เราวิเคราะห์มาทั้งหมด สามารถสรุปได้ดังนี้ คัมภีร์ทั้งสองเป็นคู่มือการตีความที่นำเสนอวิธีการทำความเข้าใจหลักธรรมที่ถูกต้อง แก่นสำคัญของวิธีการนี้ คือแนวคิดเรื่องทางสู่พระนิพพานตามลำดับขั้นในฐานะเป็นเครื่องมือตีความหรือยุทธศาสตร์สำหรับอธิบายตรรกะและโครงสร้างของธรรม ทางตามลำดับขั้น ได้วางกรอบที่อนุญาตให้ธรรมมีทั้งความหลากหลายและมีเอกภาพในเวลาเดียวกัน คัมภีร์ทั้งสอง ได้แสดงถึงความหลากหลายของธรรมโดยชี้ไปที่ความหลากหลายของประเภทพระสูตรที่สอดคล้องกับความหลากหลายของระดับบุคคล ด้วยความหลากหลายที่เกือบจะหาความแน่นอนไม่ได้นี้ การผสมผสานประเภทของพระสูตรเข้ากับประเภทของบุคคล จึงกำเนิดมาเป็นทางสู่พระนิพพานตามลำดับขั้นอันยาวไกล แนวคิดเรื่องทางชนิดนี้ได้เชื่อมโยงเอาบุคคล ลำดับขั้น และเป้าหมายต่าง ๆ มาหลอมรวมกันได้ทั้งหมด แม้ว่าคัมภีร์ทั้งสองจะนิยามพระสูตรบางประเภทให้เป็นโลกิยสูตร บางประเภทให้เป็น โลกุตรสูตร และแม้จะระบุว่าบางสูตรใช้กับบุคคลระดับปุถุชน บางสูตรใช้กับอเสขบุคคล แต่ทั้งสองคัมภีร์ก็ไม่ได้แยก “กรรมมรรค” (kammic path) ออกจาก “นิพพานมรรค” (nibbanic path) แม้ทาง (มรรค) จะมีหลายระดับและมีการนำไปประยุกต์ใช้หลากหลาย แต่ธรรมเป็นหนึ่งเดียวและทางก็เป็นหนึ่งเดียวเช่นกัน นี้คือวิธีการที่เนตติปกรณ์แสดงไว้ว่าความลับสู่การทำความเข้าใจตรรกะและความหมายแห่งคำสอนของพระพุทธเจ้า

คัมภีร์ทั้งสองได้แสดงถึงเอกภาพในความหลากหลายด้วยวิธีการต่าง ๆ กล่าวคือ แม้พระสูตรจะมีหลากประเภท แต่ก็สามารถลดทอนลงให้เหลือ 2 ได้ คือ โลกิยสูตร และโลกุตรสูตร หรือสังกิเลสภาคิยสูตร และนิพเพธภาคิยสูตร พระสูตรทั้งหมดเป็นตัวแทนของการอธิบายสัจธรรมแบบคู่ตรงกันข้าม ในขณะที่ความแตกต่างของพระสูตรสะท้อนถึงความต้องการและบริบทแวดล้อมของบุคคลที่แตกต่างกัน เช่นเดียวกัน ระดับขั้นของมรรคที่มีหลากหลายจนแทบนับไม่ได้ ก็สามารถทอดลงมาให้เหลือ 3 ระดับได้ คือ ระดับปุถุชน ระดับเสขบุคคล และระดับอเสขบุคคล รูปแบบการตีความหลัก 2 อย่าง คือ นัย และหาร ถูกนำมาใช้เพื่อชี้ให้เห็นว่า ผู้ตีความสามารถค้นหาเอกภาพแห่งสัจธรรมในท่ามกลางความหลากหลายของธรรมได้อย่างไร นั่นก็คือ ถ้าบุคคลเข้าพระสูตรหนึ่งได้ดีแล้ว เขาก็สามารถเข้าใจสัจธรรมโดยรวมได้ทั้งหมด หลักการอันนี้สามารถประยุกต์ใช้ได้ทั้งกับบุคคลผู้ตีความหลักธรรม และกับบุคคลผู้กำลังพยายามพัฒนาตนในขั้นแห่งมรรค

เนตติปกรณ์และเปฏโกปเทส ถือว่าการแบ่งธรรมออกเป็นระดับต่าง ๆ ก็ดี การจัดธรรมลงในครรลองแห่งทางตามลำดับขั้นก็ดี เป็นระบบที่พระพุทธเจ้าวางไว้เอง เปฏโกปเทส บอกว่า พระสูตรถูกจำแนกตามอรรถะและพยัญชนะ และถูกแบ่งตามการนำไปประยุกต์ใช้ของพระพุทธองค์ จึงเป็นภารกิจของนักตีความที่จะต้องเฟ้นหาเอกภาพดั้งเดิมของพระสูตรขึ้นมาใหม่ (P.80) อย่างไรก็ตาม ถ้าบริบทเป็นบ่อเกิดของตัวบท (คัมภีร์) ดังนั้น ตัวบทก็ต้องเป็นตัวแทนของ “ข้อเท็จทางสังคม” ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ก็ดูเหมือนจะเป็นไปได้สูงที่ว่า การแบ่งธรรมอย่างละเอียดพิศดาร และการจัดโครงสร้างธรรมให้สอดรับกับทางตามลำดับขั้น ได้พัฒนาขึ้นมาจากบริบทที่คัมภีร์ทั้งสองถูกขึ้นแต่งขึ้น นั่นคือ จารีตของเถรวาทยุคหลังในอินเดีย แน่นอนว่า แม้พระพุทธเจ้าเองก็ทรงปรับคำสอนของพระองค์ให้เหมาะสมกับความต้องการของประชาชนที่แตกต่างหลากหลาย ตัวอย่างเช่น พระสูตรในพระบาลี ก็บรรจุไว้ด้วยคำสอนที่หลากหลายตามระดับความแตกต่างของบุคคล อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีบางส่วนที่เหลือไว้ให้สาวกรุ่นหลัง เช่น ผู้แต่งคัมภีร์ เนตติปกรณ์และเปฏโกปเทส ได้มาจัดระบบและจัดประเภทคำสอนที่หลากหลายให้สอดคล้องกับตรรกะแห่งการพัฒนา ในการปะทะกันของบริบททางศาสนาตามที่ดูมองต์และปูแซงได้บรรยายไว้ คัมภีร์เหล่านี้ได้ทำให้ธรรมชาติของมรรค บทบาทของผู้สละโลกและผู้อยู่ในโลกมีความกระจ่างชัดเจนขึ้น โดยถูกระบุถึงในฐานะเป็นเสขบุคคล อเสขบุคล และปุถุชน คัมภีร์ทั้งสองยอมรับรูปแบบการปฏิบัติทางศาสนาและการพัฒนาทางจิตวิญญาณเหล่านี้ทั้งหมด แล้วร้อยประสานเชื่อมโยงรูปแบบเหล่านั้นเข้ากับทางตามลำดับขั้น ทางตามลำดับขั้นได้ให้ศาสนาประเภทมีขั้นลดหลั่นอันเป็นที่ต้องการในบริบทของคนที่อยู่ในโลก ในขณะเดียวกันก็ได้ให้จริยธรรมและจักรวาลวิทยาแนวปัจเจกที่อเสขบุคคลต้องการ ดังนั้น แม้ว่าคัมภีร์ทั้งสองจะพยายามที่จะสร้างบริบทการทำความเข้าใจทางตามลำดับขั้นขึ้นมาใหม่ โดยถือว่าเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ แต่แนวคิดเรื่องธรรมและการตีความที่คัมภีร์ทั้งสองเสนอไว้ ก็ดูเหมือนจะเผยให้เห็นบริบทยุคหลังที่นิกายเถรวาทกำลังพยายามปลุกปล้ำเพื่อหาวิธีตีความหลักธรรมชนิดที่ครอบคลุมโดยไม่ทิ้งเจตนารมณ์ที่แท้จริงของธรรม

สุดท้าย การค้นหาวิธีตีความหลักธรรมแบบครอบคลุมที่ปรากฏในงานของเถรวาทยุคต้นนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเป็นพยานหลักฐานที่ชี้ให้เห็นทั้งในแง่ความเก่าแก่และในแง่การสร้างความชอบธรรมให้แก่บทบาทของผู้ครองเรือนในจารีตเถรวาท ดูเหมือนว่าเรื่อง “การทำบุญ” (merit-making) เป็นตัวแทนของพัฒนาการยุคหลังในหมู่ชาวพุทธเถรวาทในศรีลังกา หรือพม่า แต่คัมภีร์ทั้งสองก็ได้ชี้ให้เห็นว่า จารีตแบบนี้มีแกนกลางอยู่บนฐานของการยอมรับทางตามลำดับขั้น และเข้าใจเรื่อง “การทำบุญ” ว่าเป็นขั้นแห่งมรรคในระบบองค์รวม ซึ่งตรงข้ามกับทัศนะของ เวเบอร์ เถรวาทยุคต้น ตามที่ปรากฏในเนตติปกรณ์และ เปฏโกปเทส มีอะไรบางอย่างสำหรับเสนอให้แก่ฆราวาสผู้อยู่ในโลก

**********************

(ที่มา: The Gradual Path as a Hermeneutical Approach ot the Dhamma,” in Buddhist Hermeneutics)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕