หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » Phra Soravit Aphipanyo (Duangchai) » ผลกระทบของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
 
เข้าชม : ๑๗๓๘๒ ครั้ง

''ผลกระทบของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์''
 
พระมหากลม ถาวโร,ดร. พระสรวิชญ์ อภิปญฺโญ (2556)

 (บทความวิจัย)

ผลกระทบของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปีพุทธศักราช 2551

ที่มีต่อวัดในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร

 

 

The Effects of Law on Alcohol B.E. 2550/AE2007

upon the Buddhist Temple in Bangkok

 

Dr.Phramaha Kamon tawalo

พระมหากลม ถาวโร,ดร.

Phra Soravit Aphipanyo

พระสรวิชญ์  อภิปญฺโญ

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

Mahachulalongkornrajvidyalaya University

 

 

บทคัดย่อ

 

    การวิจัยครั้งนี้  เป็นการศึกษาผลกระทบของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปีพุทธศักราช 2551  ที่มีต่อวัดในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในด้านการรับรู้และระดับความคิดเห็นของพระภิกษุสงฆ์และประชาชนที่เข้าไปจัดกิจกรรมในวัดในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตลอดจนศึกษาเปรียบเทียบผลกระทบของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปีพุทธศักราช 2551 ในวัดเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทำการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) กลุ่มตัวอย่างเป็นพระสงฆ์และประชาชนที่เข้าไปร่วมกิจกรรมภายในวัด จำนวน 290 รูป/ คน โดยทำการศึกษาข้อมูลเชิงปริมาณแล้วนำผลมาอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรที่เกี่ยวข้อง การวิเคราะห์ข้อมูลและการแปลผลการวิจัยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติ โดยการทดสอบสมมติฐานความมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

 

             ผลการวิจัยพบว่า

                 1. กลุ่มตัวอย่างมีการรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติฯ เรียงลำดับความสำคัญได้ดังต่อไปนี้ การดื่มสุราทำให้ความสามารถในการขับขี่ยานพาหนะลดลง การนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปจำหน่ายในวัด หรือสถานศึกษา เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมฯ นี้ แน่นอน และเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่ควรดื่ม ร้อยละ 92.0, 91.7, 89.2, ตามลำดับ

     2. กลุ่มตัวอย่างมีความคิดเห็นเกี่ยวกับพระราชบัญญัติเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พุทธศักราช โดยภาพรวมอยู่ในระดับดี โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.86 เมื่อพิจารณาแต่ละรายการพบว่า มีความคิดเห็นเกี่ยวกับพระราชบัญญัติควบคุมฯ ว่า สามารถทำให้ลดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ , การห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์ในวัดเป็นสิ่งที่ดี , ควรประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับพระราชบัญญัติควบคุมฯ นี้ให้มากขึ้น และการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมนี้เป็นหน้าที่ของทุกคน อยู่ในระดับดีมาก โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.28 , 4.47 , 4.32 และ 4.37 ตามลำดับ

     3. กลุ่มตัวอย่างที่มีเพศ สถานภาพ ระดับการศึกษา การรับรู้และความคิดเห็นเกี่ยวกับพระราชบัญญัติเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่างกันมีความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบของพระราชบัญญัติแตกต่างกัน ส่วนอายุและระดับการศึกษา พบว่า ไม่มีความสัมพันธ์กันตามนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05  ขณะเดียวกันยังพบว่า พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีผลกระทบต่อวัดอยู่ในระดับน้อยเกือบทุกรายการ ยกเว้นเรื่อง วิถีชีวิตของพระสงฆ์ที่จะเปลี่ยนแปลงไป พบว่า ไม่มีผลกระทบเลย

 

 

ABSTRACT

                 This study is about the effects of The Alcoholic Beverage Control Act, year 2551 AD, to the temples in Bangkok. This is through the perception and opinion of a monk and the people at the event in Bangkok.

                 The study compared the impact Alcohol Control Act, BE 2551 to the temples in Bangkok. Research surveyed is a sample consisted of the clergy and people participants in the temple which equals to 290 people.This study used quantitative data to describe the relationship between the variables involved. Data analysis and interpretation of research is processed through a  packaged statistical software .The test of statistical significance is at 05.

             The results showed that:

1.Samples perceived about the Act's Priority is as follows: Drinking alcohol can make the act of driving a vehicle fall due to the reduction in sales of alcohol sold in the temple or education. It is an offense under the Act and children under 18 should not drink. Percentage are: 92.0, 91.7, 89.2,respectively

2.The sample with a comment about Alcohol Act is overall at a good level.The mean is  3.86. When considering each item's opinion about control Ac t and how it can  reduce accidents on the road, the consensus is that prohitibiting the sale of alcohol at the temple is a good thing. There should be a further promotion of the act and the implementation of this Act is the duty of every person resulted in  ery satisfactory.The mean was 4.28 ,4.47 , 4.32 and 4.37, respectively.

3.People with different gender, status, and education, perceived and have different opinions about Alcohol Act. Opinions on the impact is different due to the age and education level. There was no statistically significant correlation between the level of 0.05. What was also found is that Alcoholic Beverage Control Act.affect the level at almost every item. There is an exception where life of the clergy changes has no impact at all.

 

บทนำ

ในประเทศไทย วัดในพระพุทธศาสนาเป็นศูนย์กลางของชุมชนมาตั้งแต่โบราณกาล สภาพสิ่งแวดล้อมของวัดมีความสงบ ร่มเย็น เป็นสถานที่สำคัญในด้านการบำเพ็ญกุศล ศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระภิกษุและประชาชนทั่วไปพุทธบริษัทตั้งแต่เกิดจนตายจะมีความผูกพันกับวัด มีความเคารพยำเกรงต่อสถานที่สำคัญต่างๆ ในวัดเป็นอย่างมาก มาโดยตลอด ต่อมาชาวพุทธได้สร้างวัฒนธรรมใหม่ กล่าวคือ เมื่อไปจัดงานในวัด ไม่ว่าจะเป็นงานบวช งานทอดกฐิน งานทอดผ้า หรือแม้แต่งานศพ ก็มีประเพณีจัดฉลองงานเหล่านั้นเสริมขึ้นมา ทำให้วัดกลายเป็นแหล่งเพาะวัฒนธรรมประเพณีที่ผิดๆ ผู้ที่เคยศรัทธาเลื่อมใสก็คลาย เกิดความขัดแย้งกันทั้งพระและชาวบ้าน วัดที่เคยเป็นสถานที่สงบ ร่มเย็น ก็กลายเป็นสถานที่อึกทึกวุ่นวายเข้ามาแทน  ความจริง พระพุทธศาสนามีหลักเบญจศีลเบญจธรรม ในข้อที่ 5 คือ สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี ได้แก่การเว้นจากการดื่มสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ซึ่งคู่กับหลักเบญจธรรมข้อที่ 5 คือสติสัมปชัญญะ ได้แก่ ความระลึกได้และความรู้ตัว  และในอบายมุขข้อหนึ่งคือ ความเป็นนักเลงสุรา เป็นหนทางแห่งความเสื่อม แม้จะมีเบญจศีลข้อที่ 5 และเบญจธรรมข้อที่ 5 ห้ามไว้แล้วก็ตาม แต่พุทธศาสนิกชนก็ยังละเมิดศีลกันอยู่เสมอ

รัฐบาลได้ประกาศพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปีพุทธศักราช 2551  โดยให้เหตุผลในการประกาศพระราชบัญญัติฉบับนี้ว่า โดยที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ ครอบครัว อุบัติเหตุและอาชญากรรม ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ สมควรกำหนดมาตรการต่างๆ ในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งการบำบัดรักษาหรือฟื้นฟูสภาพผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อช่วยลดปัญหาและผลกระทบทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ ช่วยสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนโดยให้ตระหนักถึงพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตลอดจนช่วยป้องกันเด็กและเยาวชนมิให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่าย ด้วยเหตุนี้ คณะผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาว่า เมื่อมีการใช้พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติศาสนกิจของพระสงฆ์และการดำเนินชีวิตของพุทธศาสนิกชนอย่างไร

 

เครื่องมือและวิธีการศึกษา

                 การวิจัยเรื่องผลกระทบของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปีพุทธศักราช ๒๕๕๑ ที่มีต่อวัดในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นงานวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการรับรู้ ความคิดเห็นและเกี่ยวกับพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปีพุทธศักราช 2551 เพื่อศึกษาระดับความคิดเห็นและเปรียบเทียบผลกระทบของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปีพุทธศักราช 2551 ในวัดเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ใช้การเก็บข้อมูลด้วยวิธีการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research Method) โดยใช้แบบสอบถาม เก็บข้อมูลจากพระสังฆาธิการ เจ้าหน้าที่ตำรวจ และประชาชนที่เข้าไปจัดงานในวัด ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวนประชากรทั้งสิ้น 300 รูป/คน  ซึ่งได้จากการสุ่มแบบหลายขั้นตอน ตามสัดส่วนประชากร จำแนกตามเขตการปกครองกรุงเทพมหานคร  ทำการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์โดยใช้โปรแกรมการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ

หาค่าสถิติพื้นฐาน ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) สำหรับการบรรยายลักษณะพื้นฐานของข้อมูลทั่วไป สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์คุณภาพเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ หาค่าอำนาจแจกแจงเป็นรายข้อ (Item-total Correlation) ของแบบสอบถาม โดยใช้เทคนิค 25% กลุ่มสูง-กลุ่มต่ำ แล้วทดสอบด้วยค่า t-test หาค่าความเชื่อมั่น(Reliability) ของแบบสอบถาม โดยวิธีหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟา (Reliability แบบ α Coefficient) ของครอนบาค (Cronbach) สถิติที่ใช้ในการทดสอบสมมติฐาน ได้แก่ การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรปัจจัยส่วนบุคคล กับผลกระทบจากพระราชบัญญัติ โดยวิเคราะห์หาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน (The Pearson Product Monent Correlation Coefficient)

 

ผลการศึกษา

จากการศึกษาผลกระทบของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปีพุทธศักราช 2551  ที่มีต่อวัดในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร สามารถสรุปผลการศึกษาได้ดังนี้

ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า

             ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศชาย 227 รูป/คน  คิดเป็นร้อยละ 78.3  และ เพศหญิง 63 คน คิดเป็นร้อยละ 21.7 โดยมี สถานภาพ เป็นประชาชนทั่วไป จำนวน 190 คน คิดเป็นร้อยละ 65.5  รองลงมาเป็นพระสังฆาธิการ จำนวน 90 รูป คิดเป็นร้อยละ 31.0 และเป็นตำรวจ จำนวน 10 คน คิดเป็นร้อยละ 3.4 มีอายุอยู่ในช่วง 40 – 49 ปี มากที่สุด 97 รูป/คน คิดเป็นร้อยละ 33.4 รองลงมามีอายุอยู่ในช่วง 50 ปีขึ้นไป70รูป/คน คิดเป็นร้อยละ 24.1 รองลงมามีอายุอยู่ในช่วง 30 – 39 ปี 64รูป/คน  คิดเป็นร้อยละ 22.1     รองลงมามีอายุอยู่ในช่วง 20 – 29 ปีจำนวน 44 รูป / คน คิดเป็นร้อยละ 15.2 และอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 15 รูป/คน คิดเป็นร้อยละ 5.2 ตามลำดับ มีระดับการศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรีมากที่สุด จำนวน 100 รูป/คน คิดเป็นร้อยละ 34.5 รองลงมาจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า หรือ ปวช. จำนวน 75 รูป/คน คิดเป็นร้อยละ 25.9 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นหรือต่ำกว่า จำนวน 53 รูป/คน คิดเป็นร้อยละ 18.0 ระดับสูงกว่าปริญญาตรี จำนวน 37 รูป/คน คิดเป็นร้อยละ 12.8 และระดับอนุปริญญาหรือเทียบเท่า หรือ ปวส. จำนวน 25 รูป/คน คิดเป็นร้อยละ 8.6

             ผลการทดสอบสมมติฐาน พบว่า

             เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างระดับความคิดเห็นผลกระทบของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จำแนกตามเพศ(ตารางที่ 4.5)พบว่า กลุ่มตัวอย่าง มีเพศต่างกัน มีระดับความคิดเห็นผลกระทบของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แตกต่างกัน  ต่อผลกระทบของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปีพุทธศักราช 2551 และเมื่อทดสอบสมมติฐานโดยใช้ค่า t-test พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่เป็นเพศชายและเพศหญิงต่างกัน  มีระดับความคิดเห็นผลกระทบของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แตกต่างกันมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ (t = 50.181**) ดังนั้นผลการศึกษาจึงสนับสนุนสมมติฐานที่  1  ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า บุคคลที่มีความแตกต่างกันทางเพศ มีการรับรู้และความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เพราะพฤติกรรมของบุคคลไม่ว่าจะดำรงอยู่ในเพศภาวะใด ก็มีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ตลอดเวลา สืบเนื่องเพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ย่อมมีการเคลื่อนไหวเป็นไปตามกลุ่ม เพราะอิทธิพลกลุ่มทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนไปตามสิ่งแวดล้อมนั้นๆ ในปัจจุบันจะเห็นพฤติกรรมที่เด็กเสพยาเสพติดให้โทษจะมีอยู่ทุกระดับ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ  สุพัฒน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล[1] สถานการณ์สุราในประเทศไทย พบว่าปี 2543 คนไทยบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นอันดับ 5 ของโลก โดยกลุ่มผู้หญิงวัย 15-19 ปี เป็นกลุ่มที่มีการบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีผลงานวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ให้เห็นว่า โฆษณาเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ชักนำให้เยาวชนดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สื่อที่มีอิทธิพลสูงได้แก่โทรทัศน์และภาพยนตร์ อุปาทานและอุปสงค์ของการบริโภคสุรา พื้นบ้านในอนาคตมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากนโยบายการเปิดเสรีการผลิตและจำหน่ายสุราชุมชนและนโยบาย 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์  นอกจากนั้น ปัญหาที่ทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงทั้งเพศหญิงและเพศชาย ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากการดื่มเครืองดิ่มแอลกอฮอล์ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ สาวิตรี อัษณางค์กรชัย และคณะ [2] แบ่งพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายบุคคล เช่น  พฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีความเสี่ยงน้อย ( low risk drinking ) หมายถึง การดื่มในลักษณะที่ไม่ทำให้เกิดปัญหาตามมา ทั้งต่อตัวผู้ดื่มเองและสังคมรอบข้างโดยมีลักษณะการดื่ม ดังนี้  คือ การดื่มที่ไม่เกิน 2 ดื่มมาตรฐานต่อวันในผู้หญิง ซึ่งเทียบเท่ากับเบียร์ชนิดแรง 1.5 กระป๋อง หรือเหล้า 40 ดีกรี 1 เป็ก ( 1 เป็ก มีปริมาตรเท่ากับ 50 มิลลิลิตร ) หรือการดื่มไม่เกิน 4 ดื่มมาตรฐานต่อวันในผู้ชาย ซึ่งเทียบเท่ากับเบียร์ชินิดแรง 3 กระป๋อง หรือเหล้า 40 ดีกรี 2 เป็ก และมีวันที่ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เลยอย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์ หรือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณไม่เกิน 21 ดื่มมาตรฐานต่อสัปดาห์ในผู้ชาย หรือ14 ดื่มมาตรฐานต่อสัปดาห์ในผู้หญิงการดื่มในลักษณะนี้อาจเรียกว่า การดื่มอย่างปลอดภัย ( safe-limit drinking ) ดังนั้น พอจะสรุปได้ว่า กลุ่มตัวอย่างที่เป็นเพศชายและเพศหญิงต่างกัน  มีระดับความคิดเห็นผลกระทบของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติจึงสนับสนุนสมมติฐานที่  1  

                 เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างระดับความคิดเห็นผลกระทบของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จำแนกตามสถานภาพ(ตารางที่ 4.5)พบว่า กลุ่มตัวอย่าง มีสถานภาพต่างกัน มีระดับความคิดเห็นผลกระทบของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แตกต่างกัน  ต่อผลกระทบของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปีพุทธศักราช 2551 และเมื่อทดสอบสมมติฐานโดยใช้ค่า f-test พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่มีสถานภาพต่างกัน  มีระดับความคิดเห็นผลกระทบของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แตกต่างกันมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ (f = .3.151*** ) ดังนั้นผลการศึกษาจึงสนับสนุนสมมติฐานที่ 2   (ตารางที่ 4.5)ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า การปฏิบัติงานในหน้าที่ขององค์กรพระสงฆ์ องค์กรภาครัฐและภาคประชาชน ต่างมีความสำคัญในบทบาทหน้าที่รับผิดชอบ ฉะนั้นสถานภาพแตกต่างกัน จึงมีการรับรู้และความคิดเห็นต่อผลกระทบที่แตกต่างกัน  อย่างไรก็ตาม ปัญหาด้านสถานภาพมีความสำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในสังคม โดยเฉพาะสถานภาพของเด็กและเยาวชนที่มีปัญหาในปัจจุบัน ซึ่งมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการกระทำความผิดทั้งทางกฎหมายและหลักศีลธรรมอันดีงามของสังคม โดยสาเหตุหลักมาจากสารเสพติดให้โทษ  ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของวิภา  ด่านดำรงกูล และคณะ[3] ได้ทำสรุปผลการศึกษาวิจัยเรื่องความรู้และทัศนคติต่อการติดสารเสพติด และพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องของเด็กและเยาวชนที่ต้องโทษไว้ว่า เด็กชายและหญิงคดีสารเสพติด ร้อยละ 5 และ 38 ไม่เคยใช้สารเสพติดเลย ส่วนคดีอื่นๆ ประมาณครึ่งหนึ่งเคยใช้สารเสพติด เด็กส่วนมากจะเริ่มจากสารที่หาได้ง่าย ไปจนถึงสารชนิดที่มีฤทธิ์ร้ายแรงมากและหาง่ายในกลุ่มผู้เสพ อายุที่เริ่มใช้อยู่ระหว่าง 14-16 ปี สาเหตุหลัก คืออยากทดลองผู้ที่เคยใช้มากกว่า ร้อยละ 85ไม่เคยรักษาเพื่อหยุดใช้สารเสพติด  นอกจากนั้นได้มีการศึกษาปัจจัยด้านพฤติกรรมของพ่อแม่ที่มีผลต่อพฤติกรรมกินเหล้าสูบบุหรี่ โดย รศ.ดร.รุจา ภู่ไพบูลย์ อาจารย์ประจำภาควิชาพยาบาลศาสตร์และคณะที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรอนามัยโลก (ประเทศไทย) ข้อมูลได้จากการสำรวจนักเรียนมัธยมศึกษาที่ 1-6 ในโรงเรียน 10 โรงเรียนทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดจำนวนกว่า 2,000 ครอบครัว โดยใช้แบบสอบถามเกี่ยวกับพฤติกรรมสุขภาพสำหรับนักเรียนและพ่อแม่ตอบ พบว่าวัยรุ่นร้อยละ 18.2 มีพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ โดยที่ส่วนใหญ่กล่าวว่าดื่มเป็นครั้งคราวร้อยละ 16.6 และดื่มบ่อยจนถึงประจำร้อยละ 1.6 เด็กวัยรุ่นชายดื่มมากกว่าเด็กวัยรุ่นหญิง คือพบร้อยละ 23.8 ของวัยรุ่นชายและร้อยละ 14.0 ของวัยรุ่นหญิงที่มีการดื่มแอลกอฮอล์ โดยดื่มบ่อยๆ หรือเป็นประจำร้อยละ2.5

     เมื่อศึกษาพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ระหว่างพฤติกรรมของพ่อแม่และลูก พบว่าปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการดื่มของลูกวัยรุ่นมากที่สุดคือ พฤติกรรมการดื่มของพ่อ รองลงมาคือพฤติกรรมการดื่มของแม่ และปัจจัยสุดท้ายคืออายุของเด็กวัยรุ่น กล่าวคือ หากพ่อดื่มบ่อย รวมทั้งแม่ที่ดื่มบ่อย เด็กวัยรุ่นที่อายุมากขึ้นวัยรุ่นจะมีพฤติกรรมการดื่มบ่อยขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่การศึกษานี้ไม่พบอิทธิพลของรายได้ครอบครัวต่อพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ดังกล่าว (จากหนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันที่ 15 มิถุนายน 2547 หน้า 25) และสอดคล้องกับงานวิจัยของบุญเสริม หุตะแพทย์ และคณะ [4] พบว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อให้เกิดปัญหาในรอบครัว 3 ด้าน คือ ปัญหาด้านสุขภาพของบุคคลในครอบครัว การใช้ความรุนแรงในครอบครัว และผลกระทบต่อเศรษฐกิจในครอบครัว นอกจากนี้สำนักงานสถิติแห่งชาติ[5], ได้รายงานว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจากการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนเพิ่มมมากขึ้นในแต่ละปี สอดคล้องกับการศึกษาของ ชนิกา ตู้จินดา[6] พบว่า นักเรียนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เคยประสบอุบัติเหตุในระหว่างการขับรถยนต์และรถจักยานยนต์ ร้อยละ 43.70 และร้อยละ 21.70 ตามลำดับ   

                 เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างระดับความคิดเห็นผลกระทบของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จำแนกตามอายุ(ตารางที่ 4.5)พบว่า กลุ่มตัวอย่าง มีเพศต่างกัน มีระดับความคิดเห็นผลกระทบของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แตกต่างกัน  ต่อผลกระทบของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปีพุทธศักราช 2551 และเมื่อทดสอบสมมติฐานโดยใช้ค่า f-test พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่มีอายุต่างกัน  มีระดับความคิดเห็นผลกระทบของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แตกต่างกันมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ (f =  1.377) ดังนั้นผลการศึกษาจึงไม่สนับสนุนสมมติฐานที่ 3   (ตารางที่ 4.5)ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า   บุคคลที่มีอายุจะอยู่ระดับใดก็ตาม เมื่อมีการรับรู้หรือแม้แต่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ยังสามารถที่จะเสพสิ่งเสพติดได้ อาจเป็นเพราะสภาพแวดล้อมและสังคมที่เอื้ออำนวยให้เกิดการเสพมากขึ้น และส่วนใหญ่มนุษย์ต้องการทดลองในสิ่งที่ไม่เคยกระทำมาก่อน  เพราะอันที่จริง พฤติกรรมของมนุษย์ชอบที่จะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา  ดังนั้นอายุจึงไม่มีผลกระทบต่อการรับรู้และความคิดเห็นต่อพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ บัญญัติ สุขศรีงาม[7] สุราเป็นเครื่องดื่มอีกชนิดหนึ่งที่นิยมอย่างแพร่หลายในสังคมไทย ทำให้การดื่มสุราของคนไทยเพิ่มมากขึ้นตลอดมา จากข้อมูลของผู้ดื่มสุราใน พ.ศ.2536 เทียบกับปัจจุบันพบว่ามีผู้ดื่มสุราเพิ่มมากขึ้นเป็น 6 เท่า เนื่องจากการโฆษณาประชาสัมพันธ์รูปแบบต่างๆ เป็นการชักจูงใจทำให้เชื่อว่าสังคมให้การยอมรับ จึงทำให้มีผู้ดื่มสุราเพิ่มอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะเยาวชน การที่เยาวชนดื่มสุรามีสาเหตุหลายประการ ได้แก่ ความอยากรู้อยากลอง อยากเข้าสังคม ค่านิยมที่ผิด เพื่อนชักชวน พฤติกรรมเลียนแบบคนดังหรือมีชื่อเสียง ต้องการให้เป็นที่ยอมรับในกลุ่ม อยากท้าทายและคึกคะนอง หาซื้อได้ง่าย ผลจากการโฆษณา ปัญหาส่วนตัว อยู่ภายใต้สิ่งแวดล้อมและตัวอย่างที่ไม่ดี มีความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับสุราและการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จากการศึกษาพฤติกรรมการดื่มสุราของเยาวชนพบว่าเยาวชนชายดื่มสุรามากกว่าเยาวชนหญิงหลายเท่า เยาวชนชายอายุ 14 ปีจะดื่มสุราร้อยละ 15 และอายุ 20 - 24 ปีจะดื่มสุราร้อยละ 20 โดยดื่มอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง สำหรับเยาวชนที่มีการศึกษาต่ำจะดื่มสุราเนื่องจากถูกเพื่อนชักชวน อยากทดลองและต้องการเข้าสังคม ส่วนผลการกระทบจากการดื่มสุรา ได้แก่ การขาดความสัมพันธ์อันดีในครอบครัว สุขภาพเสื่อมโทรม สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น เกิดปัญหาสังคม เช่น การเรียนตกต่ำ ขาดสติและเป็นสาเหตุนำไปสู่การเสพยาเสพติด รวมทั้งกลายเป็นคนที่ขาดคุณภาพและเมื่อเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะมีการดื่มสุราเพิ่มขึ้นด้วยการดื่มสุราจะทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายและลดประสิทธิภาพในการทำงานอย่างมาก ยิ่งถ้าทำงานที่มีความเสี่ยงก็ยิ่งมีโอกาสได้รับอุบัติเหตุสูงด้วย ในประเทศไทยก็มีอุบัติเหตุที่เป็นผลมาจากการดื่มสุราของผู้ปฏิบัติงานเช่นกัน ที่พบกันมาก ได้แก่ อุบัติเหตุจราจร ทั้งนี้เพราะคนไทยวัยทำงานมิได้มีการดื่มสุราภายหลังจากปฏิบัติงานเสร็จแล้วเท่านั้น แต่จะดื่มสุราในช่วงเวลาปฏิบัติงานด้วยและถ้าหากต้องขับขี่ยานพาหนะก็มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เป็นเหตุให้ตนเองและผู้อื่นต้องได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตและก่อให้เกิดความเสียหายด้านทรัพย์สินอย่างมากมาย จึงทำให้ต้องมีการจัดทำโครงการรณรงค์ เมาไม่ขับขึ้นมาจากข้อมูลการเฝ้าระวังในโครงการ เมาไม่ขับของมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ที่ได้จากโรงพยาบาล 4 แห่งในกรุงเทพมหานครระหว่างเดือนมีนาคมและพฤษภาคม 2544 ได้แก่ โรงพยาบาลภูมิพล โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี โรงพยาบาลตำรวจและโรงพยาบาลวชิระ พบว่ามีผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุจำนวน 681 คน และร้อยละ 20 ประสบอุบัติเหตุจากการขับขี่ยานพาหนะ ในจำนวนนี้ร้อยละ 42 พบว่ามีแอลกอฮอล์ในเลือด แสดงให้เห็นว่าได้มีการดื่มสุราในขณะช่วงเวลาปฏิบัติงานนั่นเอง ข้อมูลดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นสถิติที่สูงมากเมื่อเทียบกับการเกิดอุบัติเหตุจราจรในประเทศพัฒนา เช่น ในสหรัฐ-อเมริกา แต่ละวันจะมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร จำนวน 3 คน แต่พบว่าร้อยละ 90 ของผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรในช่วงเวลาปฏิบัติงานจะไม่มีแอลกอฮอล์ในเลือด แสดงให้เห็นว่าการมีกฎหมายห้ามดื่มสุราในขณะขับขี่ยานพาหนะกับการเข้มงวดของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นมาตรการที่นำมาใช้ป้องกันอุบัติเหตุได้เป็นอย่างดีในประเทศไทยก็มีความพยายามในการลดอุบัติเหตุจราจรที่มีสาเหตุมาจากการดื่มสุราเช่นกัน จึงได้ตั้งโครงการรณรงค์ เมาไม่ขับขึ้นมาและมักจะดำเนินอย่างจริงจังและเข้มงวดเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญๆ เสียส่วนมาก เช่น เทศกาลปีใหม่ เทศกาลตรุษจีน เทศกาลวันสงกรานต์ ฯลฯ หลังจากนั้นก็มิได้เข้มงวดมากนัก ทำให้อุบัติเหตุจราจรจากการดื่มสุราไม่ได้ลดลงเท่าที่ควร จึงเป็นผลให้อุบัติเหตุจราจรเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตและความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมากมายในแต่ละปี แม้จะรณรงค์ต่อต้านการดื่มสุราก็จะไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ดังนั้นรัฐบาลจึงควรจะได้มีการควบคุมการโฆษณาในลักษณะเดียวกับบุหรี่ รวมทั้งมีกฎหมายห้ามจำหน่ายสุรากับเยาวชน ในการวิเคราะห์พฤติกรรมของบุคคลว่ามีสาเหตุของการเกิดพฤติกรรม หรือปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมมาจากปัจจัยอะไรบ้างนั้นมีแนวคิดในการวิเคราะห์ 3 กลุ่ม คือ   กลุ่ม 1 แนวคิดเกี่ยวกับปัจจัยภายในตัวบุคคล กลุ่มนี้มีแนวคิดว่าสาเหตุของการเกิดพฤติกรรมหรือปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมมาจากองค์ประกอบภายในตัวบุคคล ได้แก่ ความรู้ เจตคติ ความเชื่อ ค่านิยม แรงจูงใจ หรือความตั้งใจใฝ่พฤติกรรม เป็นต้น  กลุ่ม 2 แนวคิดเกี่ยวกับปัจจัยภายนอกตัวบุคคล กลุ่มนี้มีแนวคิดว่าสาเหตุของการเกิดพฤติกรรมมาจากปัจจัยภายนอกตัวบุคคล ซึ่งเป็นปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม และระบบโครงสร้างทางสังคม เช่น ระบบการเมือง การเศรษฐกิจ การศึกษา การศาสนา องค์ประกอบด้านประชากรและลักษณะทางภูมิศาสตร์ เป็นต้น   กลุ่มที่ 3 แนวคิดเกี่ยวกับปัจจัยหลายปัจจัย กลุ่มนี้มีแนวคิดว่าพฤติกรรมของบุคคลมีสาเหตุทั้งปัจจัยภายในตัวบุคคลและปัจจัยนอกบุคคล ดังนั้น กลุ่มตัวอย่างที่มีอายุต่างกัน  มีระดับความคิดเห็นผลกระทบของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  ดังนั้นผลการศึกษาจึงไม่สนับสนุนสมมติฐาน

                 เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างระดับความคิดเห็นผลกระทบของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จำแนกตามระดับการศึกษา(ตารางที่ 4.5)พบว่า กลุ่มตัวอย่าง มีระดับการศึกษาต่างกัน มีระดับความคิดเห็นผลกระทบของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แตกต่างกัน  ต่อผลกระทบของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปีพุทธศักราช 2551 และเมื่อทดสอบสมมติฐานโดยใช้ค่า f-test พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่มีระดับการศึกษาต่างกัน  มีระดับความคิดเห็นผลกระทบของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แตกต่างกันมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ (f = 1.250 ) ดังนั้นผลการศึกษาจึงไม่สนับสนุนสมมติฐานที่ 4   (ตารางที่ 4.5)ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า การประพฤติปฏิบัติตนของคนในสังคม บางสังคมไม่จำเป็นต้องวัดระดับของการศึกษาว่า บุคคลมีการศึกษาสูงไม่ต้องเสพสิ่งเสพติด หรือบุคคลบางคนมีการศึกษาน้อย แต่ไม่เคยเสพสิ่งติดเลย ซึ่งพฤติกรรมความเชื่อ การรับรู้และความคิดเห็น ทุกสังคมจะมีบริบทของคนเอง ดังนั้นจะเห็นได้ว่าพฤติกรรมบางอย่างเป็นวิถีชีวิตของสังคมนั้นๆ ที่มีค่านิยมที่แตกต่างกันจึงไม่เกี่ยวกับระดับการศึกษา ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของไพทูรย์  เครือแก้ว  (อ้างในประภาเพ็ญ  สุวรรณ 2534 : 326)   ค่านิยมเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของบุคคลในการกระทำของสิ่งต่างๆ โดยที่บุคคลจะเลือกปฏิบัติตามสิ่งที่มีความสำคัญสำหรับตนเอง ตามความเชื่อและรสนิยมของชีวิตและทำตามมาตรฐานทางจิตใจซึ่งเป็นแบบฉบับของบุคคล  จะเห็นว่าค่านิยมเป็นตัวการที่มีอิทธิพลต่อการแสดงออกของพฤติกรรมมนุษย์ บทบาทสำคัญของค่านิยมมีสองอย่าง คือเป็นมาตรฐานที่จะนำทางหรือเป็นแนวทางให้บุคคลประพฤติปฏิบัติ และหน้าที่อีกประการหนึ่งคือ ทำหน้าที่กระตุ้นเพื่อให้เกิดแรงจูงใจในการปฏิบัติ พฤติกรรมสุขภาพไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมใดๆ    ก็ตาม ถ้าบุคคลให้ค่าต่อพฤติกรรมนั้นๆ สูงก็ย่อมเป็นแนวทางให้คนมีพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้องอันนำมาซึ่งพฤติกรรมที่ดีทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคมด้วย  ดังนั้น จากข้อสมมติฐานกลุ่มตัวอย่าง มีระดับการศึกษาต่างกัน มีระดับความคิดเห็นผลกระทบของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่แตกต่างกัน

 

                 เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างระดับความคิดเห็นผลกระทบของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จำแนกตามด้านการรับรู้(ตารางที่ 4.5)พบว่า กลุ่มตัวอย่าง มีด้านการรับรู้ต่างกัน มีระดับความคิดเห็นผลกระทบของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แตกต่างกัน  ต่อผลกระทบของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปีพุทธศักราช 2551 และเมื่อทดสอบสมมติฐานโดยใช้ค่า t-test พบว่ากลุ่มตัวอย่างด้านการรับรู้ต่างกัน  มีระดับความคิดเห็นผลกระทบของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แตกต่างกันมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ (t = 21.667***) ดังนั้นผลการศึกษาจึงสนับสนุนสมมติฐานที่ 5   (ตารางที่ 4.5)ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า สภาพสังคมไทยในปัจจุบัน ถือได้ว่าอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งมีระบบการสื่อสารที่มีอิทธิพลต่อการรับของบุคคลเป็นอย่างมาก  เพราะพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในสังคมทั้งดีและพฤติกรรมที่ไม่พึ่งประสงค์ ถือได้ว่ามีอิทธิพลต่อการรับรู้ของบุคคลในสังคมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะสื่อสารการประชาสัมพันธ์เครื่องดื่มเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษก็ถือได้ว่ามีการเผยแพร่ได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น กลุ่มตัวอย่าง มีด้านการรับรู้ต่างกัน มีระดับความคิดเห็นผลกระทบของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แตกต่างกัน  ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ สุรวัฒนบูรณ์ และ ไรพร ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคามที่กล่าวว่า การที่จะเกิดการเรียนรู้ได้นั้นจะต้องอาศัยการรับรู้ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอันเป็นผลมาจากการได้รับประสบการณ์ การรับรู้มีขบวนการที่ทำให้เกิดการรับรู้ โดยการนำความรู้เข้าสู่สมองด้วยอวัยวะสัมผัส และเก็บรวบรวมจดจำไว้สำหรับเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้เกิดมโนภาพและทัศนคติ ดังนั้นการมีสิ่งเร้าที่ดีและมีองค์ประกอบของการรับรู้ที่สมบูรณ์ถูกต้อง ก็จะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีด้วยซึ่งการรับรู้เป็นส่วนสำคัญยิ่งต่อการรับรู้    นอกจากนี้ กระบวนการรับรู้ยังสามารถใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอนด้วย ซึ่ง Fleming (1984: 3) ให้ข้อเสนอแนะว่ามีเหตุผลหลายประการที่นักออกแบบเพื่อการเรียนการสอนจำต้องรู้และนำหลักการของการรับรู้ไปประยุกต์ใช้กล่าวคือ  1.  โดยทั่วไปแล้วสิ่งต่าง ๆ เช่น วัตถุ บุคคล เหตุการณ์ หรือสิ่งที่มีความสัมพันธ์กัน ถูกรับรู้ดีกว่า มันก็ย่อมถูกจดจำได้ดีกว่าเช่นกัน 2.ในการเรียนการสอนจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการรับรู้ที่ผิดพลาด เพราะถ้าผู้เรียนรู้ข้อความหรือเนื้อหาผิดพลาด เขาก็จะเข้าใจผิดหรืออาจเรียนรู้บางสิ่งที่ผิดพลาดหรือไม่ตรงกับความเป็นจริง  3.  เมื่อมีความต้องการสื่อในการเรียนการสอนเพื่อใช้แทนความเป็นจริงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องรู้ว่าทำอย่างไร จึงจะนำเสนอความเป็นจริงนั้นได้อย่างเพียงพอที่จะให้เกิดการรับรู้ตามความมุ่งหมาย  อย่างไรก็ตาม การรับรู้มีส่วนช่วยทำให้บุคคลได้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในตัวบุคคลอีกมากมาย ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ กฤษณา ศักดิ์ศรี กล่าวถึง บทบาทของการรับรู้ที่มีต่อการเรียนรู้ว่า บุคคลจะเกิดการเรียนรู้ได้ดี และมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับการรับรู้และการรับรู้สิ่งเร้าของบุคคล นอกจากจะขึ้นอยู่กับตัวสิ่งเร้าและประสาทสัมผัสของผู้รับรู้แล้ว ยังขึ้นอยู่กับประสบการณ์เดิมของผู้รู้และพื้นฐานความรู้เดิมที่มีต่อสิ่งที่เรียนด้วย  สรุปได้ว่า การรับรู้เป็นกระบวนการทางจิตวิทยาที่ร่างกายได้รับการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อม หรือสิ่งเร้าต่าง ๆ แล้วแปลความหมายโดยอาศัยความรู้เดิม ประสบการณ์เดิม เป็นเครื่องช่วยในการแปลความหมายและแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมในที่สุด  ซึ่งอาจมีเหตุผล หรือไม่มีเหตุผล  การรับรู้ที่ผิดพลาด แม้ว่ามนุษย์มีอวัยวะรับสัมผัสถึง 5 ประเภทแต่มนุษย์ก็ยังรับรู้ผิดพลาดได้ เช่น ภาพลวงตา การรับฟังความบอกเล่า ทำให้เรื่องบิดเบือนไป การมีประสบการณ์และค่านิยมที่แตกต่างกัน    ดังนั้นการรับรู้ถ้าจะให้ถูกต้อง จะต้องรับรู้โดยผ่าน ประสาทสัมผัสหลายทาง ผ่านกระบวนการคิดไตร่ตรองให้มากขึ้น ด้วยเหตุนี้การรับรู้ของบุคคลจึงเป็นช่องทางของการเกิดองค์ความรู้จนสามารถพัฒนาพฤติกรรมการแสดงออกต่อสิ่งที่รับรู้อย่างเหมาะสม การประกาศใช้พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปี 2551 ได้ส่งผลต่อกลุ่มบุคคลหลายฝ่าย โดยเฉพาะกลุ่มบุคคลที่ปฏิบัติกิจกรรมร่วมกันทางศาสนา เมื่อมีการห้ามจำหน่ายและห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ต่างๆ ในงานพิธีหรืองานที่เกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตของประชาชนย่อมทำให้เกิดภาวการณ์ปรับตัวของกลุ่มบุคคลแต่ละกลุ่มอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะพระสงฆ์ภายในวัด ประชาชนที่ไปทำกิจกรรมที่วัดและเจ้าหน้าที่ตำรวจ

                  เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างระดับความคิดเห็นผลกระทบของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จำแนกตามความคิดเห็นโดยรวมเกี่ยวกับพระราชบัญญัติเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ตารางที่ 4.5)พบว่า กลุ่มตัวอย่าง มีความคิดเห็นต่างกัน มีระดับความคิดเห็นผลกระทบของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แตกต่างกัน  ต่อผลกระทบของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปีพุทธศักราช 2551 และเมื่อทดสอบสมมติฐานโดยใช้ค่า t-test พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่มีความคิดเห็นโดยรวมเกี่ยวกับพระราชบัญญัติเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต่างกัน  มีระดับความคิดเห็นผลกระทบของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แตกต่างกันมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ (t = -26.519*** ) ดังนั้นผลการศึกษาจึงสนับสนุนสมมติฐานที่ 6  (ตารางที่ 4.5)ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า บุคคลที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการสื่อสารทั้งที่เป็นข่าวสารเชิงบวกและเชิงลบ สิ่งเหล่านี้ทำให้บุคคลแต่ละคนเกิดการเปลี่ยนแปลงความคิดเห็น เพราะอิทธิพลแหล่งข้อมูลข่าวสารมีส่วนที่ทำให้บุคคลเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองได้ ดังนั้นกลุ่มตัวอย่าง มีความคิดเห็นต่างกัน มีระดับความคิดเห็นผลกระทบของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แตกต่างกัน ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของสุโท   เจริญสุข ความคิดเห็นเป็นสภาพความรู้สึกทางด้านจิตใจที่เกิดจากประสบการณ์และการเรียนรู้ของบุคคล อันเป็นผลให้บุคคลมีความคิดต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งในลักษณะที่ชอบ ไม่ชอบ หรือเฉยๆ และสอดคล้องกับงานวิจัยของโสภา  พิสมัย[8] (2543: 14-15) ได้สรุปปัจจัยพื้นฐานที่มีอิทธิพลต่อความคิดเห็นของบุคคลไว้ ดังนี้  1.  ปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่  1)  ปัจจัยทางพันธุกรรมและร่างกาย คือ เพศ อวัยวะ ความครบถ้วนสมบูรณ์ และอวัยวะต่าง ๆ และคุณภาพของสมอง  2)  ระดับการศึกษา การศึกษามีอิทธิพลต่อการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น และการศึกษาทำให้บุคคลที่มีความรู้ในด้านต่าง ๆ มากขึ้น และคนที่มีความรู้มากมักมีความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ อย่างมีเหตุผล  3)  ความเชื่อ ค่านิยม และเจตคติของบุคคลต่อเรื่องราวต่าง ๆ ซึ่งอาจเกิดจากการเรียนรู้จากบุคคลในสังคมหรือจากการอบรมสั่งสอนของครอบครัว  4) ประสบการณ์ เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ ทำให้มีความเข้าใจในหน้าที่ความรับผิดชอบต่องานซึ่งส่งผลต่อความคิดเห็น   ในด้านที่ 2  ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ 1) สื่อมวลชน ได้แก่ วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ฯลฯ สิ่งต่างๆเหล่านี้มีอิทธิพล อย่างมากต่อความคิดเห็นของบุคคล เป็นการได้รับข่าวสารข้อมูลต่างๆของแต่ละบุคคล 2)  กลุ่มและสังคมที่เกี่ยวข้อง มีอิทธิพลต่อความคิดเห็นของบุคคล เพราะเมื่อบุคคลอยู่ในกลุ่มใดหรือสังคมใด ก็จะยอมรับและปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของกลุ่มหรือสังคมนั้น ซึ่งทำให้บุคคลนั้นเกิดความคิดเห็นไปตามกลุ่มหรือสังคมที่อยู่  ดังนั้น กลุ่มตัวอย่างที่มีความคิดเห็นโดยรวมเกี่ยวกับพระราชบัญญัติเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต่างกัน  มีระดับความคิดเห็นผลกระทบของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ.

             สรุปผลการวิเคราะห์การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร จะเห็นได้ว่าคุณลักษณะทั่วไปโดยภาพรวมตามสมมติฐานระดับความคิดเห็นผลกระทบของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า ข้อมูลส่วนบุคคล ด้านเพศ  สถานภาพ  การรับรู้และระดับความคิดเห็น มีความสัมพันธ์กับระดับความคิดเห็นผลกระทบของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกือบทุกด้าน ดังนั้นจึงสามารถกล่าวได้ว่า บุคคลจะมีระดับความคิดเห็น มีผลต่อเพศภาวะของแต่ละบุคคล โดยเฉพาะเพศชายจะมีผลกระทบมากว่าเพศหญิง ซึ่งอาจจะเป็นผู้บริโภคโดยตรง จึงมีผลต่อการรับรู้และความคิดเห็นที่แตกต่างกัน  ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ถ้าการรณรงค์เกี่ยวกับพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สิ่งที่จะให้ได้ผลมากที่สุด ควรมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน และควรศึกษาผลกระทบส่วนอื่นที่จะตามมา  นอกจากนั้น ความมีสถานภาพที่แตกต่างกัน ก็ส่งผลกระทบต่อพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า การรับรู้และความคิดเห็นของกลุ่มบุคคลที่มีหน้าที่ในการปฏิบัติงานที่แตกต่างกัน จะมีผลต่อการรับรู้และข้อคิดเห็นที่แตกต่างกัน  ดังนั้นควรมีการประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มบุคคลที่มีสถานภาพต่างกันให้เกิดการตระหนักรู้และเข้าใจในบทบาทของตนเอง เพื่อการปฏิบัติงานให้ได้บรรลุตามวัตถุประสงค์ ส่วนข้อมูลส่วนบุคคล คือ ด้านอายุและระดับการศึกษา พบว่า ไม่มีความสัมพันธ์กัน ตามนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า บุคคลที่มีพัฒนาการทั้งระดับอายุและระดับการศึกษา ถือว่า การรณรงค์สิ่งที่มีผลกระทบของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  ซึ่งอันที่จริงบุคคลสามารถรับรู้และเข้าใจถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น  เพราะว่าบุคคลทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎหมายเดียวกัน  จึงทำให้ผลการวิเคราะห์ตามข้อสมมติฐานไม่แตกต่างกัน  ดังนั้น กล่าวโดยภาพรวมจะเห็นว่า ผลกระทบของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างมาก โดยเฉพาะด้านเพศ  สถานภาพ รวมทั้งการรับรู้และความคิดเห็น  จำเป็นอย่างยิ่งที่ หน่วยงาน องค์กรที่มีส่วนรับผิดชอบ ควรต้องตระหนักรู้เกี่ยวกับการวางแผนยุทธศาสตร์และกลไกในการดำเนินนโยบายตรงกับกลุ่มบุคคล ดังผลการวิเคราะห์จากงานวิจัยนี้

 

 

 

 

 

ข้อเสนอแนะ

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

             การวิจัยเรื่อง การรับรู้เกี่ยวกับพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปีพุทธศักราช 2551 ของพระภิกษุสงฆ์และประชาชนที่เข้าไปจัดกิจกรรมในวัดในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร   คณะผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะที่ได้จากการวิจัยเพื่อนำไปสู่การกำหนดเป็นนโยบายสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้

     1) กระทรวงสาธารณสุข หรือหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ควรกำหนดเป็นนโยบายในการสนับสนุนส่งเสริมต่อการรับรู้ของประชาชนให้มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องเร่งด่วน ควรมีการรณรงค์และนำไปสู่ภาคปฏิบัติเกี่ยวกับการเสริมสร้างการเรียนรู้แบบบูรณาการของชุมชน

             2) วัดหรือชุมชนควรร่วมมือกันในการจัดกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับภัยอันตรายอันเกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะการสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับพระราชบัญญัตินี้ให้มากขึ้น ให้คนในวัดและชุมชนเกิดการตระหนักรู้ว่าการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้เป็นหน้าที่ของทุกคนขณะเดียวกันมีการวิพากษ์และจัดเวทีสาธารณะเกี่ยวกับพระราชบัญญัติฯ นี้ว่ามีความเหมาะกับสังคมไทยหรือไม่และควรปรับปรุงพัฒนาไปในทิศทางใด

   3)  พระสงฆ์ระดับพระสังฆาธิการหรือพระวิทยากร ควรจัดทำเป็นหลักสูตรกำหนดเป็นนโยบายของคณะสงฆ์เกี่ยวกับการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปีพุทธศักราช 2551 กับพระสงฆ์ในเขตปกครองของตนเองหรือชุมชนใกล้วัดเพื่อให้เกิดความสงบสุขภายในวัดและชุมชน

 

ข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติ   

              การวิจัยเรื่อง การรับรู้เกี่ยวกับพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปีพุทธศักราช 2551 ของพระภิกษุสงฆ์และประชาชนที่เข้าไปจัดกิจกรรมในวัดในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร   คณะผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะที่ได้จากการวิจัยเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ โดยแบ่งเป็นประเด็น ดังต่อไปนี้

     1) การรับรู้เกี่ยวกับพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ของพระภิกษุสงฆ์และประชาชนที่เข้าไปจัดกิจกรรมในวัดในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่า การดื่มสุราทำให้ความสามารถในการขับขี่ยานพาหนะลดลง ร้อยละ 92.0, การนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปจำหน่ายในวัด หรือสถานศึกษา เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมฯ นี้ แน่นอน ร้อยละ 91.7 , เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่ควรดื่ม ร้อยละ 89.2, การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิต ควรให้การสนับสนุนส่งเสริมต่อการรับรู้ของประชาชนให้มากขึ้น ส่วนที่ควรปรับปรุงเร่งด่วนคือ พระราชบัญญัติควบคุมฯ ได้กำหนดโทษไว้สำหรับผู้ละเมิดถึงขั้นประหารชีวิต ร้อยละ 87.6 , พระราชบัญญัติควบคุมฯนี้ ให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ในหอพักนักศึกษา ร้อยละ 84.8 , พระราชบัญญัติควบคุมฯ นี้ เป็นการอนุญาตให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวัดหรือสถานศึกษา ร้อยละ 80.2 และ พระราชบัญญัติควบคุมฯ มีผลบังคับใช้เฉพาะสถานที่ปฏิบัติธรรมทางศาสนาเท่านั้น ร้อยละ 69.9 จากจำนวนตัวเลขที่ปรากฏทำให้มีการตระหนักรู้สิ่งเสพติดให้โทษ ควรมีการรณรงค์ให้มากขึ้น และเสริมสร้างการเรียนรู้แบบบูรณาการไม่ควรที่จะลงโทษโดยที่ไม่คิดแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

              2) ระดับความคิดเห็นเกี่ยวกับพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ของพระภิกษุสงฆ์และประชาชนที่เข้าไปจัดกิจกรรมในวัดในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่า บุคคลที่ได้เสนอความคิดเห็นส่วนมากสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับพระราชบัญญัตินี้ให้มากขึ้น และทุกคนเกิดการตระหนักรู้ว่าการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้เป็นหน้าที่ของทุกคน  ถือว่าเป็นสิ่งที่จะพัฒนาสังคมไปสู่สันติสุขได้เพราะทุกคนตระหนักในการทำหน้าที่ของตนเองและคิดอย่างสัมมาทิฐิ  แต่สิ่งที่ควรพัฒนาเพิ่มเติม คือควรพิจารณาว่าในพระราชบัญญัติฯ นี้เหมาะกับสังคมไทยหรือไม่ เพราะสังคมไทยเป็นสังคมพุทธศาสนา นอกจากนั้นการประกาศพระราชบัญญัตินี้เพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อนมากน้อยเพียงใด และในพระราชบัญญัตินี้มีข้อห้ามมากเกินไป ที่ไม่เอื้อต่อการปฏิบัติตนของคนในสังคมไทยปัจจุบัน  ดังนั้น ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบต้องมีกฎหมายที่ประกอบไปด้วยนิติรัฐและนิติธรรมไปพร้อมๆ กัน  จึงจะสามารถทำให้สันติสุขเกิดขึ้นในสังคมที่วุ่นวายได้

    3)  ผลกระทบของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปีพุทธศักราช 2551 ในวัดเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่า   มีผลกระทบน้อยในเกือบทุกรายการ ยกเว้นเรื่อง วิถีชีวิตของพระสงฆ์ที่จะเปลี่ยนแปลงไป ผู้ตอบแบบสอบถามมีความคิดเห็นว่าไม่มีผลกระทบเลย  ในการนี้ คณะผู้วิจัยเห็นว่า การพัฒนาการรับรู้และความคิดเห็นจะทำให้สังคม หรือพฤติกรรมมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปได้ จำเป็นอย่างยิ่งทุกองค์กร ไม่ว่าองค์กรสงฆ์  องค์กรของรัฐและองค์กรภาคประชาชน ต้องเข้ามามีส่วนร่วม เพราะทุกคนในสังคมนี้ คือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียด้วยกันทั้งนั้น  ดังนั้น เหตุผลที่มีผลกระทบน้อยอาจเป็นเพราะว่า การทำงานเชิงรุกยังไม่สามารถสัมฤทธิผลได้  จำเป็นต้องมีการอบรมพัฒนาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในจิตใจของประชาชน แผนยุทธศาสตร์และนโยบายจึงจะประสบความสำเร็จ

 

ข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัยครั้งต่อไป

         สำหรับการวิจัยครั้งต่อไป ควรศึกษาในประเด็นดังต่อไปนี้

             1. ควรศึกษาผลกระทบเชิงจริยธรรมต่อพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปีพุทธศักราช 2551

                 2. ควรศึกษาพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปีพุทธศักราช 2551  ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต กรณีศึกษา พุทธศาสนิกชนทุกภาคของประเทศไทย

                 3. ควรศึกษาผลกระทบพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปีพุทธศักราช 2551 ต่อเศรษฐกิจพอเพียงในบริบทการบริหารจัดการพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา กรณีศึกษา  วัดในเขตกรุงเพทมหานคร และเขตปริมณฑล

 

 

 

บรรณานุกรม

 

            [1] สุพัฒน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล,การศึกษาพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ 2549-2550 หน้าบทคัดย่อ.

            [1] สาวิตรี อัษณางค์กรชัยและคณะ .มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาจากแอลกอฮอล์ : รายงานการทบทวนองค์ความรู้,สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขกระทรวงสาธารณสุข,2543,หน้า บทคัดย่อ.

            [1] วิภา  ด่านธำรงกูล และ คณะ.  ความรู้และทัศนคติต่อการติดสารเสพย์ติด และพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องของเด็กและเยาวชนที่ต้องโทษ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2532 หน้าบทคัดย่อ.

[1] บุญเสริม หุตะแพทย์. ลักษณะการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว. สานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย , 2545.หน้า บทคัดย่อ.

[1] รายงานการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มสุราของประชากร,สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี, 2548 หน้า บทคัดย่อ.

[1] ชนิกา ตู้จินดา. (2547). Alcohol and the adolescent.ในพัฒน์ มหาโชคเลิศวัฒนา (บรรณาธิการ), กลยุทธ์การดูแลและสร้างเสริมสุขภาพวัยรุ่น ,2547 หน้า 288-292.

            [1] บัญญัติ สุขศรีงาม,รศ.,คนไทยกับการดื่มสุรา ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา, 2532 หน้า บทคัดย่อ.

[1] พันตำรวจโท หญิง ชุติมา  ชัยมุสิก ความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาสังคมไทยที่มีผลกระทบต่อการเกิดปัญหาอาชญากรรม เอกสารศึกษารายบุคคลฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา หลักสูตรผู้กำกับการ รุ่นที่ 57 สถาบันพัฒนาข้าราชการตำรวจ กองบัญชาการศึกษา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2550,หน้าบทคัดย่อ.

 

 



            [1] สุพัฒน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล,การศึกษาพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ 2549-2550 หน้าบทคัดย่อ.

            [2] สาวิตรี อัษณางค์กรชัยและคณะ .มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาจากแอลกอฮอล์ : รายงานการทบทวนองค์ความรู้,สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขกระทรวงสาธารณสุข,2543,หน้า บทคัดย่อ.

            [3] วิภา  ด่านธำรงกูล และ คณะ.  ความรู้และทัศนคติต่อการติดสารเสพย์ติด และพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องของเด็กและเยาวชนที่ต้องโทษ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2532 หน้าบทคัดย่อ.

 

[4] บุญเสริม หุตะแพทย์. ลักษณะการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว. สานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย , 2545.หน้า บทคัดย่อ.

[5] รายงานการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มสุราของประชากร,สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี, 2548 หน้า บทคัดย่อ.

[6] ชนิกา ตู้จินดา. (2547). Alcohol and the adolescent.ในพัฒน์ มหาโชคเลิศวัฒนา (บรรณาธิการ), กลยุทธ์การดูแลและสร้างเสริมสุขภาพวัยรุ่น ,2547 หน้า 288-292.

            [7] บัญญัติ สุขศรีงาม,รศ.,คนไทยกับการดื่มสุรา ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา, 2532 หน้า บทคัดย่อ.

[8] พันตำรวจโท หญิง ชุติมา  ชัยมุสิก ความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาสังคมไทยที่มีผลกระทบต่อการเกิดปัญหาอาชญากรรม เอกสารศึกษารายบุคคลฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา หลักสูตรผู้กำกับการ รุ่นที่ 57 สถาบันพัฒนาข้าราชการตำรวจ กองบัญชาการศึกษา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2550,หน้าบทคัดย่อ.

 

(ที่มา: บทความวิจัย)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕