หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » โดย พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,ผศ.ดร. » ราหูอมจันทร์ และอมอาทิตย์: ศึกษา วิเคราะห์ และตีความ
 
เข้าชม : ๕๗๗๙๑ ครั้ง

''ราหูอมจันทร์ และอมอาทิตย์: ศึกษา วิเคราะห์ และตีความ''
 
พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส (2548)

บทที่  1

บทนำ

1.1 ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

                เมื่อกล่าวถึงคำว่า “ราหู”  ราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของคำว่า “ราหู” เอาไว้ว่า  “หมายถึง ชื่ออสูรตนหนึ่งมีตัวขาดครึ่งท่อน เชื่อกันว่าเมื่อเวลามีสุริยคราสหรือจันทรคราสเป็นเพราะหูอมไว้,  ในตำราโหรว่าเป็นเทวดาพระเคราะห์ มีอาภรณ์และพาหนะสีคล้ำ”[1]  ในขณะที่ พันเอกปิ่น มุทุกันต์ ให้ความหมายว่า “ราหู หมายถึง ชื่อ อสูรตนหนึ่งในวิชาโหราศาสตร์”[2]

                สมบัติ  พลายน้อย ได้ให้ความหมายที่ค่อนข้างจะครอบคลุมเอาไว้ว่า “ราหู เป็นเทพองค์หนึ่งที่รับความเชื่อมาจากอินเดีย  มีกำเนิดปรากฏในตำนานต่าง ๆ อาทิ ตำราโหราศาสตร์ของพราหมณ์กล่าวถึงพระราหูสืบเนื่องจากเทวดานพเคราะห์  ขณะที่มหากาพย์ “เฉลิมไตรภพ” ของศาสนาพราหมณ์อีกเช่นเคยบอกว่า พระราหูเป็นบุตรท้าววิประจิตติกับนางสิงหิกา[3]  ตามคัมภีร์พระไตรปิฏกและอรรถกถาของพระพุทธศาสนานั้น มองว่า “ราหู” คือ  พญาอสูรตนหนึ่ง[4] 

                เมื่อกล่าวโดยภาพรวมแล้วจะเห็นว่า ในตำนานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับราหูนั้นมักจะมีจุดร่วมที่ค่อนข้างจะคล้ายคลึงกันในแง่ของภาพลักษณ์ของราหูที่น่าเกลียดน่ากลัว และมีอุปนิสัยโหดร้าย

ท่ามกลางการเกิดขึ้นของราหู หากไม่ได้ปฏิสัมพันธ์กับพระจันทร์และพระอาทิตย์ดูประหนึ่งว่าจะไม่ได้รับการสนใจของประชาชนทั่วไปมากนัก  แต่เนื่องจากประชาชนบางกลุ่มพากันเคารพกราบไหว้และให้ความสำคัญแก่พระจันทร์และพระอาทิตย์เป็นอย่างมาก  จึงก่อให้เกิดกระบวนการของการนำความเชื่อของตนมาอธิบายปรากฏการณ์ราหูอมจันทร์ หรืออมอาทิตย์   โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่าทีและมุมมองเกี่ยวกับราหูอมจันทร์และอมอาทิตย์นั้นได้กลายเป็นประเด็นที่ผู้คนพากันถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์ไปในมิติต่าง ๆ นานา  ตามความเชื่อที่ตนได้รับในบริบท   ต่าง ๆ ของสังคม โดยเริ่มจากสังคมสมัย ก่อนพุทธกาล สมัยพุทธกาลและสมัยต่อมา  ว่าแท้ที่จริงแล้วเกิดจากสาเหตุใด  ในขณะที่นักดาราศาสตร์ยังไม่ได้อธิบายที่มาของปรากฏการณ์ดังกล่าวภายใต้กรอบของวิทยาศาสตร์เพื่อชี้ให้เห็นถึงคำตอบที่แท้จริงที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังนั้น   ได้มีนักคิด และประชาชนทั่วไปได้พากันค้นคว้าหาคำตอบกันอยู่ตลอดเวลา  และเพื่อที่จะสนองความกระหายใคร่รู้ของศาสนิกในแต่ละศาสนา นักคิดที่มีอิทธิพลทางความคิดของแต่ละศาสนาจึงได้ช่วยกันไขปริศนาปรากฏการณ์กล่าว  ซึ่งจุดประสงค์หลักของการไขกุญแจเพื่อนำไปสู่ค้นหาคำตอบนั้น ก็เพื่อจะสร้างความมั่นใจให้กับศาสนิกของตนเอง และในขณะเดียวกัน  ก็เป็นการเสริมสร้างศรัทธาของ     ประชาชนทั่วไปที่ยังไม่ศรัทธาให้หันมาศรัทธา  ที่ศรัทธาอยู่แล้วก็มีความศรัทธามากยิ่งขึ้น  และนอกจากนักคิดในแต่ละศาสนาจะพยายามตีความตามนัยของศาสนาของตนเองแล้ว   กลุ่มชนในแต่ละท้องที่ทั่วทุกมุมของโลกที่เฝ้าดูปรากฏการณ์ดังกล่าวก็พยายามที่จะตีความและอธิบายภายใต้กรอบของความเชื่อ วัฒนธรรม  และประเพณีของตนเช่นเดียวกัน

                และด้วยสาเหตุนี้นี่เอง จึงทำให้เกิดมีความเชื่อเกี่ยวกับราหูอมจันทร์และอมอาทิตย์อยู่ในหลายมิติด้วยกัน  กล่าวคือ

                1) ท่าทีและมุมมองในมิติของโหราศาสตร์

                2) ท่าทีและมุมมองในมิติของไสยศาสตร์ของพราหมณ์

                3) ท่าทีและมุมมองในมิติของดาราศาสตร์

                4) ท่าทีและมุมมองในมิติของวัฒนธรรมและประเพณีพื้นบ้านของสังคมไทย

                5) ท่าทีและมุมมองในมิติของชนชาติอื่น ๆ

 

                ฉะนั้น  จึงเกิดคำถามตามมาในเบื้องต้นนี้ว่า  อะไรคือแรงจูงใจในความเชื่อในมิติต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวแล้ว  มุมมองแต่ละแนวทางนั้นได้มองอยู่บนพื้นฐานหรือดำรงอยู่ภายใต้กรอบของอะไร  และที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือว่า ท่าทีและมุมมองในแต่ละมิตินั้น เขาดำเนินการอธิบายปรากฏการณ์ราหูอมจันทร์และอมอาทิตย์อย่างไร  อีกทั้งการอธิบายในลักษณะต่าง ๆ นั้นสามารถตอบสนองต่อความเชื่อของประชาชนในแต่ละกลุ่มได้มากน้อยเพียงใด

 

                สุดท้ายแล้ว สิ่งที่จะต้องค้นหาคำตอบก็คือว่าพระพุทธศาสนาซึ่งถือว่าได้รับการคาดหวังจากประชาชนทั่วไปว่าสามารถที่จะไขกุญแจแห่งสงสัยนั้น ได้มองปรากฏการณ์ดังกล่าวอย่างไร และมีแง่มุมของการตีความที่สอดคล้องกับความเชื่อดั่งเดิมตามที่มีปรากฏในศาสนาพราหมณ์หรือไม่ หรือแตกต่างกันอย่างไร   เหล่านี้คือประเด็นที่เราจะต้องค้นคว้าหาคำตอบจากการการศึกษา เกี่ยวกับปรากฏการณ์ของราหูอมจันท์และอมอาทิตย์กันต่อไป. 

บทที่  2

ท่าที และมุมมอง “ราหูอมจันทร์ และอมอาทิตย์” ในมิติต่าง ๆ

 

ดังที่ได้นำเสนอในเบื้องต้นแล้วว่า ปรากฏการณ์ราหูอมจันทร์และอมอาทิตย์นั้นได้กลายเป็นประเด็นที่หมู่ชนเป็นอันมากตั้งข้อสงสัยว่าเกิดจากสาเหตุใด และในขณะเดียวกันท่ามกลางความสงสัยนั้นก็ทำให้เกิดมีการมองปรากฏการณ์ดังกล่าวไปหลายแง่มุม  ฉะนั้น เมื่อได้ศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับความเชื่อ “ราหูอมจันทร์ และอมอาทิตย์” ในมิติต่าง ๆ ทำให้เราได้เห็นภาพของความเชื่อในเรื่องนี้ออกเป็น  5  มิติด้วยกัน กล่าวคือ

2.1      ท่าที และมุมมองในมิติโหราศาสตร์

การตีความในเชิงของโหราศาสตร์นั้น   พยายามที่จะอธิบายปรากฏการดังกล่าวว่าสมัยหนึ่งพระอาทิตย์ไปเกิดเป็นพญาครุฑ ส่วนพระเสาร์ไปเกิดเป็นพญานาค เมื่อพญาครุฑพยายามจับพญานาคกินเป็นอาหาร  พญานาคจึงหนีไปขอความช่วยเหลือจากพระราหูสหายรัก พระราหูทราบเรื่องก็ช่วยพญานาคขับไล่พญาครุฑ ฝ่ายพญาครุฑสู้ไม่ไหว ก็หนีไปโดยมีพระราหูตามไปไม่ลดละ ระหว่างทางพระราหูเกิดกระกายน้ำ จึงดื่มน้ำอมฤตของพระอินทร์แก้กระหาย พญาครุฑนำความไปฟ้องพระอินทร์ พระอินทร์ทรงกริ้วเป็นอย่างมาก จึงได้ขว้างจักรเพชรเข้าตัดร่างของพระราหูขาดเป็น 2 ท่อน พระราหูไม่ตายเพราะได้ดื่มน้ำอมฤตแล้ว และเก็บความเคืองแค้นพญาครุฑ (พระอาทิตย์) เรื่อยมา

จากบทสรุปข้างต้นนั้น  ได้ชี้ให้เห็นว่าถึงแม้ว่าพระราหูจะอาฆาตแค้นพระอาทิตย์เมื่อครั้งที่เกิดเป็นพญาครุฑได้ฟ้องพระอินทร์ว่าราหูได้ขโมยดื่มน้ำอมฤต และผลจาการดื่มนั้นได้กลายเป็นสาเหตุที่ทำให้ตนเองถูกจักรของพระอินทร์ขาดสองท่อนก็ตาม[5] แต่เมื่อวิเคราะห์ในเบื้องต้นจะเห็นว่าเป็นการมองเพื่อให้เห็นถึงความไม่ลงรอยกันของราหูกับพระอาทิตย์  เพื่อเชื่อมโยงไปสู่ความเชื่อเกี่ยวกับดวงดาวเป็นสำคัญ เพราะทางโหราศาสตร์มองว่าราหูนั้นเป็นดาวชนิดหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อความเป็นไปของมนุษย์  ถ้ามองในมิติของโหราศาสตร์นั้น  ถือได้ว่าพระราหูนั้นไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวแต่ประการใด  ในทางกลับกันแล้ว  ราหูยังกลายเป็นที่เคารพสักการะบูชาของประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากการที่ทุก ๆ วันพุธนั้น จะมีคนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศที่กระจายอยู่ทั่วประเทศไทยได้พากันจุดธูปดำ 8 ดอก พร้อมถวายเครื่องเครื่องสังเวยซึ่งเป็นของดำ  8  ได้แก่ ไก่ดำ เหล้าดำ ข้าวเหนียวดำ เฉาก๊วย ขนมเปียกปูน ถั่วดำ และไข่เหยี่ยวม้า ถวายพระราหู[6] โดยกล่าวคำอธิษฐานว่า “ข้าแต่พระราหู เทพเจ้าแห่งโชคลาภ ข้าพเจ้าขอนำอาหารและเครื่องดื่มมาถวาย ขออัญเชิญดื่มกินได้ตามอัธยาศัย ขอจงช่วยคุ้มครองข้าพเจ้า และขอให้พ้นจากอันตรายให้ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ และขอให้มีความสุขความสำเร็จทั้งปวง มีเงินทองร่ำรวย มีโชคลาภตลอดไปด้วยเทอญ”[7] การไหว้พระราหูในลักษณะนี้นั้นถือว่าเป็นการแก้เคราะห์กรรมต่าง ๆ หรือเรียกว่าเป็นการสะเดาะเคราะห์ที่สามารถเกิดขึ้นได้

ในขณะเดียวกัน ตำนานนพเคราะห์ได้กล่าวถึงการจองเวรระหว่างราหู กับพระจันทร์และพระอาทิตย์ว่า พระเสาร์กับพระอาทิตย์เป็นศัตรูกัน พระอาทิตย์ พระพฤหัสบดี และพระอังคารเป็นศัตรูกับพระราหู ส่วนพระราหูกับพระเสาร์เป็นมิตรกัน เพราะได้ช่วยเหลือกันมาตั้งแต่ต้น ส่วนพระอังคารซึ่งเป็นศัตรูกับพระราหูนั้น มีสาเหตุมาจากชาติหนึ่งพระอังคารเกิดเป็นไม้เกตก์ ส่วนพระราหูเกิดเป็นไฟ ไฟได้ไหม้ไม้เกตก์จึงเกิดอาฆาตกันมาตำนานทางโหราศาสตร์ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ราหูหมายถึง โลกที่มนุษย์เราอาศัยอยู่ทุกวันนี้  ครั้นเมื่อเกิดราหูอมจันทร์ ก็คือเงาของโลกไปบดบังทับดวงอาทิตย์นั่นเอง  ราหูทางโหราศาสตร์เป็นดาวที่มีคุณในทางให้กำลัง เพิ่มอานุภาพภายใน ผลักดันให้เกิดความพยายามขยันขันแข็งลุ่มหลง ในขณะเดียวกันก็เป็นบาป พระเคราะห์ทำให้ลุ่มหลงมัวเมาได้มาก เช่น ผู้ใดมีราหูกุมลัคนาจะเป็นคนขยันมากจนหลง ถ้าทำงานก็เรียกว่าบ้างาน ถ้าเล่นม้าก็บ้าม้า ราหูกุมลัคจึงอาจจะหมายถึงความเอาจริงเอาจัง

แนวความเชื่อทั้งสองกระแสในมิติของโหราศาสตร์นั้น  โดยบทสรุปก็พยายามที่จะอธิบายปรากฏการณ์เหล่านี้เข้าไปสู่เรื่องของความเชื่อเกี่ยวกับโชคชาตาราศีในแง่ของการทำนายเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับโลกและมนุษย์มากกว่าประเด็นอื่น ๆ

2.2      ท่าที และมุมมองในมิติไสยศาสตร์ของพราหมณ์

ความเชื่อพระราหูอมจันทร์ และอาทิตย์ตามมิติของไสยศาสตร์ที่ปรากฏในศาสนาพราหมณ์นั้น  มีลักษณะของการตีความที่แบ่งย่อยออกเป็น  3  แนวทางด้วยกัน กล่าวคือ

แนวทางที่ 1[8]  เทพและมารทั้งหลายได้มีความรู้สึกกลัวความแก่ ความเจ็บและความตาย อีกทั้งประจวบกับบรรดามารดาและเทพทั้งหลายได้เห็นพวกพ้องมิตรสายหายทั้งหลายได้หมดบุญวาสนาจากอัตภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จึงไปเกิดในที่อันไม่พึงปรารถนา ต่างฝ่ายต่างก็ให้ปริวิตกกังวล กลัวเวลาแห่งการที่ต้องไปเกิด ในที่อันไม่ปรารถนาของตนเองจะมาถึง ต่างพยายามแสวง   หาวิธีเอาตัวรอดจากความตายและภพพูมิไม่พึงปรารถนาของตน  ทั้งเทพและพรหมจึงพากันมาประชุมกันปรึกษาหาวิธีแก้ปมรณกรรมอันจะเกิดขึ้นแก่ตน 

บรรดาเทพฤๅษีผู้เป็นอาจารย์ของเทพและมารทั้งหลายได้เห็นความปริวิตกของลูกศิษย์ จึงนั่งพิเคราะห์ดูด้วยญาณ ก็ได้รู้วิธีที่จะเอาชนะมรณกรรมได้ ด้วยการหาของศักดิ์สิทธิ์ทั้งพันชนิดและน้ำบริสุทธิ์ทั้งหมื่นโลกธาตุมารวมกัน และคละประกอบด้วยเทพมนต์อันศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่หมื่นคาบ  และใช้เทพโอสถที่มีชีวิตทั้ง 7 ชนิดบดเข้าด้วยกันด้วยภูเขาสิเนรุมาศ และใช้น้ำตาของพญานาคทั้ง 8 เป็นตัวผสาน

 ครั้นเมื่อได้ของวิเศษมาครบตามจำนวนที่ต้องการแล้ว เทพฤๅษีผู้เป็นอาจารย์ก็มีบัญชาให้เทวดา พญาครุฑ พญานาค ยักษ์ และมารช่วยกันปรุงยา  ภายหลังที่ใช้เวลาในการปรุงทั้งสิ้น เจ็ดปี เจ็ดเดือน และเจ็ดวัน  ยาที่ปรุงก็กลายเป็นยาทิพย์ แต่เนื่องจากเหล่าเทวดา พญาครุฑ พญานาค ยักษ์ และมารทุ่มเททั้งสติกำลัง  และสติปัญญา เมื่อปรุงเสร็จแล้วจึงเกิดความเหนื่อยล้า และหลับไป เมื่อตื่นขึ้นมาก็พบว่า เหล่าเทวดาได้พากันขโมยยาวิเศษไปแล้ว ก็พากันโกรธแค้นเป็นอย่างมาก แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เนื่องจากครูฤๅษีชี้ให้เห็นถึงอานิสงส์ของยาว่า เมื่อได้กินยาทิพย์แล้วจะกลายเป็นผู้มีเดช มีอานุภาพมาก และฆ่าก็ไม่ตาย

ภายหลังที่ได้ดื่มน้ำ ทำให้อสุรินทราหู และเทวดาทั้งปวงสีอาการมึนเมาไปไปชั่วขณะ มนต์ที่ราหูจำแลงแปลงการก็คลายออก เทพอาทิตย์กับจันทร์เมื่อเห็นเหตุการณ์ก็โวยวาย และเรียกพวกเทวดาให้ช่วยกันจับจนเกิดความโกลาหลขึ้น เมื่อจับเป็นไม่ได้ก็พากันช่วยกันคราชีวิตของราหู เหล่าเทวดาจึงพากันรุมตีฟันอสุสุรินทรราหูแต่ก็หาได้ทำอันตรายแก่ราหูได้  นอกจากนั้น ราหูจังได้แสดงเดช รุกรบ ต่อยตีหมู่เวทดาทั้งตนพ่ายแพ้หนีกระเจิดกระเจิง เมื่อเทพอาทิตย์และจันทร์มองว่าสู้ไม่ได้จึงได้เหมาะไปเฝ้าพระนารายณ์ให้ทราบความจริง เมื่อพระองค์ทราบจึงตรัสว่า “ไอ้อสูรตัวขลาด บังอาจกำเริบขึ้นมาราวีบนแดนสวรรค์เชียวหรือ” ด้วยความโกรธจึงพระองค์จึงขว้างจักร พระราหูคอขาดแต่ไม่ตาย เป็นเพราะได้ดื่มน้ำอมฤตเข้าไปแล้ว  แล้วร่างกายของพระราหูจึงแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนหัวล่องลอยไปอยู่ในท้องฟ้า

และด้วยความกลัว อสุรินทราหู ก็เหาะหนีออกยังที่อยู่ของตน และพกความโกรธแค้นเทพอาทิตย์และจันทร์ ที่เป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวายบนสวรรค์ และเป็นเหตุให้กายของตนขาดเป็นส่องท่อน  ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ราหูจึงคอยเฝ้าโอกาสที่จะราวีแก่อาทิตย์และจันทรอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้เกิดจันทรุปราคา และสุริยุปราคานับมาจนถึงปัจจุบันนี้

แนวทางที่ 2  บางตำราว่า  เป็นบุตรพระพฤหัสบดีกับนางอสูร แต่อีกตำราหนึ่งว่า พระอิศวรได้เอาหัวผีโขมด 12 หัว มาป่นลงแล้วพรมด้วยน้ำอมฤตจึงเกิดเป็นราหูขึ้น ดังกล่าวในเฉลิมไตรภพคำกาพย์ว่า

                                “แล้วสุวกำเลือกสวรรค์                      หัวโขมดอัน

                ที่ร้ายรองสิบสองหัว                                                          

                                แกล้วกล้าสั่งมาไม่กลัว                        ครบสิบสองหัว

                ถวายสี่องค์ทรงธรรม์                                                         

                                อ่านเวทวิเศษสรรพสรรพ์                  ระคนปนกัน

                ห่อนั้นผ้าดำดำสี                 

                                ประน้ำอมฤตพิธี                                  เป็นเทวสุรี

                มีกายสูงต่ำดำนิล                                                 

                                ประทานนามอสุรินทร์                       ราหูเทวินทร์

                ที่แปดพระเคราะห์เจาะจงฯ”

 

ตอนท้ายของเฉลิมไตรภพคำกาพย์  ยังขยายความว่า เมื่อพระอิศวรได้สร้างพระราหูจากหัวผีโขมดแล้ว  พระราหูกลับคิดว่า ตัวเองร่างกายก็ใหญ่โตแต่ฤทธิ์ออกจะน้อยไป อยากจะมีความเก่งกล้าสามารถเหมือนพระอิศวร พระราหูจึงนึกดูว่า ทำไมพระอิศวรจึงสาปให้ใครต่อไปเป็นอะไรหรือชุบให้มีชีวิตขึ้นมาก็ไดนึกไปนึกมาจึงเกิดความสงสัยว่า คงเป็นเพราะอ่างแก้วท้ายปรางค์ปราสาทของพระอิศวร ตนน่าจะลองไปอาบน้ำและกินดู พระราหูคิดได้ดังนั้นก็บันดาลให้ท้องฟ้ามืดมัวก่อนแล้วเหาะไปที่อ่างแก้วเพื่ออาบน้ำ  ฝ่ายพระอิศรรอยู่ในปราสาทเห็นอหารวิปรติและเทวดานางฟ้าก็พากันร้อง  เมื่อเข้าฌานดูจึงทราบว่าพระราหูมาลักกันน้ำทิพย์ พระอิศวรจึงนำจักขว้างไปถูกกายพระราหูขาดเป็นสองท่อน

แนวทางที่ 3  พระราหูเป็นบุตรท้าววิประจิตติกับสิงหิกา  เกิดมารูปร่างไม่เหมือนเทพทั่วไป  คือท่อนบนตั้งแต่เอวขึ้นมา มีลักษณะเป็นยักษ์  มี 4 มือ ส่วนท่อนล่างตั้งแต่เอวลงไปมีหางเหมือนพญานาคได้มีปัญหากับทวยเทพบนสวรรค์  เกี่ยวกับน้ำอมฤต เพราะเคยแปลงตัวเป็นเทวดาปนไปกับเหล่าเทพทั้งหลาย เพื่อร่วมดื่มน้ำอมฤต  หลังจากดื่มน้ำเสร็จพระอาทิตย์กับพระจันทร์เห็นและรู้ว่าเป็นพระราหูแปลงกายมาจึงไปฟ้องพระนารายณ์ พระนารายณ์โกรธมากจึงขว้างด้วยจักร  พระราหูคอขาดแต่ไม่ตายเป็นเพราะได้ดื่มน้ำอมฤตเข้าไปแล้ว ร่างกายของพระราหูแบ่งเป็น 2 ส่วน  ส่วนหัวล่องลอยอยู่ในท้องฟ้าคอยจับพระจันทร์กับพระอาทิตย์ด้วยความโกรธ ทำให้เกิดจันทรุปราคา และสุริยุปราคา ส่วนท่อนล่างของพระราหูที่เป็นหางพญานาคก็กลายเป็นเทพกิ่งอสูรอีกองค์หนึ่งคือ “พระเกตุ”

กล่าวโดยสรุปแล้ว จะเห็นว่า ความเชื่อเกี่ยวกับพระราหูทางไสยศาสตร์ของพราหมณ์ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น ทำให้ทราบถึงผู้ที่ทำให้ร่างกายของพระราหูขาดเป็นสองท่อนนั้น มีการมองที่ค่อนข้างจะแตกกันออกเป็น  3  แนวทาง คือ (1) บางกลุ่มมองว่าพระอิศวรเป็นผู้กระทำ (2) บางกลุ่มมองว่าว่าพระอินทร์เป็นผู้กระทำ (3)  บางกลุ่มมองว่าพระนารายณ์เป็นผู้กระทำ ส่วนท่าทีเกี่ยวกับกำเนิดของพระราหูนั้นก็แตกแยกออกเป็น 3 แนวทางเช่นกัน  (1) ราหูเป็นบุตรของท้าววิประจิตติกับนางสิงหิกา  (2) เป็นบุตรพระพฤหัสกับนางอสูร  (3) พระราหูเกิดจากการที่พระอิศวรเอาหัวผีโขมด 12 หัวมาป่นลงในน้ำอมฤต

แต่ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการมองถึงสาเหตุที่ทำให้พระราหูอมพระจันทร์และพระอาทิตย์นั้น  กลับแสดงนัยที่ค่อนข้างจะสอดคล้องกัน โดยแสดงให้เห็นถึงอาการที่ราหูโกรธที่เทพจันทร์และอาทิตย์น้ำเรื่องราวของตนไปฟ้องพระนารายณ์ และอิศวร จนเป็นเหตุให้ตนเองถูกจักรของท่านจนร่างกายขาดสองท่อน  อาศัยเหตุดังกล่าว  ราหูจึงผูกอาฆาตเทพจันทร์และอาทิตย์มาโดยตลอด

เมื่อวิเคราะห์จากมุมมองของไสยศาสตร์ของพราหมณ์นั้น พระราหูกลับกลายเป็นผู้ร้ายที่น่าสะพรึงกลัวเป็นอย่างยิ่ง  เขาได้กลายเป็นบุรุษที่ไม่พึ่งปรารถนาของเหล่าเทพทั้งมวล  และเมื่อไปตามราวีพระจันทร์และพระอาทิตย์ที่ไปฟ้องพระนารายณ์ว่าราหูได้ปลอมตนมาดื่มน้ำอมฤตจนกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้ถูกจักรของพระนารายณ์ขาดสองท่อนด้วยแล้ว  ยิ่งกลายเป็นผู้ที่ไม่พึ่งประสงค์ต่อเทพมากยิ่งขึ้น[9]  และในขณะเดียวกัน  พระราหูเองก็ได้สร้างศัตรูเพิ่มขึ้นโดยที่ไม่รู้ตัวเอง นั่นคือ ประชาชนโดยทั่วไป  ที่พากันประเมินพฤติกรรมของพระราหูในด้านลบเนื่องจากความเป็นอันธพาลของพระราหูที่ไปรังแกพระจันทร์และพระอาทิตย์ซึ่งถือว่าเป็นสมบัติอันล้ำค่าของพวกเขา คอยให้แสงสว่าง และสร้างคุณประโยชน์นานับประการแก่พวกเขา

2.3  ท่าที และมุมมองในมิติดาราศาสตร์

ในขณะที่นักดาราศาสตร์นั้น พยายามที่จะอธิบายในเชิงวิทยาศาสตร์ว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวนั้น เกิดจากการที่ดวงจันทร์โคจรเข้ามาบังแสงดวงอาทิตย์ที่ส่งมาบนพื้นโลก ทำให้พื้นที่บนบนโลกบริเวณใต้เงาของดวงจันทร์มืดลง ซึ่งนักดาราศาสตร์จะเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “สุริยุปราคา”  คือการที่ดวงจันทร์เคลื่อนที่มาบังดวงอาทิตย์นั้นเอง จะเกิดเมื่อดวงอาทิตย์โลก และดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน บนพื้นระนาบ (พื้นราบ) เดียวกัน โดยดวงจันทร์อยู่ตรงกลางระหว่างโลกและดวงอาทิตย์[10]  ดังรูปภาพต่อไปนี้

ดวงอาทิตย์

ดวงจันทร์

โลก

ปรากฏการณ์สุริยุปราคา

 

 

 

 

 

 

 

 


ในขณะที่นักดาราศาสตร์ก็ได้อธิบายปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “จันทรุปราคา” ว่า เกิดจากการที่ดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงาของโลก  เราจึงมองเห็นดวงจันทร์ค่อย ๆ แหว่งมากขึ้น จนหมดลับดวง และโผล่กับมาอีกครั้ง   ปรากฏการณ์จันทรุปราคานั้นจะเกิดเฉพาะในคืนวันเพ็ญ 15 ค่ำ หรือคืนวันพระจันทร์เต็มดวง  อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์จันทรุปราคานั้นมิสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเดือน เนื่องจากระนาบที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ และระนาบที่ดวงจันทร์โคจารรอบโลกมิใช่ระนาบเดียวกัน หากตัดกันเป็นมุม 5 องศา ดังนั้น อากาศจะเกิดจันทรุปราคา จึงมีเพียงประมาณปีละ 1-2 ครั้ง โดยสามารถมองเห็นได้จากประเทศไทยปีละครั้ง[11]

ดวงอาทิตย์

ดวงจันทร์

โลก

ปรากฏการณ์จันทรุปราคา

 

 

 

 

 

 

 


               

               

                เมื่อกล่าวโดยภาพรวมเกี่ยวกับเรื่องของดาราศาสตร์จะเห็นว่า ประเด็นของการมุมมองในมิติต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้วในเบื้องต้นนั้น แทบจะกลายเป็นเรื่องไร้สาระไปในทันที เมื่อนัก      ดาราศาสตร์ซึ่งมีวิทยาศาสตร์เป็นบาทฐานนั้น  ได้พยายามอย่างที่จะค้นคว้าหาคำตอบจากปรากฏการณ์ดังกล่าว โดยไม่สนใจว่าในอดีตที่ผ่านมานั้นแต่ละคนจะมีความเชื่อในลักษณะใด  ในขณะเดียว อาวุธที่แหลมคมของนักดาราศาสตร์ที่มีอานุภาพมากประการหนึ่งก็คือ การไม่ค่อยให้ความสนใจต่อความเชื่อที่ไร้ซึ่งการพิสูจน์  ในขณะเดียวกัน  สิ่งที่ผู้คนพากันเชื่ออย่างงมงายนั้น กลับกลายเป็นแรงจูงใจอันสำคัญที่จะให้เหล่านักวิทยาศาสตร์ต่างกระหายที่จะเข้าไปค้นคว้าหาคำตอบ  สุดท้ายแล้ว นักดาราศาสตร์ก็สามารถตอบคำถามของตัวเอง และเปิดตาในให้แก่ผู้คนมากมายที่ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับราหูอมจันทร์และอมพระอาทิตย์ที่วิปริตผิดเพี้ยนมาหลายชั่วอายุคน   นั่นก็คือการพบว่า สุดท้ายแล้ว ไม่มีอะไรซ่อนอยู่เหนือปรากฏการณ์เหล่านั้น นอกจากการที่พระจันทร์บังโลก และเป็นสาเหตุที่ทำให้โลกมืดไปชั่วขณะจนกลายเป็นที่มาของคำว่า “สุริยุปราคา”[12] และ โลกบังดวงจันทร์ และกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้ดวงจันทร์มืดไปชั่วขณะจนกลายเป็นที่มาของคำว่า “จันทรุปราคา”[13]  ทุกคนก็ได้คำตอบอย่างแจ่มชัดต่อปรากฏการณ์ดังกล่าว

                แต่ถึงอย่างไรก็ตาม  ดาราศาสตร์ก็ให้คำตอบได้เฉพาะบางกลุ่มชนเท่านั้น แต่บางกลุ่มชนแม้จะรับรู้เรื่องความเป็นจริงทางวิทยาศาสตร์บ้าง แต่นั้นก็หาได้เปลี่ยนแปลงความเชื่อที่เคยมีมาไม่  ชนบางกลุ่มยังมีความเชื่อเช่นเดิมไม่ว่าจะอยู่ในแง่มุมของโหราศาสตร์ หรือไสยศาสตร์ก็ตาม

2.4  ท่าทีและมุมมองในมิติของวัฒนธรรมและประเพณีพื้นบ้านของสังคมไทย

                สำหรับความเชื่อเกี่ยวกับราหูอมจันทร์และพระอาทิตย์ตามที่ปรากฏในประเพณี พิธีกรรม และความเชื่อของสังคมไทยนั้น  มีหลายแนวทางด้วยกัน

                แนวทางที่ 1    ในสมัยโบราณนั้นมีเศรษฐีสามี-ภรรยาคู่หนึ่ง  สามีชื่อหัสวิชัย  ส่วนภรรยาชื่อนางสุนทรา  มีบุตรชาย 3 คน คือ  นายอาทิตย์  นายจันทร์ และนายราหู  หลังจากที่พ่อแม่เสียชีวิตลง ลูก ๆ ก็พากันแย่งสมบัติ  ปรากฏว่า นายราหูที่เป็นน้องคนเล็กได้รับสมบัติที่ไม่มีค่า ไม่มีใครต้องการ ผิดกับพี่ ๆ ทั้งสอง  ทำให้นายราหูโกรธแค้นที่พี่ทั้งสองมาก ในขณะทำบุญพี่ชายคนโตคือนายอาทิตย์ใช้ขันทองใส่ข้าวทำบุญแล้วอธิษฐานขอไปเกิดเป็นพระอาทิตย์ ส่วนพี่ชายคนรองนายจันทร์ใช้ขันเงิน อธิษฐานขอไปเกิดเป็นพระจันทร์ ส่วนน้องคนสุดท้อง นายราหู ไม่มีสมบัติมีค่าที่จะใช้ทำบุญจึงใช้กระทายมาทำเป็นภาชนะตักบาตร  และอธิษฐานขอให้มีร่างกายใหญ่โต จนสามารถบดบังรัศมีของพี่ๆ ได้ ชาติภพต่อมาชายทั้ง 3 คน ก็ได้เกิดใหม่เป็นไปตามที่ได้อธิษฐานเอาไว้  พระราหูยังไม่หายโกรธพี่ทั้งสอง ทุกคนที่พบเห็นพี่ทั้งสองคือพระอาทิตย์กับพระจันทร์ พระราหูก็จะไล่จับพระอาทิตย์กับพระจันทร์มาอมเป็นการแก้แค้น 

                จะเห็นได้ว่า จากแนวทางนี้  ได้ส่งผลต่อวิถีชีวิตและความเชื่อของคนไทยในสมัยโบราณที่เกี่ยวกับราหูอมจันทร์ หรืออมอาทิตย์  ฉะนั้น จะเห็นได้ว่าเมื่อเกิดจันทคราส  หรือสุริยคราส จะมีการตีเกราะ เคาะไม้ ตีกลอง เพื่อให้ราหูตกใจรีบคายพระจันทร์และพระอาทิตย์ออก[14] หรือใช้วิธียิงปืนไล่พระราหู เพราะกลัวพระราหูจะอมแล้วไม่ปล่อย  บางคนคว้าสากตำข้าวบ้าง ท่อนไม้บ้าง วิ่งทุบวิ่งเคาะต้นไม้ผลประเภทขนุน มะม่วง มะขวิด น้อยหน่า พร้อมกับตะโกนบอกว่า “มีลูกเยอะๆ น่ะ” หรือ “มีลูกดก ๆ น่ะ”[15]

                ตัวอย่างความเชื่อพระราหูดังกล่าวถูกตอกย้ำให้ชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อย้อนกลับไปดูเหตุการณ์จันทรุปราคาเมื่อครั้งสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในวันพฤหัสเดือนสามขึ้นสิบห้าค่ำ ปีมะเมียสัมฤทธิ์ศก มีบันทึกในราชกิจจานุเบกษาว่า “ในวันเกิดจันทรุปราคานั้น แต่ก่อนราษฏรบางคนที่มีปืนดาบสิลาก็ออกมายิงเล่นในเวลาที่เห็นอุปราคม ถ้าใครจะเล่นดังนั้นก็ไม่ห้ามดอก แต่ให้มาบอกนายอำเภอให้ทราบแห่งไว้ แต่อย่าไปเที่ยวยิงให้ผิดที่ผิดทางไป”[16]

                แนวทางที่ 2   พระราหูมีพี่น้อง 3 คน คนโตคือ พระอาทิตย์ คนรองคือ พระจันทร์  ส่วนพระราหูเป็นน้องคนสุดท้อง  วันหนึ่งพระพุทธเจ้าเดินผ่านมาบริเวณที่สามพี่น้องอยู่ ทั้งสามมีจิตศรัทธาที่จะถวายภัตตาหาร พระอาทิตย์ก็เอาขันทองใส่ภัตตาหารถวาย พระจันทร์ใช้ขันเงินใส่อาหารถวาย ส่วนราหูไม่รู้จะใช้อะไรใส่คว้าเอากระบุงมาใส่ภัตตาหารถวายพระพุทธองค์  ด้วยอานิสงส์ที่เกิดจากการทำบุญจึงส่งผลให้พระอาทิตย์มีร่างกายเหลืออร่ามเหมืองทองคำ พระจันทร์มีร่างกายผุดผ่องดั่งเงินบริสุทธิ์ ส่วนพระราหูมีร่างกายใหญ่โตเนื่องจากใช้กระบุงใบใหญ่ถวายใส่อาหารถวายพระพุทธเจ้า[17]

                สำหรับความเชื่อเกี่ยวกับการเกิดสุริยุปราคา และจันทรุปราคานั้น  คนกลุ่มนี้มองว่าพระราหู พระอาทิตย์ และพระจันทร์ไม่ได้โกรธเคืองกัน  แต่เนื่องจากสัมพันธภาพระหว่างพี่น้องที่พรัดพรากกันไปนาน  เมื่อพบกันกันหยุดทักทายกันตามประสาพี่น้อง   ชาวบ้านจึงตีเกราะเคาะไม้ทำเสียงดัง เพื่อแสดงความยินดีที่พี่น้องได้พบกัน  และอีกส่วนหนึ่งเป็นการทำให้ตก เนื่องจากชาวบ้านกลัวว่าพี่น้องจะไม่ยอมแยกจากกันจนทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน  ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดสุริยคราสและจันทคราสขึ้น

                ในขณะเดียวกัน ชาวฮินดูกลุ่มหนึ่งที่พากันกราบไหว้ บวงสรวงพระราหูอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะเมื่อเกิดจันทคราส หรือสุริยคราสก็พากันตีกลอง ตีเกราะ เคาะไม้ พร้อมทั้งร้องด้วยความดีใจ ที่พระราหูได้แก้แค้นพระจันทร์ และพระอาทิตย์ได้ เป็นการเอาใจพระราหู เพื่อให้พระราหูพอใจพวกเขา  และพวกเขาจะได้รับการประทานความสุข ความเจริญ และความสำเร็จจากพระราหู[18]

                ประเด็นที่น่าวิเคราะห์เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือว่า ความเชื่อเกี่ยวกับราหูอมจันทร์ และอมอาทิตย์นั้น เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและการดำรงอยู่ของคนในสังคมทั่วไป   เนื่องจากความคิดพื้นฐานที่ผูกติดอยู่กับความเชื่อในเรื่องของผี และมิติทางวิญญาณ เทวดา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์  ฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องยากนัก หากคนเหล่านี้จะพยายามที่จะมองและหาทางออกให้กับราหูอมจันทร์และอมอาทิตย์  เขาจึงได้สร้างเรื่องราวต่าง ๆ ขึ้นมา โดยมีพุทธศาสนาเป็นฐานรองรับความเชื่อเหล่านั้น  ท่าทีและมุมมองไม่ว่าจะมองไปไหนแง่มุมใดก็ตาม หากเป็นชาวพุทธศาสนิกชนก็นับเป็นเรื่องง่ายที่จะให้คนทั่วไปยอมรับ[19] ราหู พระจันทร์และพระอาทิตย์เป็นพี่น้องกัน และทำบุญใส่บาตรกับพระสงฆ์  อาทิตย์ซึ่งเป็นพี่คนโตได้เอาขันทองใส่อาหารตักบาตร พระจันทร์ได้ใช้ขันเงินเป็นภาชนะใส่อาหาร ส่วนราหูซึ่งเป็นน้องคนเล็กนั้นเมื่อหาภาชนะอื่นไม่ได้จึงนำกระบุงมาใส่อาหารถวายแก่พระสงฆ์ จนกลายเป็นที่มาของการที่พระราหูจะต้องตามไปราวีพระจันทร์และพระอาทิตย์อยู่บนท้องฟ้าเนื่องจากผูกใจเจ็บพี่ทั้งสอง 

                จะเห็นว่า การที่สังคมไทยนับตั้งแต่อดีตพยายามที่อธิบายโดยโยงเอาความเชื่อของตัวเองมาเป็นฐานในการอธิบายเรื่องราวหรือปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในธรรมชาติภายใต้กรอบของปรัชญาและแนวคิดในทางพระพุทธศาสนา  และถือได้ว่าการอธิบายนั้นสิ่งที่สมเหตุสมผลอย่างยิ่งในสังคมสมัยนั้น  เพราะอย่างน้อยก็สามารถให้คำตอบแก่คนในสมัยนั้นได้ว่า ทำไมราหูจึงอมจันทร์ และอมอาทิตย์

                2.5 ท่าที และมุมมองในมิติของชนชาติอื่น ๆ

                เมื่อศึกษาเกี่ยวกับท่าทีและมุมมองต่อกรณีราหูอมจันทร์ และอมอาทิตย์โดยละเอียดแล้วจะพบว่า ลักษณะของความเชื่อในประเด็นนี้  มิเพียงแค่เกิดขึ้นในสังคมไทยหรืออินเดียเท่านั้น  แม้กระทั่งชาวเอสกีโมก็ตีความสุริยุปราคาว่าเป็นการการรวมกันระหว่างสองเพศอันได้แก่         พระอาทิตย์ และพระจันทร์ ขณะเกิดสุริยุปราคา แม้บ้านชาวเอสกีโมจะคว่ำปากหม้อไหจาน และกระทะลงดินเพื่อไม่ให้พิษงูจากเงาของสุริยุปราคาตกค้างในภาชนะ ในขณะที่ชาวละตินอเมริกันมองว่า หญิงมีครรภ์ผู้ใดได้ดูสุริยุปราคาลูกของเธอที่ถือกำเนิดมาจะเป็นเด็กพิการ รวมทั้งชาวอินแดงเผ่าดาโกตาเชื่อว่า สุริยุปราคาเป็นลางบอกเหตุศึกสงครามใหญ่ ส่วนชาวจีนโบราณกลับมองแปลกแยกออกไปในมิติทางความเชื่อดังเดิมของคนจีนว่า “มังกรยักษ์กลืนกินดวงอาทิตย์”[20]

สิ่งที่จะต้องถูกตั้งข้อสังเกตในประเด็นนี้ก็คือว่า  แท้ที่จริงแล้ว  ราหูอมจันทร์ และอมอาทิตย์นั้น มิได้บังเกิดท่ามกลางกระแสความเชื่อและการตีความในสังคมไทยหรือพราหมณ์เท่านั้น  หากแต่มีการตั้งข้อสงสัย และตีความจากคนในหลายชนชาติด้วยกัน ในขณะที่ประเทศลาวมองปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า “กบกินเดือน และกบกินตาเว็น” แล้ว ในเวียดนามกลับมองว่า “กบกินเดือนและหมาจวงหมาแงงกินตาเวน” ในพม่าเองก็บอกว่ามันคือ “กบกินเดือนและกบกินวัน”   แต่คนจีนกลับมองว่า “มังกรใหญ่อัมพระอาทิตย์”[21]ไม่ว่าจะเรียกว่าอะไรก็ตาม  แต่สิ่งที่เราสามารถประเมินได้จากการสื่อเหล่านั้นก็คือว่า มีบางอย่างกำลังเป็นอันธพาล และมีบางอย่างกำลังถูกรังแก  และนั่นจึงเป็นที่มาของการตีเกราะเคาะกะลา โห่ฮาและไล่ไม่ให้บางอย่างถูกกลืนหายไปห้วงแห่งอากาศ[22]  สุดท้ายแล้ว ราหูเองก็ยังคงเป็นภาพลบในสายตาของคนทั่วไปอีกเช่นเคียว  แม้ว่าจะเป็นชาติใดก็ตามที่รับรู้ในเรื่องเหล่านี้  ฉะนั้น เราจะเห็นว่าชาว         เอสกีโมก็ตีความปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นการการรวมกันระหว่างสองเพศอันได้แก่พระอาทิตย์ และพระจันทร์ ขณะเกิดสุริยุปราคา และสิ่งที่แม่บ้านชาวเอสกีโมจะต้องทำในลำดับต่อไปก็คือคว่ำปากหม้อไหจาน และกระทะลงดินเพื่อไม่ให้พิษงูจากเงาของสุริยุปราคาตกค้างในภาชนะ ในขณะที่ชาวละตินอเมริกันมองว่า หญิงมีครรภ์ผู้ใดได้ดูสุริยุปราคาลูกของเธอที่ถือกำเนิดมาจะเป็นเด็กพิการ รวมทั้งชาวอินเดียนแดงเผ่าดาโกตาเชื่อว่า สุริยุปราคาเป็นลางบอกเหตุศึกสงครามใหญ่[23] 

 

ประเด็นที่ต้องถูกถามเกี่ยวกับท่าที และมุมมองเกี่ยวราหูอมจันทร์และอมอาทิตย์ก็คือว่า “ใครถูก? ใครผิด  ประโยคนี้เป็นคำถามที่น่าสนใจ และท้าทายต่อผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นนักวิชาการทางพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก  นี่คือสิ่งที่จะต้องหาคำตอบกันในบทต่อไป

 

 

บทที่  3

ท่าทีและมุมมอง “ราหูอมจันทร์ อมอาทิตย์” ตามที่ปรากฏในพระไตรปิฏกและอรรถกถา

 

                จากการศึกษาท่าทีและมุมมองเกี่ยวกับปรากฏการณ์ราหูอมจันทร์และอมอาทิตย์ในมิติ   ต่าง ๆ  ไม่ว่าจะเป็นมิติของไสยศาสตร์ของพราหมณ์  มิติของดาราศาสตร์ มิติทางโหราศาสตร์  มิติทางด้านวัฒนธรรมและประเพณีของสังคมไทยและประเทศอื่น ๆ นั้น   สิ่งที่จะต้องตั้งคำถามในลำดับต่อไปก็คือว่า  พระพุทธศาสนามีท่าที และมุมมองต่อเรื่องนี้อย่างไร  เหมือนกัน หรือมีความแตกต่างในบางแง่มุม หรือมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง  เหล่านี้คือสิ่งที่จะต้องค้นหาคำตอบต่อไป

                เมื่อมองผ่านมุมมองเกี่ยวกับ “ราหูอมจันทร์ และอมอาทิตย์” ในเชิงพุทธศาสนานั้น  สามารถสรุปได้จาก  2 ประเด็นหลัก ๆ ด้วยกัน กล่าวคือ

3.1 ท่าที และมุมมองในแง่ของบุคลาธิฏฐาน

                บุคลาธิฏฐาน หมายถึง  มีบุคคลเป็นที่ตั้ง, เทศนายกบุคคลขึ้นตั้ง คือ วิธีแสดงธรรมโดยยกบุคคลขึ้นอ้าง[24]  หรือยกสิ่งที่เป็นรูปธรรมอื่น ๆ มาเป็นหลักในการอธิบาย เช่น เปรียบกิเลสเหมือนพญามาร[25]  ดังนั้นจะพบว่า การตีความในเชิงของการยกบุคคลขึ้นมานำเสนอเพื่อให้เกิดภาพของการตีความที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น จึงปรากฏอยู่ในคัมภีร์พระไตรปิฏก และอรรถกถาซึ่งเป็นคัมภีร์ที่สามารถบ่งบอกถึงร่องรอยและที่มาของการตีความในเรื่องนี้

ในคัมภีร์พระไตรปิฏกซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานสำคัญของพระพุทธศาสนาเถรวาทได้กล่าวถึงปรากฏการณ์ที่เกี่ยวกับแง่มุมเรื่องนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า[26]  ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี จันทิมเทพบุตร และสุริยเทพบุตรถูกอสุรินทราหูจับ ทั้งคู่ต่างก็พากันระลึกนึกพระพุทธเจ้าโดยได้กันกันกล่าวคาถาว่า  ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้แกล้วกล้า ขอความนอบน้อมจงมีแต่พระองค์… ข้าพระองค์ถึงฐานะอันคับขัน ของพระองค์จงเป็นที่พึ่งของพระองค์นั้น”  จากการร้องขอความช่วยจากพระพุทธเจ้าในลักษณะดังกล่าวนั้น จึงทำให้พระองค์ต้องตรัสเตือนราหูว่าจันทิมเทวบุตร และสุริยเทพบุตรนั้น มีพระองค์เป็นที่พึ่ง ที่ระลึก ฉะนั้น สมควรที่ราหูจะต้องปล่อยเทพทั้งสองไป    เพราะพุทธานุภาพจึงทำให้ราหูเกิดความเกรงกลัวต่อพระองค์จึงได้ปล่อยเทพทั้งสองไป  เมื่อท้าวเวปจิตติจอมอสูรทราบเรื่องจึงเกิดความสงสัยเกี่ยวกับการปล่อยจันทิมเทพและสุริยเทพให้หลุดลอยไป  อสุรินทราหูจึงบอกถึงสาเหตุว่า ด้วยพุทธานุภาพนั้น หากไม่รีบปล่อยเทพทั้งสองก็จะเกิดอันตรายกับตัวเองถึงชีวิต

                เนื่องจากเนื้อตามที่ปรากฏในจันทิมสูตรและ สุริยสูตร ไม่ได้กล่าวถึงที่มาของเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ที่ราหูจับจันทิมเทพ และสุริยเทพเอาอย่างชัดเจน  ฉะนั้น  พระอรรถกถาจารย์จึงได้พรรณาถึงเหตุการณ์ดังกล่าวเอาไว้อย่างพิสดารไม่แพ้อรรถาธิบายตามที่ปรากฏในศาสนาพราหมณ์ดังที่ได้กล่าวแล้วในเบื้องต้น โดยได้ชี้ให้เห็นว่า[27] ราหูนั้นเป็นพญาแห่งอสูรที่มีอำนาจและมีกำลังกล้าหาญและใหญ่กว่าเทพยดาทั้งหลายในสวรรค์ อีกทั้งยังสีร่างกายใหญ่โตสูงถึง 4,800 โยชน์ ช่วงแขนยาว 1,200  โยชน์ ว่าโดยส่วนหนา 600 โยชน์  ศรีษะ 900 โยชน์  หน้าผาก 300 โยชน์ ระหว่างคิ้ว 50 โยชน์  คิ้ว 200 โยชน์ ปาก 200 โยชน์ จมูก  300 โยชน์  ขอบปากลึก 300 โยชน์ ฝ่ามือฝ่าเท้า 200 โยชน์  ข้อนิ้ว 15 โยชน์ และขณะเดียวกันก็มีใจเกลียดชัง และริษยาพระอาทิตย์เป็นอย่างมาก โดยราหูมักจะลงสู่วิถีแห่งโคจรของจันทร์และอาทิตย์ อ้าปากออกแล้วเอาพระอาทิตย์และพระจันทร์จับเข้าไปในปาก บ้างก็ใช้นิ้วมือบังไว้ บ้างคาบไว้ที่คาบหรือใต้รักแร้จนพระอาทิตย์และพระจันทร์หมดรัศมี  แต่เมื่อพระพุทธเจ้าล่วงรู้ความดังกล่าวจึงตรัสเทศนาแก่ราหูจนที่สุดจึงยอมปล่อยพระจันทร์และพระอาทิตย์ให้เปล่งรัศมีตามเดิม

                จากการวิเคราะห์ในเชิงบุคลาธิษฐานนี้  จุดที่น่าสังเกตก็คือว่าเรื่องเล่าตามที่ปรากฏในพุทธศาสนาค่อนข้างจะมีความผิดแผกแตกต่างกันในแง่ของการตีความเกี่ยวกับราหู  กล่าวคือ ในอรรถาธิบายของศาสนาพราหมณ์บอกว่าพระราหูนั้นมีครึ่งตัว เนื่องจากถูกจักรของพระอินทร์ตัด แต่อรรถาธิบายในทางพุทธศาสนากลับชี้ไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามว่า พระราหูมีอวัยวะครบทุกส่วน ไม่ได้มีส่วนใดขาดหายไปตามที่พราหมณ์กล่าวอ้างแต่ประการใด

                ในขณะเดียวกันมุมมองของฝ่ายพราหมณ์ค่อนข้างจะมองพระราหูในเชิงลบเป็นอย่างมาก ด้วยข้อหาที่พระราหูนั้นเป็นอสูร และไปขโมยน้ำอมฤตกินจึงถูกจักรของพระนารายณ์ขาดครึ่งท่อนแต่ไม่ตายเพราะเป็นอมตะ  แต่ท่าทีเกี่ยวกับพระราหูในเชิงพุทธนั้นค่อนข้างจะเป็นไปในลักษณะของการให้โอกาส  เป็นมุมมองในเชิงของการให้คุณแก่พระราหูมากกว่า ดังจะเห็นได้จากที่พระราหูได้รับโอกาสจากพระพุทธเจ้าในการรับฟังพระธรรมเทศนาแล้วทำให้พระราหูต้องกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัยแสดงตนเป็นอุบาสกในพระพุทธศาสนาตลอดชีวิต[28]

                ท่าที และมุมมองของศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธนั้นมีรูปแบบและแนวทางของการอธิบายที่ค่อนข้างจะแตกต่างกันอย่างมาก   และด้วยสาเหตุนี้กระมังจึงเป็นที่มาของการวิเคราะห์ในเชิงบุคลาธิฐานและธรรมาธิษฐานต่อไปว่า ทำไมศาสนาพุทธจะต้องมองในลักษณะแบบนี้  แน่นอนจึงต้องมีแรงจูง หรือจุดประสงค์อื่นอย่างแน่นอน  ฉะนั้น  ในประเด็นนี้น่าจะวิเคราะห์ท่าทีในเชิงบุคลาธิษฐานได้อย่างชัดในหลายประเด็นดังต่อไปนี้

. เป็นการมองในเชิงจิตวิทยา 

การมองในแนวนี้นั้น ถือได้ว่าเป็นการมองในเชิงของการให้คุณแก่พุทธศาสนา และข่มศาสนาพราหมณ์  ดังที่ได้กล่าวแล้วในเบื้องต้นว่า ศาสนาพราหมณ์ก็มีความพยายามอย่างยิ่งที่จะอธิบายปรากฏการณ์ราหูอมจันทร์และอมพระอาทิตย์ และความพยายามดังกล่าวจึงได้ก่อให้เกิดงานทางวรรณคดีที่แสดงให้คนทั่วไปได้เข้าใจว่า พระราหูนั้นค่อนข้างจะเป็นผู้ร้ายในสายตาของพราหมณ์บางตำนาน เนื่องจากต้องการจะแก้แค้นพระจันทร์และพระอาทิตย์ที่นำเรื่องที่ตนดื่มน้ำอมฤตซึ่งเป็นของสงวนไว้เฉพาะหมู่เทวดา  จึงทำให้ตัวเองถูกจักรของพระนารายณ์ขาดสองท่อน  การอธิบายในกรอบนี้ค่อนข้างที่จะให้คุณแก่พระนารายณ์ที่เป็นพระเจ้าที่องค์สำคัญองค์หนึ่งในสามองค์ที่พวกพราหมณ์พากันเคารพนับถือ เพื่อถือได้ว่าพระองค์เป็นผู้พิทักษ์โลก นำความสุข สงบเย็น มาสู่เทวดาและมนุษย์

แต่คัมภีร์ของพระพุทธศาสนาไม่ว่าจะเป็นชั้นพระไตรปิฏก อรรถกถาหรือฏีกาล้วนเป็นการอธิบายที่ค่อนข้างจะเป็นไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับบทสรุปของพราหมณ์ เนื่องจากคัมภีร์ทางพุทธมองเห็นว่า แท้ที่จริงแล้ว ราหูอาจจะเกเรบ้าง แต่นั่นก็ถือว่าเป็นวิสัยของอสูรตนหนึ่งที่มีพื้นทางใจที่ค่อนข้างจะดุร้าย แต่เมื่อพระพุทธเจ้าผู้ซึ่งมีความกรุณาต่อสรรพสัตว์อย่างสูง ดังจะเห็นได้จากกรณีของพระเทวทัตต์ และพระองคุลีมาล[29] จนมาถึงกรณีของพระราหูที่พระองค์ได้มองเห็นศักยภาพในการที่พัฒนาภูมิธรรม  จึงทรงแสดงธรรมโปรดแก่พระราหูจนกลายผู้ยอมรับนับถือพระรัตนตรัยในลำดับต่อมา

ฉะนั้น จะเห็นได้ว่า การมองในเชิงพุทธนั้น เป็นการมองที่นำเรื่องราวทางวรรณคดีทางศาสนาพราหมณ์มาอธิบายใหม่  แต่เป็นการอธิบายภายใต้กรอบของพระพุทธศาสนา  ซึ่งเป็นการอธิบายที่ทำให้ภาพของพระพุทธเจ้านั้น เป็นผู้ที่มีพระกรุณามากกว่าพระนารายณ์ของศาสนาพราหมณ์ 

                . เป็นการมองในเชิงสังคมวิทยา

                การมองตามนัยนี้เป็นการมองเพื่อที่จะอธิบายปรากฏการณ์ของธรรมชาติที่คนในสมัยนั้นต้องการที่จะทราบ หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เป็นการตอบคำถามเกี่ยวกับเหตุการณ์ราหูอมจันทร์และอมอาทิตย์ในเชิงของพุทธศาสนา ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่าในเมื่อศาสนาพราหมณ์ได้พยายามที่จะตอบสนองความต้องการที่จะทราบถึงปรากฏการณ์ที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังของราหูอมจันทร์และอมอาทิตย์ได้ แต่ในฝ่ายของพุทธนั้นยังไม่ได้นำเสนอแง่มุมในมิติของพุทธ ฉะนั้น การนำเสนอแง่มุมเกี่ยวกับราหูอมจันทร์และอมอาทิตย์นั้น นอกจากจะเป็นการตอบคำถามที่ค้างคาใจของคนโดยทั่วไปแล้ว  ยังได้นำเสนอประเด็นที่ทำให้ผู้คนทั่วไปพากันศรัทธาในพุทธานุภาพขึ้นด้วย ดังที่           เสฐียรพงษ์  วรรณปกได้ตั้งข้อสังเกตว่า[30] ราหูอมจันทร์และอมอาทิตย์เกิดขึ้นเพราะคนสมัยก่อนไม่มีความรู้ในเรื่องดาราศาสตร์ พระสูตรทั้งสองนี้จึงมีเนื้อหาที่สอดรับกับความรู้ความเข้าใจของคนสมัยก่อน ซึ่งเป็นความรู้ที่ไม่ค่อยเป็นวิทยาศาสตร์”  ในขณะเดียว  ยังมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่าสองสูตรที่นำเสนอเรื่องราหูอมจันทร์และอมอาทิตย์นั้นน่าจะเป็นสูตรแปลกปลอมเข้ามา เพราะพระสูตรดังกล่าวเป็นพระสูตรใน “บอกเล่า” มิใช่เป็นพุทธดำรัสโดยตรง  ประเด็นที่จะน่าสนใจก็คือว่า หากนำพระสูตรเข้ามาเพื่อที่จะอธิบายปรากฏการณ์ของธรรมชาติแล้ว ผู้ที่ใส่เข้ามามีจุดประสงค์ หรือแรงจูงใจอะไร ถ้าวิเคราะห์ให้ลึกลงไปแล้วน่าจะมีเหตุผลที่ลึกไปกว่าการที่จะเพิ่มเข้ามาเพื่อที่จะอธิบายปรากฏการณ์ของธรรมชาติเท่านั้น เพราะอย่างน้อยที่สุดพระจันทร์ หรือพระอาทิตย์ก็ถือได้ว่าเป็นเทพองค์หนึ่งในพุทธศาสนา ดังนั้น หากเราชื่อว่ามีเทวดาในพุทธศาสนา  ก็จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่ประการใดที่เราจะมองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องจริง เพราะหลักฐานที่ค่อนข้างจะชัดเจนเกี่ยวกับเทพทั้งสองนั้น ก็คือท่านเป็นพระอริยบุคคลในพุทธศาสนาชั้นโสดาบันตามที่ปรากฏในมหาสมยสูตร และแม้กระทั่งในสุริยสูตรก็ชี้ให้เห็นว่าเทพทั้งสองเป็นพระอริยบุคคลเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากพุทธดำรัสตอนหนึ่งว่า “ท่านจงปล่อยสุริยะผู้เป็นบุตรของเรา” ซึ่งโดยปกติแล้วพระพุทธเจ้าจะเรียกใครสักคนว่า “เป็นบุตร” นั้น ย่อมหมายถึงคนนั้นเป็นพระอริยบุคคล

ฉะนั้น  บทสรุปในประเด็นนี้ก็คือว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า การถือกำเนิดของพระสูตรนี้น่าจะหวังผลเลิศในทางสังคมวิทยา  2  ประการด้วยกัน กล่าวคือ 

1) เป็นการอธิบายเพื่อตอบคำถามในเรื่องราหูอมจันทร์ และอมพระอาทิตย์ให้แก่ประชาชนบางกลุ่มที่มีความเชื่อในเรื่องเหล่านี้  แต่เป็นการอธิบายในกรอบของพุทธศาสนา  เพื่อเป็นการนำเสนอทางเลือกหนึ่ง นอกการที่ศาสนาพราหมณ์ได้พยายามที่จะอธิบายในกรอบแนวคิดของตัวเองมาแล้ว   และการอธิบายของพุทธก็เป็นการอธิบายที่นอกจากจะสนองตอบต่อผู้ที่มีความประสงค์ที่จะทราบถึงปรากฏการณ์ราหูอมจันทร์และอมอาทิตย์แล้ว  จึงได้ชี้ให้เห็นถึงพุทธานุภาพที่พระพุทธเจ้ามีต่อจันทิมเทพ   สุริยเทพ และพระราหูด้วย

2) ในขณะที่อธิบายหรือเสนอมุมมองนั้น  ผู้ที่อธิบายพยายามที่จะนำเอาสุริยเทพ และจันทิมเทพ พร้อมทั้งราหูที่มีปรากฏในพุทธศาสนา  มาเป็นตัวละครเพื่อที่จะสื่อในกรอบของพุทธศาสนา  โดยสื่อให้เห็นคนที่มีความเชื่อและนับถือพระจันทร์และพระอาทิตย์ได้เข้าใจว่า แท้ที่จริงแล้ว พระจันทร์และพระอาทิตย์นั้นก็เป็นเทพองค์หนึ่งในพระพุทธศาสนา และเป็นพระอริยบุคคลที่ยึดมั่นและศรัทธาในพระพุทธเจ้า ดังจะเห็นได้จากการขอความช่วยเหลือจากพระพุทธเจ้า   ฉะนั้น ผู้นำเสนอน่าจะมองเห็นว่า  แม้พระจันทิมเทพ และสุริยเทพยังต้องเครารพกราบไหว้พระพุทธเจ้า  จึงไม่ต้องเอ่ยถึงผู้นับถือเทพทั้งสองดังกล่าว  และในขณะเดียวกันพระอรรถาจารย์ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า พระราหูซึ่งหลายคนพากันเกรง และพวกฮินดูบางกลุ่มยังต้องเคารพบูชาพระราหูเพื่อหวังพึ่งพาให้พระราหูบันดาลความสุขให้นั้น  ท้ายที่สุดแล้วก็ยังต้องเกรงกลัวต่อพระพุทธเจ้า และในขณะเดียวกันเมื่อได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า ราหูก็ได้กลายเป็นอุบาสกที่ประกาศตนนับถือพระรัตนตรัยตลอดชีวิต

                3.2 ในแง่ของธรรมาธิษฐาน

                ธรรมาธิษฐาน  หมายถึง มีธรรมเป็นที่ตั้ง คือ เทศนายกธรรมขึ้นแสดง เช่นว่า ศรัทธา ศีล คืออย่างนี้  ธรรมที่ประพฤติดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้ ดังนี้เป็นต้น[31] อันเป็นการยกหลักธรรมที่สิ่งที่เป็นนามธรรมล้วน ๆ ขึ้นมาอ้างหรืออธิบาย[32]   ฉะนั้น แนวทางในการอธิบาย และตีความในประเด็นนี้ จึงให้ความสำคัญแก่พุทธานุภาพของพระพุทธเจ้าซึ่งมีมีคุณูปการแก่เหล่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

                และในประเด็นนี้ของสุริยเทพและจันทิมเทพที่ถูกพระราหูตามราวีก็เช่นกัน   เราสามารถที่จะวิเคราะห์ได้ว่า  การที่จันทิมเทพ และสุริยเทพได้ยืนยันตรงกันว่า  ขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ  ซึ่งการถึงที่ถูกต้องก็คือ การน้อมนำเอาคุณของพระพุทธเจ้าไปเป็นหลักปฏิบัติ  จนตนเองเข้าถึงส่วนหนึ่งแห่งพระพุทธเจ้า  ด้วยอำนาจพุทธคุณที่ถึงนั้น ย่อมสามารถขจัดภยันตรายให้แก่บุคคลนั้น ๆ  ได้ เพราะนั่นคือ การปฏิบัติธรรม   ธรรมจึงรักษาที่ผู้ที่ปฏิบัติธรรม และลงโทษคนที่ผิดธรรม  ผู้ใดเมื่อรำลึกนึกถึงคุณของพระพุทธองค์ในขณะที่ประสบอันตราย หรือเผชิญกับความกลัว   ผู้นั้นย่อมได้รับการปกป้องคุ้มครองจากพระองค์  ดังจะเห็นได้จากกรณีศึกษาในหลาย ๆ เหตุการณ์ตามที่ปรากฏในพระไตรปิฏกและอรรถกถา    เช่น

                1)  ธชัคคสูตร   ในพระสูตรนี้พระองค์ทรงแนะนำให้พระภิกษุทั้งหลายได้เข้าใจโดยทั่วกันว่า หากเกิดความกลัว หรือหวาดหวั่นต่อภยันตรายในเวลาใด ให้รำลึกนึกถึงพระองค์  แล้วความกลัวจะพลันมลายหายไป[33]

                2)  อรรถกถาที่ว่าด้วยเรื่องบุตรของคนตัดฟืน  ที่พ่อปล่อยให้นอนอยู่ใต้เกวียนท่ามกลางป่าช้า  เพราะเข้าเมืองไม่ได้ ก่อนนอนเด็กได้แสดงความนอบน้อมต่อพระพุทธเจ้าด้วยการสวดมนต์ว่า “นโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ”  ยักษ์ตนหนึ่งต้องการที่จะจับเด็กคนนั้นกิน แต่ไม่สามารถเข้าไปไกลตัวเด็กได้ เพื่ออานุภาพแห่งพระคุณของพระพุทธเจ้าที่เด็กสวดก่อนนอน[34]

 

                จากนัยดังกล่าวข้างต้นนั้น   เราสามารถที่จะสรุปถึงเหตุผลที่พระพุทธเจ้าได้สอนเน้นย้ำให้รำลึกนึกถึงพระพุทธ และนอกจากพระพุทธแล้ว พระองค์ยังย้ำเตือนให้แต่ละคนได้ระลึกถึงพระธรรมและพระสงฆ์ด้วย   เพื่อที่จะยันยืนว่าอานุภาพของพระรัตนตรัยนั้น สามารถที่จะก่อให้เกิดการสัมฤทธิ์ผลในด้านต่าง ๆ ได้ตามระดับแห่งการสัมผัสคุณของพระรัตนตรัย   เช่น

                1) เป็นการบำรุงขวัญและกำลังใจ  ไม่ให้เกิดความหวาดกลัว ขนพองสยองเกล้าในยามที่อยู่คนเดียว หรือถูกภัยคุกคาม หรือเกิดความหวาดกลัวขึ้น ดังที่สุริยเทพ และจันทิมเทพประสบ  และเมื่อได้ น้อมใจไปรำลึกพระพุทธคุณจึงทำให้เกิดความมั่นใจขึ้นมาได้

                2)  ในยามประสบกับอันตราย สำหรับคนที่ยึดมั่นในพระพุทธคุณ หรือพระรัตนตรัย เมื่ออยู่ในบรรยากาศที่คับขัน หากนำพุทธคุณมาใช้ได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสมย่อมจะสามารถช่วยให้หลุดพ้นจากอันตรายได้ เหมือนดังที่นางสามาวดี และบริวารรอดพ้นจากกากรถูกประหารด้วยธนูของพระเจ้าอุเทน และน้ำร้อนที่เป็นประดุจน้ำเย็นเมื่อนางสิริมารอดลงบนร่างของนางอุตตรา  และที่สำคัญก็คือสุริยเทพและจันทิมเทพก็ได้อานิสงส์จากการระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า

                3)  การแสดงความนอบน้อมต่อพุทธคุณ หรือพระรัตนตรัยนั้นแม่ด้วยกาย วาจา และใจที่เลื่อมใสอย่างแท้จริง ย่อมทำให้เกิดในสุคติได้ เช่น มัฏฐกุณฑลีเทพบุตร  ใจที่มากด้วยปีติอันอาศัยพุทธคุณ อาจทำให้เกิดผลเป็นการบรรลุนิพพานได้ ดังเช่น ความปีติที่เกิดแก่พระวักกลิเถระผู้ขึ้นไปบนภูเขาคิชฌกูฏเพื่อกระโดดลงมาตายด้วยความเสียใจ แต่พอได้เห็นพระองค์ท่านกลับใช้ความปีติข่มปีติแล้วเจริญวิปัสสนา จนบรรลุพระอรหันตผล

                สรุปในประเด็นนี้ที่เกี่ยวข้องกับธรรมาธิษฐานก็คือว่า ผลการจากการที่สุริยเทพ และจันทิมเทพได้พากันระลึกนึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกนั้น   ถือได้ว่าเป็นการแสดงออกซึ่งความนอบน้อม และการมองเห็นว่า พระพุทธคุณนั้นสามารถที่จะอำนวยประโยชน์สุขแก่พวกเขาได้  ฉะนั้น จะเห็นว่า การปฏิบัติตามคุณของพระพุทธเจ้า หรือพระรัตนตรัยนั้น  ย่อมสามารถที่จะทำให้เราบรรลุผลแห่งสันติสุขในระดับต่าง ๆ จากต่ำสุดไปจนถึงการบรรลุมรรคผลนิพพานได้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

บทที่  4

สรุป และวิเคราะห์

 

จากการศึกษา เรื่อง “ราหูอมจันทร์ และอมอาทิตย์: ท่าที และมุมมองในพุทธศาสนาเถรวาท” นั้น   ทำให้เราได้ได้มองเห็นท่าที และมุมมองเกี่ยวกับราหูอมจันทร์และอมอาทิตย์ในหลายมิติด้วยกัน กล่าวคือ

                1) การมองในมิติของโหราศาสตร์   การมองตามนัยนี้ ได้ชี้ให้เห็นว่าถึงแม้ว่าพระราหูจะอาฆาตแค้นพระอาทิตย์เมื่อครั้งที่เกิดเป็นพญาครุฑซึ่งเป็นสาเหตุที่ให้ตนเองถูกจักรของพระอินทร์ขาดสองท่อนก็ตามแต่ถึงกระนั้น พระราหูมักจะได้รับการยอมรับ และคนบางกลุ่มมักจะมองพระราหูในเชิงบวกเป็นอย่างมาก  ดังจะเห็นได้จากการที่หมู่ชนบางกลุ่มได้พากันเคารพกราบไหว้ และเซ่นสรวงบูชา เพื่อให้พระราหูนั้นอำนวยอวยพรให้ตนเองประสบกับความสำเร็จในด้านต่าง ๆ

                2) การมองในมิติของดาราศาสตร์   การมองตามนัยนี้ ถือเป็นท่าทีที่ดำเนินการภายใต้กรอบของวิทยาศาสตร์  ที่พยายามจะชี้ให้เห็นถึงเหตุผล และที่มาที่ไปชัดเจนเกี่ยวสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายในปรากฏการณ์ราหูอมจันทร์และอมอาทิตย์ให้ผู้คนทั่วไปได้ทราบ   เป็นที่แน่นอนว่า แนวทางดังกล่าวอาจจะสามารถทำให้คนมากมายเข้าถึงองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นไปตามกฎธรรมชาติ โดยไม่ได้มีสิ่งใดมากำหนด จำกัดกรอบเอาไว้ให้  แต่ถึงกระนั้นผู้คนที่มีความเชื่อตามกรอบวัฒนธรรมและประเพณีเก่าก็ยังคงมีวิถีชีวิตเหมือนกันที่เคยดำเนินมาก่อนหน้าที่จะค้นพบของนักดาราศาสตร์

                3)  การมองในมิติของไสยศาสตร์ของพราหมณ์  การมองตามนัยนี้ เป็นท่าทีที่ดำเนินอยู่ภายใต้สมมติฐานที่ค่อนข้างจะลึกลับซับซ้อน  ซึ่งเป็นที่น่าเชื่อได้ว่า เรื่องใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับไสยศาสตร์มักจะมีเงาของความพิศวงแฟงเร้นอยู่ด้วยเสมอ  แต่ถึงกระนั้น  การตีความความในลักษณะนี้ก็พยายามอย่างยิ่งที่จะอธิบายถึงที่มาที่ไปของราหูอมจันทร์ เพื่อตอบสนองความกระหายใคร่รู้ของปรากฏการณ์ดังกล่าวของหมู่ชน  และที่สำคัญก็คือการอธิบายและตีความนั้น ก็ยังคงดำเนินอยู่ภายใต้ปรัชญาและคิดของศาสนาพราหมณ์อยู่นั่นเอง ดังจะเห็นได้จากการที่พระนารายณ์ก็กลายเป็นละครฉากหนึ่งที่มีผลต่อการดำรงอยู่ของพระราหูเป็นอย่างยิ่ง  นั้นก็เพราะพระองค์มักจะได้รับการยอมรับในสายตาของพราหมณ์ว่าเป็นผู้รักษาสันติสุขให้เกิดแก่โลก

                4)  การมองในมิติของวัฒนธรรมและประเพณีพื้นบ้านของสังคมไทย  การมองตามนัยนี้ เป็นการมองที่มีกลิ่นไอของปรัชญาและแนวคิดของพระพุทธศาสนาเข้ามาผสมอยู่ค่อนข้างจะมาก  ดังจะเห็นได้จากการประชาชนบางกลุ่มได้นำพระพุทธเจ้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราหูอมจันทร์เอาไว้เช่นกัน

                5)  การมองในมิติของชาติอื่น ๆ  การมองตามนัยนี้  มักจะมองตามความเชื่อเชื่อและวัฒนธรรมท้องถิ่นของตัวเอง  ที่ชัดที่สุดก็คือการตีความของชนชาติจีนที่มองว่า “มังกรกำลังอมจันทร์และอาทิตย์” สาเหตุที่ตีความในลักษณะนี้ก็เพราะชาวจีนมีความเชื่อในเรื่องมังกรอยู่ก่อนแล้ว  ฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่ประการใดที่ชาวจีนจะตีความในลักษณะนี้

                แต่ในขณะเดียวกัน พระพุทธศาสนาก็ไม่สามารถที่จะนิ่งเฉยเรื่องเหล่านี้ได้   เพราะอย่างน้อยที่สุด  ชาวพุทธจำนวนมากก็มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าในการที่จะหาคำตอบเกี่ยวกับปรากฏการณ์ราหูอมจันทร์และอมอาทิตย์เช่นกัน  ฉะนั้น  จากการวิเคราะห์ในเชิงลึกแล้วจะพบว่าพุทธศาสนาได้พยายามที่จะอธิบายในเรื่องนี้ออกเป็น  2  นัยด้วย  กล่าวคือ

                1) ในเชิงบุคลาธิษฐาน  คัมภีร์พระไตรปิฏก และอรรถกถาพยายามที่จะยืนยันว่า  พระอาทิตย์ และพระจันทร์ในพระสูตรทั้งสองดังกล่าวข้างต้นนั้น เป็นเทพดาจริง ๆ  เหมือนดังที่พราหมณ์พยายามที่จะอธิบายก่อนหน้านี้  แต่แง่มุมที่แตกต่างกันอย่างมากก็คือ ลักษณะทางกายภาพของพระราหูที่พราหมณ์พยายามจะบอกว่าขาดสองท่อน เนื่องจากถูกจักรของพระนารายณ์  แต่พุทธมองว่าไม่มีส่วนใดขาดหายไป  ภาพของพระราหูในศาสนาพราหมณ์ค่อนข้างจะเป็นไปในด้านลบ  แต่การอธิบายในเชิงพุทธมองว่า มองจะดุร้าย และอันธพาลแต่สุดท้ายแล้วเขาก็กลายเป็นอุบาสกที่มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึก

                2)  ในเชิงธรรมาธิษฐาน  ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ พระสูตรนี้สุดท้ายแล้วก็ไม่น่าจะแตกต่างจากธชัคคสูตรเท่าใดนัก  เพราะหากมองในเชิงธรรมาธิษฐานก็คือการแสดงให้เห็นถึงพุทธานุภาพของพระพุทธเจ้า  และในขณะเดียวกันหากผู้ใดก็ตามมีพุทธานุสติอยู่เสมอ  เขาย่อมได้รับการปกป้อง และพันจากภยันตรายทั้งปวงได้ดังจะเห็นได้จากการที่สุริยเทพ และจันทิมเทพได้รับการคุ้มครองป้องกันจากพระองค์   สุดท้ายแล้วผู้ที่ยังมีภูมิธรรมไม่มากเมื่อตั้งตัวได้แล้วก็สามารถที่จะพัฒนาไปเรื่อย ๆ จนสามารถเข้าถึงมรรคผลนิพพานได้เช่นกัน  เพราะอย่างน้อยพุทธานุสติก็คืออารมณ์ของกรรมฐานประเภทหนึ่งใน 40 อย่าง

                ประเด็นที่น่าสนใจและควรตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับท่าที และความเชื่อในเรื่อง “ราหูอมจันทรและอมอาทิตย์” นั้นก็คือว่า  เมื่อมองภายใต้กรอบของความเชื่อ วัฒนธรรม และประเพณีของแต่ละชนชาติ  ลัทธิ และศาสนาต่าง ๆ แล้ว  เราไม่สามารถที่จะไปตัดสินได้ว่าการตีความในมุมมองของใครถูก หรือผิด    เพราะว่าคำว่า “ถูกผิด” นั้น  มิได้มีผลในทางความเชื่อของมนุษย์ที่เขามีความเชื่อในเรื่องต่าง ๆ อยู่แล้ว  ดังจะเห็นได้จากการที่ชนบางกลุ่มได้พากันกราบไหว้บูชา เซ่นสรวงพระราหูด้วยเครื่องบรรณาการต่าง ๆ  เพื่อให้พระราหูได้อวยชัยให้พรแก่ตนเองในการดำเนินชีวิต หรือประกอบกิจการต่าง ๆ  ในขณะที่ชนบางกลุ่มนั้น กลับมีท่าทีต่อพระราหูในเชิงลบเป็นอย่างมากเมื่อประเมินจากพฤติกรรมของพระราหูที่ไปราวีพระจันทร์และพระอาทิตย์   จะเห็นว่า ทั้ง ๆ  ที่พระราหูมีพฤติกรรมในแง่ลบเมื่อประเมินจากประวัติศาสตร์ของวรรณคดี   แต่นั้นก็มิได้มีผลต่อผู้ที่มีความศรัทธาในพระราหูแต่ประการ  ฉะนั้น  เราจึงไม่สามารถที่จะสรุปได้ว่า ใครถูก หรือผิด ดังที่นักสังคมวิทยาได้ย้ำอยู่เสมอว่า “ความถูกหรือผิดในความเห็นของปัจเจกชนที่แตกต่างกันนั้นชอบแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องอ้างหาบรรทัดฐานของสังคม(norm) มาตัดสินว่าฝ่ายตรงกันข้ามกับความคิดของเราไม่ถูกต้อง  เพราะความความถูกหรือผิดหากจะมีก็ขึ้นอยู่กับการใช้เหตุผลของแต่ละคนว่าจะเลือกคิด เลือกทำอย่างไร”

35

เมื่อมองย้อนกลับมายังมุมมอง และท่าทีของพระพุทธศาสนา   จากการศึกษาคัมภีร์พระไตรปิฏกและอรรถกถา  สิ่งที่พบก็ดังที่ได้ยืนยันไปแล้วเบื้องต้นว่า พระพุทธศาสนาเองก็มิได้มีการตัดสินว่า การมองในมิติต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวแล้วนั้น ถูก หรือผิด   ในทางกลับกันก็ได้พยายามที่จะอธิบายและตีความปรากฏการณ์ “ราหูอมจันทร์และอมอาทิตย์”  ในกรอบของปรัชญาและแนวคิดในทางพุทธศาสนาเอาไว้อย่างน่าสนใจ  และสิ่งที่ถือได้ว่าเป็นจุดเด่นในการมองตามนัยของพุทธศาสนานั้นก็คือว่า ไม่ได้จบเพียงแค่การอธิบายถึงปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า ใคร? อะไร? ที่ไหน? เมื่อใด? อย่างไร? เท่านั้น  หากแต่ท่าที และการมองนั้น ได้นำไปสู่แง่มุมของการดึงความสนใจของมนุษย์มาสู่หลักการและแง่มุมของของพระพุทธศาสนาเพื่อพัฒนาและยกระดับจิตของมนุษย์ให้เลือนขั้นตนเองจากแสวงหาที่พึ่งที่เริ่มจากการยึดติดกับพระรัตนตรัยไปสู่การไร้ซึ่งภาวะของการพึ่งพาสิ่งภายนอกอันเป็นคุณลักษณะของการบรรลุนิพพานในบั้นปลายด้วย.

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

  ดร.ธีรเวทย์ ประมวญรัฐการ, “เปิดผนึกปลอบขวัญ 'เสกสรรค์ ประเสริฐกุล  ใน หนังสือพิมพ์มติชน: 3  สิงหาคม 2545: 5.

 

   35

 

 

 


บรรณานุกรม

 

 

หนังสือทั่วไป

นภาพร  โชติสุดเสน่ห์, “พระราหู: ภาพสะท้อนการผสมผสานกลมกลืนทางความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียงสารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขามนุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทลัยศิลปากร, 2541.

ปิ่น มุทุกันต์. ประมวลศัพท์ศาสนา. กรุงเทพฯ: อมรการพิมพ์, 2527.

ภานุ  บรุษรัตนพันธุ์, “ความเชื่อเรื่องสุริยุปราคาสารคดี 11, 129 (พฤศจิกายน 2538):  147-148.

พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตโต), พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม, พิมพ์ครั้ง    ที่ 3.

                                กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2528.

พวงผกา  คุโรวาท. ศิลปะและวัฒนธรรมไทย. กรุงเทพฯ: อมรการพิมพ์, 2530.

ไพศาล วงษ์ศิริ. “สุริยุปราคา: อิทธิพลต่อชีวิตไทยในยุคโลกาภิวัตน์สุริยุปราคาฝากฟ้าสยาม,

บรรณาธิการ: โอภาส  ศรีสะอาด, (อยุธยา: โรงพิมพ์เทียนวัฒนา, 2538.

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฏก ฉบับภาษาไทย, เล่มที่  15. กรุงเทพ:

                                มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2535.

มหามกุฎราชวิทยาลัย. ธมมปทฏฐกถาย สตตโม  ภาโค. กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2532.

มหามกุฎวิทยาลัย. ธมฺมปทฏฺฐกถาย  ปฐโม  ภาโค. พิมพ์ครั้งที่ 2.กรุงเทพฯ: มหามกุฎราชวิทยาลัย,

                                2537.

มหามกุฎราชวิทยาลัย. พระสูตรและอรรถกถาแปล, เล่มที่24. กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย,

                                2525.

มาลัย (นามแฝง). กำเนิดเทวดา. กรุงเทพฯ: บวรสารการพิมพ์, มปป.

ละเอียด  ศิลาน้อย. สุริยุปราคาฝากฟ้าสยาม. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ดอกหญ้า,2538.

ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน..2525. กรุงเทพฯ:  อักษรเจริญทัศน์,

                                2525.

วิวัฒน์  พันธวุฒิยานนท์. “อิทธิพลพระราหูในมุมมองของนักมานุษยวิทยา” สารคดี ปีที่ 11,

                                 ฉบับที่ 128 (ตุลาคม  2538), 167-174.

สนิท  สมัครการ. ความเชื่อและศาสนาในสังคมไทย: วิเคราะห์เชิงสังคม-มานุษยวิทยา. กรุงเทพฯ:

                                โอ.เอส.พริ้น  ติ้ง เฮาส์. 2539.

สมบัติ  พลายน้อย. “พระราหูสารานุกรมไทยภาคกลางฉบับธนาคารไทยพาณิชย์ 9 (2542): 6.

เสฐียรพงษ์  วรรณปก. คำบรรยายพระไตรปิฏก. กรุงเทพฯ: หจก.หารัตนชัยการพิมพ์, 2540.

สำนักราชเลขาธิการ. ราชกิจจานุเบกษา ในรัชการที่ 4. กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง แอนด์

พับลิชชิ่ง, 2537.

อรรถวิโรจน์  ศรีตุลา.  “ดวงดังวันนี้”  เดลินิวส์: 4 พฤษภาคม 2540, . 23.

 

วิทยานิพนธ์

นภาพร  โชติสุดเสน่ห์. “พระราหู: ภาพสะท้อนการผสมผสานกลมกลืนทางความเชื่อของกลุ่ม

                                ชาติพันธุ์ลาวเวียงสารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขามนุษยวิทยา

                                คณะโบราณคดี มหาวิทลัยศิลปากร, 2541.

เอกรินทร์  พึ่งประชา, “พระราหู: “ประเพณีประดิษฐ์” แห่งวัดศรีษะทอง  วิทยานิพนธ์สังคมวิทยา

                                และมานุษยวิทยามหาบัณฑิต  คณะสังคมวิทยา และมานุษยวิทยา

                                มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2545, .52-53.

อินเตอร์เน็ต

 

http://www.rit.ac.th/homepage-sc/charud/scibook/eclipse/index12.htm

http://www.kirdkao.org/education/lunar_eclipse.doc

http://www.uniserv.buu.ac.th/article/reports4titles/humen/2543/20.doc

 

 

 



[1] ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน..2525  (กรุงเทพฯ:  อักษรเจริญทัศน์, 2525), . 684.

[2] ปิ่น มุทุกันต์, ประมวลศัพท์ศาสนา (กรุงเทพฯ: อมรการพิมพ์, 2527), . 529.

[3] สมบัติ  พลายน้อย, “พระราหูสารานุกรมไทยภาคกลางฉบับธนาคารไทยพาณิชย์ 9 (2542): 4191-4194.

[4] มหามกุฏราชวิทยาลัย, พระสูตรและอรรถกถาแปล, เล่มที่24 (กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2525), . 340-345.

[5] นภาพร  โชติสุดเสน่ห์, “พระราหู: ภาพสะท้อนการผสมผสานกลมกลืนทางความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียงสารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขามนุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทลัยศิลปากร, 2541, . 41.

[6] เอกรินทร์  พึ่งประชา, “พระราหู: “ประเพณีประดิษฐ์” แห่งวัดศรีษะทอง  วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต  คณะสังคมวิทยา และมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2545, .52-53.

[7] อรรถวิโรจน์  ศรีตุลา, “ดวงดังวันนี้”  เดลินิวส์: 4 พฤษภาคม 2540, . 23.

[8] มาลัย (นามแฝง), กำเนิดเทวดา (กรุงเทพฯ: บวรสารการพิมพ์, มปป.), . 56.

[9] มาลัย (นามแฝง), กำเนิดเทวดา (กรุงเทพฯ: บวรสารการพิมพ์, มปป.), . 56.

[10] http://www.rit.ac.th/homepage-sc/charud/scibook/eclipse/index12.htm

[11] http://www.kirdkao.org/education/lunar_eclipse.doc

[12] http://www.rit.ac.th/homepage-sc/charud/scibook/eclipse/index12.htm

[13] http://www.kirdkao.org/education/lunar_eclipse.doc

[14] ละเอียด  ศิลาน้อย, สุริยุปราคาฝากฟ้าสยาม (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ดอกหญ้า,2538), .93.

[15] ไพศาล วงษ์ศิริ, “สุริยุปราคา: อิทธิพลต่อชีวิตไทยในยุคโลกาภิวัตน์สุริยุปราคาฝากฟ้าสยาม, บรรณาธิการ: โอภาส  ศรีสะอาด, (อยุธยา: โรงพิมพ์เทียนวัฒนา, 2538), . 61.62.

[16] สำนักราชเลขาธิการ, ราชกิจจานุเบกษา ในรัชการที่ 4 (กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง, 2537), . 187-188.

[17] พวงผกา  คุโรวาท, ศิลปะและวัฒนธรรมไทย (กรุงเทพฯ: อมรการพิมพ์, 2530), . 32.

[18] มาลัย (นามแฝง), กำเนิดเทวดา, อ้างแล้ว, . 21.

[19] http://www.uniserv.buu.ac.th/article/reports4titles/humen/2543/20.doc

[20] http://www.rit.ac.th/homepage-sc/charud/scibook/eclipse/index12.htm

[21] http://www.kirdkao.org/education/lunar_eclipse.do

[22]ละเอียด  ศิลาน้อย, สุริยุปราคาฝากฟ้าสยาม (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ดอกหญ้า,2538), .93.

[23] ภานุ  บรุษรัตนพันธุ์, “ความเชื่อเรื่องสุริยุปราคาสารคดี 11, 129 (พฤศจิกายน 2538):  147-148.

[24] พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตโต), พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม, พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2528), . 138.

[25] ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน..2525 (กรุงเทพฯ:  อักษรเจริญทัศน์, 2525), . 474.

[26] มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, พระไตรปิฏก ฉบับภาษาไทย, เล่มที่  15 (กรุงเทพ: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2535), . 96-98.

[27] มหามกุฏราชวิทยาลัย, พระสูตรและอรรถกถาแปล, เล่มที่24 (กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2525), . 340-345.

[28] สมบัติ  พลายน้อย, “พระราหูสารานุกรมไทยภาคกลางฉบับธนาคารไทยพาณิชย์ 9 (2542): 6.

[29] มหามกุฎวิทยาลัย, ธมฺมปทฏฺฐกถาย  ปฐโม  ภาโค, พิมพ์ครั้งที่ 21 (กรุงเทพฯ: มหามกุฎราชวิทยาลัย, 2537), . 136.

[30] เสฐียรพงษ์  วรรณปก, คำบรรยายพระไตรปิฏก  (กรุงเทพฯ: หจก.หอรัตนชัยการพิมพ์, 2540), .101.

[31] พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตโต), พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม, อ้างแล้ว, . 111.

[32] ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน..2525, อ้างแล้ว, . 415.

[33] มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, พระไตรปิฏก ฉบับภาษาไทย, เล่มที่  15 (กรุงเทพ: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2535), . 359-363.

[34] มหามกุฏราชวิทยาลัย, ธมมปทฏฐกถาย สตตโม  ภาโค (กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2532), . 104.

(ที่มา: -)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕