หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » นายภัชรบถ ฤทธิ์เต็ม » รูปแบบการจัดการท่องเที่ยวเชิงศาสนาและวัฒนธรรมในวัด
 
เข้าชม : ๒๙๕๐๙ ครั้ง

''รูปแบบการจัดการท่องเที่ยวเชิงศาสนาและวัฒนธรรมในวัด''
 
นายภัชรบถ ฤทธิ์เต็ม (2556)

 

รูปแบบการจัดการท่องเที่ยวเชิงศาสนาและวัฒนธรรมในวัด

Tourism Management Model of Religious and

Cultural in Buddhist Temple

 

นายภัชรบถ  ฤทธิ์เต็ม

พธ.. (สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา) เกียรตินิยมอันดับ ๑,

ร.บ. (ทฤษฎีและเทคนิคทางรัฐศาสตร์), พธ.ม. (พระพุทธศาสนา)

 

บทคัดย่อ

 

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพและความพึงพอใจของการท่องเที่ยววัดในจังหวัดเชียงใหม่ และรูปแบบการจัดการท่องเที่ยวในวัดในจังหวัดเชียงใหม่  เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร (Documentary Research) การวิจัยภาคสนาม (Survey Research) โดยใช้วิธีการแบบสอบถาม (Questionnaire) กับกลุ่มตัวอย่างจำนวน ๔๐๐ คน การสัมภาษณ์ (Interview) ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และการสังเกตการณ์ (Observation) พื้นที่วัดท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ คือ การแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัย พบว่า

จังหวัดเชียงใหม่ มีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ โบราณสถาน โบราณวัตถุ โดยเฉพาะกลุ่มแหล่งท่องเที่ยววัดในตัวเมืองเชียงใหม่ ประกอบด้วยแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ คือ วัดต่าง ๆ รวม ๘๖ วัด มีวัดที่สำคัญและมีชื่อเสียง เช่น วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรมหาวิหาร วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร วัดเจดีย์หลวง วัดสวนดอก วัดเจ็ดยอด วัดเชียงยืน เป็นต้น ดังนั้น การที่นักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนเชียงใหม่เป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาความเสื่อมโทรมของแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งมีถึง ๑๓ แห่งในจังหวัดเชียงใหม่ เช่น วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรมหาวิหาร วัดเจดีย์หลวง วัดถ้ำเชียงดาว เป็นต้น ทำให้เกิดปัญหาด้านการท่องเที่ยว ๕ ประเด็นหลัก คือ ปัญหาด้านอุปทานทางการท่องเที่ยว ปัญหาการพัฒนาสถานที่และสินค้าของการท่องเที่ยว ปัญหาด้านบุคลากรการท่องเที่ยว ปัญหาสภาพแวดล้อม และปัญหาด้านนโยบายการท่องเที่ยว

จากผลการสำรวจความพึงพอใจการท่องเที่ยววัดในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่า นักท่องเที่ยวมีความพึงพอใจต่อสถานที่ท่องเที่ยวและการจัดการท่องเที่ยว อยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ย .๔๒ เรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อย ดังนี้ ด้านทรัพยากรการท่องเที่ยว อยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ย .๖๖ และด้านสิ่งอำนวยความสะดวก ค่าเฉลี่ย .๔๗ ส่วนความพึงพอใจในระดับปานกลาง เรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อย  ดังนี้ ด้านกลยุทธ์การท่องเที่ยว ค่าเฉลี่ย .๓๔ ด้านบุคลากร ค่าเฉลี่ย ๓.๒๗ และด้านประชาสัมพันธ์ ค่าเฉลี่ย ๒.๘๗

นักท่องเที่ยวมีความเห็นว่าสิ่งที่วัดควรปรับปรุง เรียงตามลำดับ ๓ ลำดับจากมากไปหาน้อย ดังนี้ การจัดหาถังขยะและจัดระเบียบสถานที่ทิ้งขยะให้เพียงพอ ร้อยละ ๗๙.๘ การดูแลรักษาความสะอาดของห้องน้ำ ร้อยละ ๗๔.๐ และ ควรมีแผนผังแสดงแหล่งท่องเที่ยวในวัด ร้อยละ ๖๐.

จากผลการศึกษารูปแบบการจัดการท่องเที่ยวในวัด สรุปได้ดังนี้

๑. การจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยว ได้แก่ การจัดทำผังการใช้สอยพื้นที่ของวัด การจัดทำแผนพัฒนาวัดทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และการจัดทำแผนพัฒนาฟื้นฟูโบราณสถานหรือวัดร้าง

๒. การจัดการระบบสื่อความหมาย ได้แก่ การจัดทำข้อมูลและฐานข้อมูลของวัดในระบบสารสนเทศ และการประชาสัมพันธ์กิจกรรมของวัดในวันสำคัญหรือเทศกาลสำคัญ

๓. การจัดการบุคลากรการท่องเที่ยว ได้แก่ การพัฒนาบุคลากรของวัดในด้านการท่องเที่ยว และการพัฒนาจริยธรรมการท่องเที่ยวในวัด

 

Abstract

 

The aims of this research aims were to study an environment and the tourist satisfaction of the temple and management of the tourist in Chiang Mai province. This research was documentary research and survey research by using the questionnaire with the samples 400 people, the interviews and observation of the environment of the temple in Chiangmai province. The data analysis was frequency, percentage, mean and standard Deviation. The results of analysis data were found as the following:

The ancient places, the antiquities in Chiangmai province and especially, the place of tourist attraction the temple in Chiangmai, consisted of the important place in the history. There are 86 temples; such as; Wat Phrathat Doi Suthep,  Wat Phrasing Waramahavihan, Wat Chedi Luang, Wat Suandok, Wat Jedyod,and ChiangYuen etc. thus, there are many tourist  in Chiangmai. There were 13 temples of the declined areas, such as Wat Phrathat Doisuthep, Wat Chedi Luang, Wat ThamChaingDao etc. There were 5 main problems for the tourist. 1) The problem in the supply of tourist, 2) the problem of the management and products, 3) the problem of the tourist, 4) the problem of environment,  5) the problem of the policy in tourism.

The results of the tourist satisfaction of the temple in Chiangmai, were founded; the tourist satisfy to the tourist attraction place and management of the tourist showed at 3.42 percent which put them in order to least; the Tourist resources showed at 3.66. The Facilities showed at 3.47.  The Strategy of the tourist showed 3.34. The Personnel of Tourist showed at 3.27 and the Advertisement showed at 2.87.

The tourists give an opinion that should improve, provide of trash and garbage showed at 78.8 The Maintaining the cleanliness of the bathroom showed at 74.0 and the map of the temple should be provided at 60.3.

The results of study tourist management were founded;

1. The tourist resource management was the proportional management and the development the temple area which is considered in short and long term. This is included the reparation of Archaeological site or abandoned temple.

2. The meaningful management system was the preparation of the temple information and data base information systems and publicity for the important day in Buddhism.

3. The Personnel Management, the development of the tourist sectors were improved in the tourism and moral development of the tourism.

 

บทนำ

 

สถาบันพระพุทธศาสนาได้มีบทบาทอันสำคัญยิ่งต่อสังคมไทยมานานนับพันปี เพราะวัดเป็นศูนย์กลางของสังคม และพระสงฆ์ซึ่งเป็นตัวแทนของวัดเป็นผู้นำของจิตใจของประชาชนเป็นศูนย์รวมแห่งความเชื่อถือการร่วมมือกัน เป็นที่ประกอบพิธีกรรม เป็นเบ้าหล่อหลอมวิถีชีวิตชาวพุทธไทย[1]วัดเป็นแหล่งรวมของศิลปกรรมอันล้ำค่าทั้งด้านสถาปัตยกรรม ปฏิมากรรมและจิตรกรรม ที่ศิลปินได้ถ่ายทอดลักษณะเด่นของคำสอนทางพระพุทธศาสนาออกมาในงานศิลปอย่างกลมกลืนน่าชื่นชมเป็นพุทธศิลป์ที่ให้คุณค่าทั้งด้านความงามและทั้งเป็นสื่อให้คนได้เข้าถึงธรรมปฏิบัติซึ่งช่วยกล่อมเกลาจิตใจมนุษย์ให้อ่อนโยนและสะอาดบริสุทธิ์ขึ้น พุทธศิลป์ที่ปรากฏในวัดจึงเป็นศิลปะแห่งอุดมคติที่ให้คุณค่าและความหมายเชิงจริยธรรมอย่างสูง

ด้วยความเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าเช่นนี้ วัดจึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญมาตั้งแต่อดีตนับตั้งแต่ชนชั้นกษัตริย์ลงมาจนถึงสามัญชนนิยมที่เดินทางไปนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ยัง ศาสนสถานต่าง ๆ ด้วยถือว่าเป็นบุญ เป็นกุศล เป็นสิริมงคลในชีวิต เป็นประเพณีกษัตริย์ผู้ขึ้นครองราชย์ในสมัยอยุธยา จะต้องเสด็จไปนมัสการศาสนสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาในฐานะพุทธมามกะกษัตริย์ เช่น สมเด็จพระเอกาทศรถ เสด็จไปนมัสการพระพุทธชินราช ใน พ.ศ. ๒๑๓๘[2] และการเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาทที่สระบุรีของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ในปี พ.ศ. ๒๑๗๕[3] เป็นต้น ส่วนสามัญชนก็พากันไปทำบุญที่วัดในโอกาสต่าง ๆ และพาลูกหลานไปวิ่งเล่นในลานวัด

มูลเหตุการมีวัด ในสมัยพุทธกาลระยะเริ่มแรกนั้นพระสงฆ์ยังไม่มีที่อยู่อาศัยประจำ ได้จาริกไปเพื่อเผยแผ่หลักธรรมศาสนา การเกิดวัดขึ้นครั้งแรกนั้น เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วและได้เริ่มบำเพ็ญพุทธกิจก็ได้เสด็จไปสู่กรุงราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสารทราบข่าวก็ได้เสด็จมาเข้าเฝ้าพร้อมทั้งข้าราชบริพาร  พระพุทธเจ้าจึงแสดงธรรมโปรดจนพระเจ้าพิมพิสารและข้าราชบริพารได้ดวงตาเห็นธรรม  ซึ่งนับเป็นการยังความปรารถนาของพระองค์ให้สำเร็จ และพระองค์ได้ทรงเลื่อมใสและได้ประกาศเป็นอุบาสก

ครั้งนั้นพระเจ้าพิมพิสาร ได้ถวายสวนไผ่ซึ่งเป็นพระราชอุทยานแห่งหนึ่งของพระองค์ให้เป็นปฐมอารามคือวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระสงฆ์สาวก ด้วยพระดำรัสว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอถวายสวนเวฬุวันนั่นแด่พระสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขพระเจ้าข้าพระพุทธองค์ทรงรับอารามนั้นแล้วทรงแสดงธรรมีกถาให้พระเจ้าพิมพสารสมาทานอาจหาญรื่นเริงแล้วทรงรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตอาราม[4] จึงถือได้ว่าสวนเวฬุวันเป็นวัดแห่งแรกในทางพุทธศาสนาและเป็นต้นเหตุให้พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตการมีวัดเป็นที่อยู่อาศัยแก่พระสงฆ์สืบต่อมา ซึ่งลักษณะดั้งเดิมของวัดนั้น ปรากฏอยู่ในพระดำริของพระเจ้าพิมพิสารก่อนที่จะถวายพระราชอุทยานเวฬุวันแก่พระพุทธเจ้าว่า

พระผู้มีพระภาคพึงประทับที่ไหนหนอแล จึงจะเป็นสถานที่ไม่ไกลจากหมู่บ้านมีการคมนาคมสะดวกแก่ประชาชนผู้มีความประสงค์จะไปเฝ้าได้ กลางวันไม่พลุกพล่าน กลางคืนเงียบสงัด เสียงไม่กึกก้อง ปราศจากลมจากคนผู้เดินเข้าออก ควรเป็นที่ประกอบกิจของผู้ต้องการที่สงัด และควรเป็นที่หลีกเร้นอยู่ตามสมณวิสัย[5]

ต่อมาได้มีการสร้างวัดอีกหลายวัด โดยนางวิสาขามหาอุบาสิกา สร้างวัดปุพพารามที่เมืองสาวัตถี มีปราสาท เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าเสนาสนะสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ภายในวัดอยู่ภายใต้การควบคุมการก่อสร้างโดยพระโมคคัลลานะ นอกจากนี้ในครั้งพุทธกาล ยังมีวัดสำคัญ ๆ ที่ปรากฏในคัมภีร์อีหลายวัด คือ วัดชีวกัมพวัน ที่เมืองราชคฤห์ ถวายโดยหมอชีวกโกมารภัจจ์ วัดโฆษิตาราม ที่เมืองโกสัมพี ถวายโดยโฆสกเศรษฐี วัดนิโครธาราม ที่เมืองกบิลพัสดุ์ ถวายโดยพวกเจ้าศากยวงศ์ วัดอัมพปาลีวัน ที่เมืองเวสาลี ถวายโดยหญิงโสเภณีชื่ออัมพปาลี เป็นต้น

บทบาทของวัดในการท่องเที่ยวมีปรากฏมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ในพระวินัยปิฎก เล่มที่ ๑ มหาวิภังค์ เตรสกัณฑ์ ว่าด้วยอาบัติสังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๒ เรื่องเล่าว่า พระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร กล่าวถึงวิหารของพระอุทายีว่ามีความงดงาม และสะอาดเรียบร้อย มักมีผู้คนเดินทางมาชมวิหารเป็นอันมาก พราหมณ์ผู้หนึ่งก็พาภริยามาเที่ยวชม พระอุทายีเป็นมัคคุเทศก์พาเที่ยวชม ให้พราหมณ์เดินนำหน้า ภริยาเดินตามหลัง พระอุทายีเลยถือโอกาสจับต้องกายของภริยาพราหมณ์ นางจึงบอกแก่พราหมณ์ พราหมณ์โกรธไปกราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามภิกษุจับต้องกายหญิง ปรับอาบัติสังฆาทิเสสแก่ผู้ล่วงละเมิด  นับเป็นหลักฐานชิ้นหนึ่งที่แสดงร่องรอยว่าวัดเริ่มมีบทบาทในฐานะสถานที่ท่องเที่ยวของประชาชน

หลังจากที่พระพุทธศาสนาเผยแผ่เข้าสู่ดินแดนประเทศไทย อาจนับได้ตั้งแต่ที่ชาวชมพูทวีปเรียกขานดินแดนแห่งนี้ว่า สุวรรณภูมิการเข้ามาของพระพุทธศาสนามาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๓ ครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งสมณฑูตจำนวน ๙ สาย สายหนึ่งนั้นได้ส่งพระโสณะและพระอุตตระมาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิ และปรากฏความรุ่งเรืองเรื่อยมา ปรากฏมีเจติยสถานอันเก่าแก่เป็นจำนวนมากมีอายุเกินกว่า ๑,๐๐๐ ปี เช่น พระปฐมเจดีย์ พระธาตุพนม พระธาตุไชยา เป็นต้น เป็นหลักฐานชี้ว่า พระพุทธศาสนารุ่งเรืองในดินแดนแห่งนี้นานนับพันปีแล้ว บรรพบุรุษไทยนับถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ได้ใช้ภูมิปัญญาอันชาญฉลาดความเชี่ยวชาญในศาสตร์ต่าง ๆ ในกรอบแห่งพุทธธรรม สร้างสรรค์งานศิลปวัฒนธรรมอันล้ำค่าให้ตกทอดเป็นมรดกทรัพย์สินทางปัญญา และเป็นเอกลักษณ์ของชาติหยั่งรากลึกเป็นฐานสำคัญในการพัฒนาจิตใจพัฒนาสังคมและประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองตราบเท่าทุกวันนี้

วัดในปัจจุบันจึงเป็นศูนย์รวมของมรดกวัฒนธรรมและสรรพวิชาอันหลากหลายนับตั้งแต่โบราณกาล มีพระสงฆ์เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้อนุรักษ์สืบสาน และใช้ประโยชน์ในการประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา และกิจกรรมอื่น ๆ ของชุมชน ปัจจุบันสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป บทบาทของวัดและพระสงฆ์ลดลงไปจากเดิม แต่กระนั้น วัดและพระสงฆ์ก็ยังปรับเปลี่ยนบทบาทให้สอดคล้องกับสภาพสังคม โดยบทบาทหลักของวัดก็ยังคงเป็นสถานที่พำนักของพระสงฆ์สามเณร เป็นสถานที่ศึกษาเล่าเรียน ประพฤติปฏิบัติธรรม สืบทอดและเผยแผ่หลักธรรมคำสั่งสอน และยังมีฐานะเป็นแหล่งประดิษฐานและรวบรวมของมรดกทางศิลปวัฒนธรรมทั้งที่เป็นโบราณสถานโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ ตลอดถึงการเป็นศูนย์กลางในการประกอบประเพณีวัฒนธรรมของชุมชน ดังนั้น วัดจึงมีบทบาทอีกอย่างหนึ่งคือ เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งนี่เป็นอีกบทบาทหนึ่งของวัดที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยจึงได้กำหนดวัตถุประสงค์ของการศึกษาบทบาทของวัดตั้งแต่สมัยพุทธกาลจนถึงบทบาทของวัดในปัจจุบันในฐานะสถานที่ท่องเที่ยวเชิงศาสนาและวัฒนธรรม และการศึกษาวิจัยบทบาทของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในการจัดการท่องเที่ยววัดนั้นเป็นอย่างไร ในฐานะวัดเป็นศาสนสถานที่สำคัญคู่กับสังคมไทยมาช้านาน เป็นที่รวบรวมศิลปวัฒนธรรมอันเป็นวิถีชีวิตของพุทธศาสนิกชนชาวไทย วัดมีบทบาทที่สำคัญในการมีส่วนช่วยสร้างสรรค์สังคมไทยให้เจริญงอกงามและมีความผาสุก วิวัฒนาการบทบาทของวัดเปลี่ยนแปลงไปตามพัฒนาการของสังคม และในปัจจุบันบทบาทหนึ่งที่เพิ่มขึ้นมาคือเป็นแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจ โดยบางวัดมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ บางวัดมีพุทธศิลป์เป็นโบราณวัตถุสถานที่มีคุณค่าทางศิลปะ บางวัดเป็นแหล่งอำนวยประโยชน์แก่การประกอบพิธีกรรม ทำให้สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศให้เข้ามาเยือน จึงก่อให้เกิดกิจกรรมเพื่อการบริการต่างๆ สำหรับนักท่องเที่ยวในพื้นที่ของวัดหรือพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ที่จอดรถ ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก ร้านขายดอกไม้ธูปเทียน เป็นต้น ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา[6] ตลอดถึงการศึกษาวิจัยเพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการจัดการท่องเที่ยวในวัดให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมและประเพณีที่ดีงามของสังคมไทย ไม่ใช่เพียงการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวเพื่อทำรายได้ให้กับประเทศหรือท้องถิ่นจำนวนมากเท่านั้น จากความพยายามในการพัฒนาและส่งเสริมกิจการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหรือต่างถิ่นเดินทางเข้ามาใช้บริการมากยิ่งขึ้น เพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ที่พึงได้รับจากการท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี วิสัยทัศน์การท่องเที่ยวของประเทศไทยจะต้องไม่พึงหวังผลประโยชน์จากการเก็บเกี่ยวรายได้มหาศาลเข้าสู่ประเทศเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงสิ่งที่นักท่องเที่ยวได้รับไปด้วย ซึ่งคงไม่ใช่เพียงแค่การที่ได้เที่ยวชม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพและความพึงพอใจของการท่องเที่ยววัดในจังหวัดเชียงใหม่ และเพื่อศึกษารูปแบบการจัดการท่องเที่ยววัดในพระพุทธศาสนา

 

วิธีการวิจัย

 

การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร (Documentary Research) การวิจัยภาคสนาม (Survey Research) โดยใช้วิธีการแบบสอบถาม (Questionnaire) กับกลุ่มตัวอย่างจำนวน ๔๐๐ คน การสัมภาษณ์ (Interview) ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และการสังเกตการณ์ (Observation) พื้นที่วัดท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่  สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ คือ การแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการพรรณนาบรรยายสภาพการท่องเที่ยววัดในจังหวัดเชียงใหม่ และการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำเสนอรูปแบบการจัดการท่องเที่ยววัดในพระพุทธศาสนา

 

ผลการวิจัย

 

ผลการวิจัยสภาพการท่องเที่ยววัดในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่า ลักษณะพิเศษของการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะในเขตเมือง มีความเจริญทางธุรกิจการค้า การศึกษา และการบริการต่าง ๆ เป็นอันดับที่สองรองจากกรุงเทพมหานคร นอกจากนั้นเมืองเชียงใหม่ยังมีความเป็นมายาวนานนับแต่มีการก่อสร้างเมืองเมื่อ ปี พ.ศ.๑๘๓๙ เชียงใหม่เป็นเมืองหลักและศูนย์กลางความเจริญของภาคเหนือตามแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน มีความเป็นศูนย์กลางทั้งทางด้านการท่องเที่ยว ธุรกิจการค้า การอุตสาหกรรม การคมนาคมขนส่ง การศึกษา ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ศิลปะและวัฒนธรรมล้านนา โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวทำรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ ๖,๐๐๐ ล้านบาท และมีแนวโน้มในการเชื่อมโยงสู่ประเทศต่าง ๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่  จีน ลาว พม่า เวียดนาม และเขมร

จังหวัดเชียงใหม่มีแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่สำคัญของภาคเหนือ โดยมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในส่วนของโรงแรมและภัตตาคาร ผลิตภัณฑ์จังหวัดของเชียงใหม่ รายได้ต่อหัว จำนวนประชากร ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ๒๕๕๒ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผลิตภัณฑ์จังหวัดของจังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ยังคงมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น ๑๓๒,๐๙๘ ล้านบาท และรายได้ต่อหัวเป็น ๘๒,๗๕๒ บาทต่อหัว จากข้อมูลทางด้านการท่องเที่ยวจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยถึงสถานการณ์การท่องเที่ยว ปี พ.ศ. ๒๕๕๓ พบว่า สถานการณ์การท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ พบว่า มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น หากเทียบกับปี พ.ศ. ๒๕๕๒ โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๖.๐๗ ซึ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักของเชียงใหม่ สามารถแบ่งออกได้เป็น ๒ กลุ่ม คือ นักท่องเที่ยวชาวไทย และนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ซึ่งมีสัดส่วน ๗๐:๓๐

จังหวัดเชียงใหม่ มีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ โบราณสถาน โบราณวัตถุ โดยเฉพาะ กลุ่มแหล่งท่องเที่ยววัดในตัวเมืองเชียงใหม่ ประกอบด้วยแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ คือ วัดต่าง ๆ รวม ๘๖ วัด วัดที่สำคัญ คือ วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรมหาวิหาร วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร วัดเจดีย์หลวง วัดสวนดอก วัดเจ็ดยอด วัดเชียงยืน วัดชัยศรีภูมิ วัดบุพผาราม วัดชัยมงคล วัดนันทาราม วัดร่ำเปิง (ตโปทาราม) วัดแสนฝาง วัดพันเตา วัดพันอ้น และวัดที่มีชื่อเป็นมงคลตามคติความเชื่อ เช่น วัดหมื่นล้าน วัดหมื่นเงินกอง วัดหม้อคำตวง วัดดวงดี วัดลอยเคราะห์ วัดดับภัย วัดชัยพระเกียรติ

ดังนั้น การที่นักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนเชียงใหม่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในบางฤดูกาลดังกล่าวข้างต้น กอปรกับนโยบายของภาครัฐที่มุ่งเน้นให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ด้วยการใช้ทรัพยากรในแหล่งท่องเที่ยวเป็นจุดขาย โดยไม่คำนึงถึงความพร้อมและขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวทั้งทางกายและทางสังคมในแหล่งท่องเที่ยว ทำให้เกิดปัญหาความเสื่อมโทรมของแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งมีถึง ๑๓ แห่งในจังหวัดเชียงใหม่ เช่น วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรมหาวิหาร อุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย ถ้ำเชียงดาว และวัดเจดีย์หลวง เป็นต้น ซึ่งส่งผลกระทบทำให้เกิดปัญหาด้านการท่องเที่ยว ๕ ประเด็นหลัก คือ ปัญหาด้านอุปทานทางการท่องเที่ยว ปัญหาการพัฒนาสถานที่และสินค้าของการท่องเที่ยว ปัญหาด้านบุคลากรการท่องเที่ยว ปัญหาสภาพแวดล้อม และปัญหาด้านนโยบายการท่องเที่ยว

จากผลการสำรวจความพึงพอใจการท่องเที่ยววัดในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่า ปัจจัยด้านคุณลักษณะส่วนบุคคล นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ เป็นเพศหญิง ร้อยละ ๕๔.๐ เพศชาย ร้อยละ ๔๖.๐ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีอายุน้อย คือ อายุระหว่าง ๒๑- ๓๐ ปี ร้อยละ ๓๐.๘ รองลงมาคือ ๑๑ ๒๐ ปี ร้อยละ ๒๔.๘  เป็นนักท่องเที่ยวประเทศไทย ภาคเหนือ ร้อยละ ๑๖.๐ รองลงมาคือ ภาคกลาง ร้อยละ ๑๔.๐ ส่วนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรป ร้อยละ ๑๖.๕ และชาวอเมริกาเหนือ ร้อยละ ๑๖.๓ ส่วนใหญ่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ร้อยละ ๓๕.๘ รองลงมาคือ มัธยมศึกษา/อาชีวศึกษา ร้อยละ ๓๓.๕ ประกอบอาชีพค้าขาย/เจ้าของกิจการ ร้อยละ ๑๙.๕ รองลงมาคือ พนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ ๑๘.๘ และเป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ ๑๕.๘ มีรายได้ต่อเดือน ๑๐,๐๐๑ ๑๕,๐๐๐ บาท ร้อยละ ๒๖.๘ รองลงมาคือ ๑๕,๐๐๑ ๒๐,๐๐๐ บาท ร้อยละ ๒๕.๘  เหตุผลในการตัดสินใจเลือกแหล่งท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวมีความเห็นว่า  ความคุ้มค่าของเงินที่ใช้ในการเดินทางไปเที่ยว ร้อยละ ๒๑.๓ รองลงมาคือ ความสวยงามของสถานที่ท่องเที่ยว ร้อยละ ๑๘.๘ และความน่าสนใจของสถานที่ท่องเที่ยว ร้อยละ ๑๖.๐ ตามลำดับ

เหตุผลหลักที่มาเที่ยวในวัด คือ  ทำกิจกรรมทางศาสนา (ทำบุญ/บริจาคทาน/สวดมนต์ไหว้พระ/บูชาศาสนสถาน) ร้อยละ ๒๖.๓ รองลงมาคือ มีพักผ่อนหย่อนใจร้อยละ ๒๒.๘ และสนใจศึกษาประวัติศาสตร์และความสำคัญของวัด ร้อยละ ๑๘.๓ โดยรู้จักผ่านสื่อ คือ เป็นคนในพื้นที่ ร้อยละ ๑๖.๘ รองลงมาคือ สื่อวิทยุ/สื่อโทรทัศน์ ร้อยละ ๑๙.๐ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร้อยละ ๑๔.๘ และมีจำนวนใกล้เคียงกัน คือ อินเตอร์เน็ต ร้อยละ ๑๔.๕ มีความพึงพอใจศาสนสถานและศาสนวัตถุ คือ เจดีย์ ร้อยละ ๒๙.๐ รองลงมาคือ พระพุทธรูป ร้อยละ ๒๖.๐ และโบสถ์-วิหาร ร้อยละ ๒๑.๐ มีประสบการณ์การมาเที่ยวที่วัด คือ มาครั้งแรก ร้อยละ ๖๔.๐ รองลงมาคือ ๒ ๕ ครั้ง ร้อยละ ๒๙.๘ และความรู้สึกในการกลับมาเที่ยวชมอีกครั้ง ร้อยละ ๖๑.๕ รองลงมาคือ ไม่แน่ใจ ร้อยละ ๓๕.๕ และไม่มา ร้อยละ ๓.๐

นักท่องเที่ยวมีความพึงพอใจต่อสถานที่ท่องเที่ยวและการจัดการท่องเที่ยวรวมด้าน อยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ย ๓.๔๒ เรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อย ดังนี้ ด้านทรัพยากรการท่องเที่ยว อยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ย ๓.๖๖ และด้านสิ่งอำนวยความสะดวก ค่าเฉลี่ย ๓.๔๗ ส่วนความพึงพอใจในระดับปานกลาง เรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อย ดังนี้ ด้านกลยุทธ์การท่องเที่ยว ค่าเฉลี่ย ๓.๓๔ ด้านบุคลากร ค่าเฉลี่ย ๓.๒๗ และด้านประชาสัมพันธ์ ค่าเฉลี่ย ๒.๘๗

นักท่องเที่ยวมีความเห็นว่าสิ่งที่วัดควรปรับปรุง เรียงตามลำดับ ๓ ลำดับจากมากไปหาน้อย ดังนี้ การจัดหาถังขยะและจัดระเบียบสถานที่ทิ้งขยะให้เพียงพอ ร้อยละ ๗๙.๘ การดูแลรักษาความสะอาดของห้องน้ำ ร้อยละ ๗๔.๐ และควรมีแผนผังแสดงแหล่งท่องเที่ยวในวัด ร้อยละ ๖๐.๓

ข้อเสนอแนะที่วัดควรปรับปรุง จากการประมวลสรุปจำแนกได้เป็นประเด็นใหญ่ ๆ คือ

๑) ปัญหาความเสื่อมโทรมของวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว

๒) ปัญหาด้านสาธารณูปโภคและสวัสดิภาพของนักท่องเที่ยว

๓) ปัญหาการรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม

๔) ปัญหาด้านการจัดการท่องเที่ยว

๕) ปัญหาการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการโดยท้องถิ่น

จากผลการศึกษารูปแบบการจัดการท่องเที่ยวในวัด สามารถประมวลสรุปได้ดังนี้

๑) รูปแบบการจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยวของวัด ได้แก่

๑.๑) การจัดทำผังการใช้สอยพื้นที่ของวัดตามบทบาทหน้าที่ เป็น ๓ เขต คือ เขต(๑) พุทธาวาส เป็นพื้นที่ตั้งของศาสนสถานสำคัญ (๒) เขตสังฆาวาส เป็นพื้นที่พักอาศัยของพระภิกษุสามเณร และ (๓) เขตธรณีสงฆ์เพื่อให้การบริการชุมชนหรือเขตสาธารณะ เป็นพื้นที่ที่ใช้เป็นสถานที่ตั้งของอาคารสิ่งก่อสร้างและกิจกรรมที่ให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปและนักท่องเที่ยว

๑.๒) การจัดทำแผนพัฒนาวัดทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ในเรื่องต่อไปนี้ (๑) การจัดทำแผนพัฒนาสิ่งก่อสร้างและการใช้ที่ดินในอนาคต (๒) การวางแผนการก่อสร้างสถาปัตยกรรมใหม่ (๓) การวางแผนพัฒนาสิ่งบริการที่จัดสร้างใหม่ (๔) การวางแผนจัดสภาพแวดล้อมของวัดใหม่ และ (๕) การจัดระเบียบของที่ตั้งให้บริการและกิจการอื่น ๆ

๑.๓) การจัดทำแผนพัฒนาฟื้นฟูโบราณสถานหรือวัดร้างในจังหวัดเชียงใหม่  ได้ข้อสรุปประเด็นแนวทางการฟื้นฟูวัดร้าง ดังนี้  (๑) การสนับสนุนในการจัดสรรงบประมาณเพื่อการบูรณปฏิสังขรณ์วัดร้าง (๒) ส่งเสริมสนับสนุนด้านการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปะและวัฒนธรรม (๓) ให้คำแนะนำ ประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ชุมชน (๔) บริหารงานการจัดประชุมเชิงวิชาการแก่เจ้าอาวาสตามโครงการต่าง ๆ เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญและคุณค่าของการพัฒนาฟื้นฟูวัดร้าง (๕) ติดตามประเมินผลการบูรณะ ฟื้นฟู ปฏิสังขรณ์วัดร้าง และ (๖) ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

๒) รูปแบบการจัดการด้านระบบสื่อความหมาย

๒.๑) การจัดทำข้อมูลและฐานข้อมูลของวัดที่ถูกต้องในการเผยแพร่ให้แก่นักท่องเที่ยว บริษัทท่องเที่ยว และการเผยแพร่ในฐานข้อมูลสารสนเทศ

๒.๒) การจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมของวัดในวันสำคัญหรือเทศกาลสำคัญต่าง ๆ

๓) รูปแบบการจัดการด้านบุคลากรการท่องเที่ยวของวัด มีประเด็นดังต่อไปนี้

๓.๑) การพัฒนาบุคลากรของวัดในด้านการท่องเที่ยว เช่น การจัดฝึกอบรมความรู้เกี่ยวกับมัคคุเทศก์แก่พระสงฆ์หรือบุคลากรภายในวัด

๓.๒) การพัฒนาจริยธรรมการท่องเที่ยวในวัด โดยยึดหลักกัลยาณมิตร ๗  เพื่อการปรับประยุกต์ใช้ในการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว ได้แก่  (๑) ทำตนให้เป็นที่รัก (๒) ทำตนให้เป็นที่น่าเคารพ (๓) น่าเจริญใจชวนให้ระลึกถึง (๔) รู้จักพูดและให้คำแนะนำที่ดี (๕) อดทนต่อถ้อยคำตำหนิพร้อมที่จะรับฟังและนำไปปฏิบัติ (๖) สามารถอธิบายเรื่องราวที่ยุ่งยากลุ่มลึกให้เข้าใจอย่างง่ายดาย  และ (๗) ไม่ชักนำหรือชักจูงในทางเสื่อมเสีย 

 

วิจารณ์

 

จังหวัดเชียงใหม่ มีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ โบราณสถาน โบราณวัตถุ โดยเฉพาะ กลุ่มแหล่งท่องเที่ยววัดในตัวเมืองเชียงใหม่ ประกอบด้วยแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ จำนวนมาก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างรายได้ในส่วนของโรงแรมและภัตตาคาร ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ในจังหวัด ซึ่งในปี พ.ศ.๒๕๕๒ ยังคงมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น ๑๓๒,๐๙๘ ล้านบาท มีรายได้ต่อหัวประชากร เป็น ๘๒,๗๕๒ บาท นอกจากนั้นแล้ว ยังก่อให้เกิดรายได้กับธุรกิจขนาดย่อยต่าง ๆ ภายในวัดจำนวนมาก ดังที่ วิวัฒน์ชัย บุญยภักดี (๒๕๓๑) กล่าวว่า การท่องเที่ยวในวัดก่อให้เกิดธุรกิจเพื่อการบริการต่าง ๆ สำหรับนักท่องเที่ยวขึ้นในพื้นที่ของวัดหรือพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ที่จอดรถ ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้านขายสินค้าของที่ระลึก ร้านขายดอกไม้ธูปเทียน เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวก็ก่อให้เกิดผลกระทบมากมายตามมา เช่น ปัญหาความเสื่อมโทรมของวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ปัญหาด้านสาธารณูปโภคและสวัสดิภาพของนักท่องเที่ยว ปัญหาการรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ปัญหาด้านการจัดการท่องเที่ยว และปัญหาการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการโดยท้องถิ่น ดังเช่นในงานศึกษาของ ชัยวุฒิ ตั้งสมชัย (๒๕๕๔) พบว่า สภาพปัญหาการท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ สามารถแยกได้เป็น ๕ ประเด็นหลัก ได้แก่ ๑) ปัญหาด้านอุปทานการท่องท่องเที่ยว ๒) ปัญหาการพัฒนาสถานที่และสินค้าของการท่องเที่ยว ๓) ปัญหาด้านบุคลากรการท่องเที่ยว ๔) ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน และ ๕) ปัญหาด้านนโยบายการท่องเที่ยวที่ขาดความต่อเนื่อง และในงานศึกษาของ มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด และคณะ (๒๕๔๘) พบว่า การจัดการท่องเที่ยวที่คาบเกี่ยวกันหลายหน่วยงาน เช่น วัดพระธาตุดอยสุเทพ การขาดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานจึงปัญหาในการการจัดการและบำรุงรักษาแหล่งท่องเที่ยวไม่มีประสิทธิภาพ  ดังนั้น การพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง โดยให้มีการหารือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จะเป็นกระบวนการพัฒนาที่จำเป็นในการสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรมให้มีความเข้มแข็งและเกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างยั่งยืนตลอดไป

ดังนั้น จากผลการศึกษารูปแบบการจัดการท่องเที่ยวในวัด จึงข้อสรุปว่า การจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยว ควรมีการจัดทำผังการใช้สอยพื้นที่ของวัด การจัดทำแผนพัฒนาวัดทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และการจัดทำแผนพัฒนาฟื้นฟูโบราณสถานหรือวัดร้าง การจัดการระบบสื่อความหมาย ได้แก่ การจัดทำข้อมูลและฐานข้อมูลของวัดในระบบสารสนเทศ และการประชาสัมพันธ์กิจกรรมของวัดในวันสำคัญหรือเทศกาลสำคัญ และการจัดการบุคลากรการท่องเที่ยว ได้แก่ การพัฒนาบุคลากรของวัดในด้านการท่องเที่ยว และการพัฒนาจริยธรรมการท่องเที่ยวในวัด ดังเช่นในงานศึกษาของ วรสิกา อังกูร และคณะ (๒๕๔๗) ซึ่งเสนอว่า ในการจัดการแหล่งเรียนรู้ คือ การจัดการด้านข้อมูล บุคลากร ทักษะและเทคนิควิธีในการถ่ายทอด การดูแลรักษาองค์ความรู้ที่จารึกอยู่ตามโบราณสถาน และด้านสถานที่ โดยเฉพาะพระสงฆ์ที่ดูแลรับผิดชอบต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่องอนุรักษ์พุทธศิลป์ตรงกับนักวิชาการศิลปะ และนักวิชาการศิลปะมีความเห็นว่า วัดต้องใช้พุทธศิลป์ให้เกิดคุณค่าทางธรรมปฏิบัติแก่ผู้มาเที่ยวชมให้มากที่สุด

 

ข้อเสนอแนะ

 

๑. ข้อเสนอแนะในเชิงนโยบาย

๑.๑ ควรมีการจัดทำแผนพัฒนาการท่องเที่ยววัดในระดับภูมิภาคและจังหวัด โดยมีแผนการดำเนินงานร่วมกันหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะสงฆ์ หน่วยงานการท่องเที่ยวภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา และบริษัทท่องเที่ยวเอกชน รวมไปถึงองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นและชาวบ้านในชุมชน

๑.๒ ควรมีการจัดทำการประเมินการท่องเที่ยววัดในด้านสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม รวมไปถึงการควบคุมการก่อสร้างสถาปัตยกรรมที่ขัดแย้งกับวัฒนธรรมท้องถิ่น การอบรมให้ความรู้แก่พระสงฆ์และมัคคุเทศก์เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาความขัดแย้งทางวัฒนธรรม

๒ ข้อเสนอแนะในการวิจัย

๒.๑ ควรมีการศึกษาวิจัยการท่องเที่ยววัดในระดับภูมิภาคและระดับประเทศเพื่อประเมินผลการท่องเที่ยวด้านศาสนาและวัฒนธรรมในภาพรวม

๒.๒ ควรมีการศึกษาเพื่อพัฒนาวัดต้นแบบที่จัดการท่องเที่ยวเชิงศาสนาและวัฒนธรรม 

 

กิตติกรรมประกาศ

 

คณะผู้วิจัยขอนมัสการขอบคุณผู้บริหารและคณะกรรมการวิจัยของสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ ที่ได้พิจารณาให้ทุนอุดหนุนการวิจัยครั้งนี้ ขอขอบคุณคณะที่ปรึกษาโครงการวิจัยและผู้เชี่ยวชาญทุกท่านที่ได้ให้ความอนุเคราะห์ในการดำเนินการวิจัยเป็นอย่างดียิ่ง ตลอดถึงนักท่องเที่ยวและผู้ให้สัมภาษณ์ทุกท่านที่ให้ความร่วมมือในการดำเนินงานวิจัยให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

 

เอกสารอ้างอิง

 

๑.  ข้อมูลปฐมภูมิ

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, มหาวิทยาลัย. พระไตรปิฏกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.  กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.

๒. ข้อมูลทุติยภูมิ

๒.๑  หนังสือ 

พระมหาประยุทธ์ ปยุตฺโต.  พระพุทธศาสนากับสังคมไทยในปัจจุบัน.  กรุงเทพมหานคร: สยามสมาคม, ๒๕๑๓.

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด).

พระนคร: สำนักพิมพ์คลังวิทยา, ๒๕๐๗.

๒.๒ เอกสารรายงานวิจัย

มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด และคณะ. “โครงการมูลค่าเพิ่มในประเทศของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทย”. รายงานวิจัย. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.),๒๕๔๘.

รสิกา อังกูร และคณะ. “รูปแบบการจัดการศึกษาและการเผยแผ่ศาสนธรรมของวัดในพระพุทธศาสนา กรณีศึกษาแหล่งการเรียนรู้ของวัดเชตุพนวิมลมังคลาราม

ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร”. รายงานวิจัย. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (สกศ.), ๒๕๔๖.

 

 

วรสิกา อังกูร และคณะวิจัย. “รูปแบบการจัดการศึกษาและการเผยแผ่ศาสนธรรมของวัดในพระพุทธศาสนา: กรณีศึกษาแหล่งการเรียนรู้ของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร”. รายงานวิจัย. กรุงเทพมหานคร. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์ พับลิชชิ่ง, ๒๕๔๗.

๒.๓ บทความ

วิวัฒน์ชัย บุญยภักดี, “วัด: จำเป็นอย่างไรจะต้องมีคู่มือพัฒนา”, จุลสารการท่องเที่ยว, (๗ (๑) ๗๓-๗๗.๒๕๓๑): หน้า ๗๔-๗๕.



[1] พระมหาประยุทธ์ ปยุตฺโต, พระพุทธศาสนากับสังคมไทยในปัจจุบัน, (กรุงเทพมหานคร: สยามสมาคม, ๒๕๑๓), หน้า ๔๕.

[2] พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด), (พระนคร : สำนักพิมพ์คลังวิทยา, ๒๕๐๗), หน้า ๓๐๑.

[3] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๔๑๓.

[4] วิ.มหา. (ไทย) ๔/๖๓/๕๕.

[5] วิ.มหา. (ไทย) ๔/๖๓/๕๕.

[6] วิวัฒน์ชัย บุญยภักดี, “วัด : จำเป็นอย่างไรจะต้องมีคู่มือพัฒนา”, จุลสารการท่องเที่ยว, (๗ (๑) ๗๓-๗๗.๒๕๓๑) : หน้า ๗๔-๗๕.

(ที่มา: บทความทางวิชาการ)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕