หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » บทความวิชาการ » สันติวิธีตามแนววิถีธรรม
 
เข้าชม : ๗๗๙๗ ครั้ง

''สันติวิธีตามแนววิถีธรรม''
 
รองศาสตราจารย์ประณต นันทิยะกุล (2556)

            พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 สันติวิธี หมายถึง วิธีที่จะก่อให้เกิดความสงบ หรืออาจกล่าวได้ว่า ความสงบ เป็นความสุขที่เกิดจากสันติสุข หรือสันติวิธี

            ท่านมหาตะมะ คานธี ใช้หลักอหิงสา เป็นหลักการต่อสู้ด้วยสันติวิธี เป็นแนวทางการต่อสู้กับผู้มีอำนาจบารมีที่เหนือกว่า โดยยึดหลักสัตยาครหะ ใช้ความรัก ความเมตตา กรุณา จิตใจที่บริสุทธิ์เป็นเครื่องมือ แต่ยอมรับความเจ็บปวดที่จะเกิดขึ้นอย่างเต็มใจ ท่านมหาตะมะ คานธี เห็นว่า ผู้มีความกล้าหาญและจิตใจที่แข็งแกร่งเท่านั้นจึงจะทำได้

            หลักการสำคัญของการต่อสู้โดยสันติวิธี เริ่มต้นจากการประนีประนอมยอมความ เจรจาต่อรอง เมื่อไม่สำเร็จขั้นต่อไป คือ ความไม่ร่วมมือ ปัจจุบันนิยมใช้ อารยะขัดขืน เป็นการต่อสู้โดยมีเป้าหมายเพื่อความเป็นธรรม มีการกระตุ้นให้สังคม โดยรวมเห็นว่ามีความอยุติธรรมเกิดขึ้น เห็นผิดเป็นชอบ ใช้อำนาจเกินขอบเขต มีการละเมิดกฎหมาย เป็นการทำลายระบบคุณธรรมและจริยธรรม

            ขั้นต่อไปของการต่อสู้ตามหลักอหิงสา คือ การเดินขบวนประท้วง หรือ การใช้อนุญาโตตุลาการ เป็นผู้ตัดสินชี้ขาด หากยังไม่เป็นผลขั้นต่อไป คือ การนัดหยุดงาน เลิกติดต่อซื้อขาย เลิกสมาคม จนถึงไม่ยอมเชื่อฟัง ไม่ยอมปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่เสียภาษี ฯลฯ และเนรเทศ ตนเองออกไปเสียจากถิ่นที่อยู่อาศัย ขั้นสุดท้ายเป็นขั้นที่ทำได้ยาก เมื่อไม่มีวิธีใดจะขัดขืนหรือสู้กับผู้มีอำนาจเหนือกว่าก็คือ การอดอาหารเป็นการทรมานตนเองให้ได้รับความทุกข์ ความเจ็บปวด เพื่อแลกกับอธรรม ความไม่ถูกต้อง และผู้มีอำนาจใช้อำนาจกดขี่เอารัดเอาเปรียบผู้ด้อยกว่าและไม่มีทางต่อสู้ ซึ่งวิธีการดังกล่าว ท่านมหาตะมะ คานธี ได้นำมาใช้ต่อสู้กับประเทศอังกฤษจนประสบความสำเสร็จ

            จะเห็นได้ว่าการต่อสู้โดยสันติวิธี เป็นการต่อสู้โดยสงบ เคารพในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ช่วยกันแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน จึงจะได้ผลอย่างสันติวิธี

            การออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม แบบสุดซอยเป็นตัวอย่างหนึ่งของความขัดแย้งบานปลาย ซึ่งเริ่มมีความขัดแย้งระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน ความขัดแย้งในสภาผู้แทนราษฎร ความขัดแย้งในวุฒิสภา กลายเป็นการต่อสู้ขัดแย้งของมวลชนสองฝ่าย จนกลายเป็นการต่อสู้ขัดแย้งเรื้อรังแบบสุดซอย ในระยะต่อมาเมื่อถึงขั้นนั้นยังนึกไม่ออกว่า บ้านเมืองของเราจะบอบช้ำแค่ไหน หรืออาจถึงขั้นเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองล่มสลาย แบบสุดซอยก็อาจจะเกิดขึ้นได้

            อย่างไรก็ดี ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ประชาชนคนในประเทศอยู่ร่วมกันอย่างอยู่เย็นเป็นสุข มีความรักความสามัคคี ประเทศชาติมีความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและการเมืองไม่ล่มสลาย

            ผู้นำที่เป็นผู้บริหารประเทศก็ดี สมาชิกรัฐสภา ผู้ทรงเกรียติก็ดี ถ้าได้คนดีมีความประพฤติดี คิดดี ทำดี เป็นผู้ที่ควรแก่การยกย่องสรรเสริญ เป็นคนที่มีความกตัญญูรู้คุณแผ่นดิน หรือเป็นคนที่ได้ชื่อว่าเป็น สัตบุรุษ อันเป็นเครื่องหมายของคนดี มาเป็นผู้บริหารประเทศ มาเป็นผู้ออกกฎหมายใช้บังคับที่เป็นธรรมอย่างเสมอต้นเสมอปลาย สังคม ประเทศชาติ และประชาชนก็จะมีแต่ความสุข ความรัก ความสามัคคี ปรองดอง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยถ้วนหน้า

            คนที่กล่าวถึงนี้เป็นคนดีที่เรียกว่า สัตบุรุษ มีคุณสมบัติ 7 ประการ ได้แก่ 1) เป็นผู้รู้จักเหตุ 2) รู้จักผล 3) รู้จักตน 4) รู้จักประมาณ 5) รู้จักกาลเวลา 6) รู้จักชุมชน 7) รู้จักเลือกบุคคล รู้จักเลือกคนดี เข้ามาทำหน้าที่ปกครองบ้านเมือง

            ดังนั้น ถ้าได้คนดี คนที่เรียกว่า สัตบุรุษ มาทำหน้าที่ บ้านนี้เมืองนี้ก็จะประสบพบแต่สิ่งที่ดีงาม ไพร่ฟ้า ข้าแผ่นดิน ก็จะมีแต่ความสงบสุข ประเทศชาติก็จะมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง

            กระบวนการบริหารประเทศก็ดี การออกกฎหมายมาบังคับใช้ก็ดี เมื่อเราได้คนดี คือ สัตบุรุษ หากนำหลักสาราณียธรรม คือ ธรรมที่ทำให้ระลึกถึงกัน พึงปฏิบัติต่อกันและอยู่ร่วมกันอย่างสันติวิธี ได้แก่ 1) กายกรรม ช่วยกันทำกิจธุระของกันและกัน 2 ) วจีกรรม มีวาจาอ่อนหวาน ทำดีก็สรรเสริญ หากทำไม่ถูกต้องก็สั่งสอนกันด้วยวาจาที่สุภาพ 3) มโนกรรม มีจิตเมตตาต่อกัน คิดถึงแต่ประโยชน์ส่วนรวมร่วมกัน เมื่อทำกิจการงานอันใดสำเร็จก็แสดงความยินดีด้วยความจริงใจ 4) แบ่งปันกัน เมื่อได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้ลาภผลมาโดยสุจริต ควรแบ่งปันกันไม่เก็บไว้แต่เพียงผู้เดียว 5) ปฏิบัติเสมอกัน มีจิตเที่ยงธรรม ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียมแห่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 6) ความเห็นร่วมกัน ไม่ทะเลาะวิวาทกันเมื่อความเห็นไม่ตรงกัน ต้องประชุมปรึกษาหารือกันอย่างสันติวิธี

            หากผู้บริหารนำหลักธรรมดังกล่าวมาใช้กับการบริหารในทุกระดับ ปัญหาต่าง ๆ ก็จะสามารถแก้ไขได้ ความสามัคคี ปรองดองย่อมเกิดขึ้นได้

            วิถีธรรมนำทางสู่สันติ ของผู้บริหารประเทศไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ หรือองค์กรอิสระ ผู้ใช้อำนาจนำ มรรคมีองค์ 8 คือ ทางปฏิบัติที่ดี ที่ชอบ ที่ผู้นำประเทศต้องประพฤติปฏิบัติให้ครบถ้วน มี 8 ประการคือ 1) ความเห็นชอบ ใช้ปัญญาแยกแยะสิ่งที่ดีสิ่งที่ชั่ว และนำสิ่งที่ดีมาปฏิบัติ 2) ดำริชอบ พูดและทำสิ่งที่ดีงามให้ประเทศชาติประสบแต่สิ่งที่ดีงาม 3) เจรจาชอบ วาจาอ่อนหวาน พูดในสิ่งที่ควรพูด เจรจาในสิ่งที่ควรเจรจา 4) การงานชอบ ทำในสิ่งที่ดีงามเกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมและประเทศชาติ 5) เลี้ยงชีพชอบ ประกอบสัมมาอาชีพที่สุจริต 6) ความเพียรชอบ พยายามสร้างความดีที่ยังไม่เกิดให้เกิด และรักษาความดีที่มีอยู่ให้คงอยู่ ยั่งยืนสถาพร 7) ระลึกชอบ ระลึกอยู่เสมอว่าขณะนี้เรากำลังทำอะไรอยู่หากกำลังทำดีให้ทำต่อไป หากกำลังทำไม่ดีก็ให้ละเว้นเสีย 8) ตั้งใจไว้ชอบ ชาตินี้ตั้งใจไว้ว่าจะทำดี จะทำแต่สิ่งที่ดีงาม ถูกต้อง เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนและประเทศชาติ

            ดังตัวอย่างที่จะขอยกพระเจ้าอโศกมหาราชจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ของชาวอินเดีย ที่เป็นนักรบผู้ยิ่งใหญ่ ใช้ความรุนแรง คือ การทำสงครามแล้วผนวกดินแดน ยึดทรัพย์สินเงินทอง ผู้คน มาเป็นของพระองค์ ท่ามกลางความเสียหาย ผู้คนล้มตายอย่างมหาศาลของทั้งสองฝ่าย พระองค์ทรงรู้สึกโทมนัสอย่างสุดแสนสาหัส และต่อมาได้ศึกษาค้นพบ แนววิถีธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้เปลี่ยนแนววิถีชีวิตแบบใช้ความรุนแรง คือ การทำสงครามมาเป็นแบบธรรมราชา อาศัยความเมตตา กรุณา มุฑิตา อุเบกขา เป็นธรรมนำทาง นำความสุข สวัสดี มาสู่ไพร่ฟ้าประชาชนชาวอินเดียอย่างอเนกอนันต์ และยังได้เผยแผ่พระพุทธศาสนาขจรขจายไปทั่วโลกจนทุกวันนี้ได้รับการยกย่องสรรเสริญเป็น มหาราช ผู้ยิ่งใหญ่ของโลก โดยใช้วิธีการ สันติวิธีตามแนววิถีธรรม

            ประเทศไทยเราขณะนี้มีความขัดแย้งและนับวันจะมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น หากจะนำบทเรียนตามที่พระเจ้าอโศกมหาราช ได้ทรงปฏิบัติและเปลี่ยนเป็นแนววิถีธรรมมาเป็นแบบใช้กับสังคมไทยก็จะก่อให้เกิดสันติสุขสถาพรสืบไป

(ที่มา: คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕