หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส รศ.,ดร. ๒ » ธนาคารพระพุทธศาสนา: เงินตรากับการพัฒนาจริยธรรมชาวพุทธ
 
เข้าชม : ๑๓๙๐๓ ครั้ง

''ธนาคารพระพุทธศาสนา: เงินตรากับการพัฒนาจริยธรรมชาวพุทธ''
 
พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,รศ.ดร. (2555)

http://www.facebook.com/hansa.mcu

 http://www.komchadluek.net/detail/20121027/143358/ธนาคารพุทธกับการพัฒนาจริยธรรม.html

 

คำนำ

         การตั้งธนาคารพระพุทธศาสนา ทำให้เกิดคำถาม ๒ คำถามใหญ่ (๑) องค์กรพระพุทธศาสนากำลังพาตัวเองเข้าไปใกล้ "ทุน" มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ "การระดมทุนในรูปแบบของธนาคาร" ทำให้เกิดคำถามว่า ขัดกับเจตนารมณ์ดั้งเดิมที่เป็นคำสอนของพระพุทธศาสนาหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาที่สอนให้มนุษย์ใช้ชีวิตแบบสันโดษ ไม่ตกเป็นทาสของวัตถุนิยม หรือบริโภคนิยม เพราะเมื่อพลัดหลงเข้าไปในวงจรของความอยาก ย่อมทำให้จิตใจเกลือกกลั้วกับความอยากแบบไร้ขีดจำกัด และสนองตอบต่อความอยากโดยไม่รู้จักพอ (๒) การระดมทุนที่ได้จากการดำเนินธุรกรรมทางการเงิน ทั้งเงินที่นำไปลงทุนในการซื้อพันธบัตร ซื้อหุ้นในบริษัทที่มีความเสี่ยงน้อย และสร้างกำไรได้มาก และอัตราดอกเบี้ยที่ได้รับจากการนำเงินไปฝากไว้ในธนาคารต่างประเทศจากส่วนต่าง ร่วมไปถึงระดมทุนจากบัญชีเงินบริจาคที่ธนาคารจัดตั้งขึ้นมาเพื่อรับบริจาค และนำเงินดังกล่าวไปดำเนินธุรกรรมแล้วนำเงินมาร่วมอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ทำให้เกิดคำถามว่า ในวิถีของการพัฒนาจริยธรรมเชิงปัจเจกนั้น จำเป็นหรือไม่ต้องใช้เงินซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณค่าภายใน คือ "คุณธรรมจริยธรรม"

          การที่จะตอบคำถามทั้ง ๒ ได้อย่างชัดเจนนั้น จำเป็นอย่างยิ่งต้องกลับไปวิเคราะห์หลักการขั้นพื้นฐานในพระพุทธศาสนาก่อน หลังจากนั้น จึงจะทำให้้ราสามารถค้นหาทางเลือกที่พึงประสงค์เพื่อให้มีท่าทีต่อคำว่า "ทุน" หรือ "เงินตรา" ที่สัมพันธ์กับ "ธนาคารพระพุทธศาสนา" อย่างแยกไม่ออก

ธนาคารพระพุทธศาสนา: อะไร และทำไม

          คณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ได้ร่วมกันนำเสนอร่างพระราชบัญญัติธนาคารพระพุทธศาสนา พ.ศ. ... หลักการพื้นฐานที่อ้างถึงไม่ได้วางอยู่บนหลักการขั้นพื้นฐานทางพระพุทธศาสนาว่า "จำเป็นต้องมี" เช่นเดียวกับธนาคาารอิสลามแห่งประเทศไทย แต่ได้อ้างกฏหมายรัฐธรรมนูญในมาตรา ๗๙ ว่า "รัฐต้องให้ความอุปถัมภ์ และคุ้มครองพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน" โดยอ้างหลักการและเหตุผลที่จำเป็นต่อการจัดตั้งธนาคารพระพุทธศาสนาว่า "...เพื่อระดมเงินเพื่อพัฒนา ส่งเสริม อุปถัมภ์ สนับสนุน และคุ้มครองการดำเนินงานด้านพระพุทธศาสนา โดยมุ่งหมายเพื่อให้บริการแก่ประชาชนทั่วไป ตลอดจนิงค์ทางพระพุทธศาสนา และประกอบกิจการอื่นตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย โดยการดำเนินกิจการของธนาคารดังกล่าวจะต้องสอดคล้องกับหลักการของพระพุทธศาสนา"

          สำหรับเป้าหมายหลักในการดำเนินการประกอบด้วย (๑) เป้าหมายในเชิงปริมาณ (Target Market) เน้นไปที่วัดกว่า ๓๐,๐๐๐ ทั่วประเทศ พระภิกษุ สามเณร และแม่ชีกว่า ๓๐๐,๐๐๐ รูป โดยภาพรวม คือ พุทธศาสนิกประมาณ ๙๕% ทั่วประเทศ อาจจะรวมไปถึงพุทธศาสนิกชนทั่วโลกกว่า ๕๐๐ ล้านคนทั่วโลก (๒) เป้าหมายในเชิงคุณภาพที่มุ่งเน้นเพื่อให้เกิดความตั้งมั่นและยั่งยืนของพระพุทธศาสนา ทั้งในการศึกษา ปฏิบัติ และเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งไทย และต่างประเทศ

          จะเห็นว่า การดำเนินธุรกรรมการเงินของธนาคารพระพุทธศาสนาจะมีลักษณะที่สอดคล้องกับธนาคารไทยที่รัฐบาลไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ หากจะต่างก็อาจจะเป็นประเด็น มาตรา ๓๒ ที่มุ่งเน้นให้ผู้บริหาร "ต้องเป็นพุทธศาสนิกชน" ร่วมถึงการกำหนดให้ตั้ง "คณะที่ปรึกษาธนาคารพระพุทธศาสนา" ตามมาตรา ๓๙ ที่ต้องประกอบด้วยผู้แทนที่เป็นพระภิกษุ อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตในประเด็นนี้คือ ตามมาตรา ๒๐ หากกรรมการโดยตำแหน่ง เช่น ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงการคลัง หรือปลัดกระทรวงวัฒนธรรมเป็นกลุ่มคนที่นับถือศาสนาอื่น ทางออกควรจะดำเนินการอย่างไรจึงจะทำให้การบริหารงานไม่สดุดตามมาตรานี้


ธนาคารพระพุทธศาสนากับการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง

          ในประเด็นนี้ สามารถวิเคราะห์ได้จากแง่มุมของคณะกรรมาธิการฯ ที่ได้ยกขึ้นมาอ้างถึงความจำเป็นในต่อ "การจัดกองทุนด้วยกระบวนการธนาคารให้ความอุปถัมภ์ และคุ้มครองพระพุทธศาสนา" สามารถวิเคราะห์ได้จากคำปรารภของนายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ ประธานกรรมาธิการฯ ว่า "ปัจจัยพื้นฐานในการสืบทอด และเผยแผ่ศาสนธรรมมีจำกัด ในขณะที่มีพระธรรมทูตและวัดต่างแดนมากขึ้น การจัดการศึกษาทั้งพระปริยัติธรรมแผนกธรรม แผนกบาลี และพัฒนาศาสนบุคคลที่เข้ามาบรรพชาอุปสมบทมีจำนวนมาก การขาดปัจจัยต่อการอนุรักษ์ และบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะ และศาสนสถาน รวมถึงการบริการกิจการคณะสงฆ์ภายใน และนานาชาติได้รับการสนับสนุนไม่เพียงพอ และแน่นอน รวมไปถึงการจัดการศึกษาด้านศีลธรรม จริยธรรม และคุณธรรมไปสู่เยาวชนตามแผนการศึกษาแห่งชาติในระบบโรงเรียนไม่อาจตอบสนองได้เต็มที่ ด้วยการอุปถัมภ์และคุ้มครองที่มีข้อจำกัด และแรงศรัทธาที่ไม่อาจกำหนดทิศและเป้าหมายได้ จึงเป็นที่มาของศึกษา หาช่องทางเพื่อบรรเทาปัญหานี้โดยการยกร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้"

          จากแง่มุมดังกล่าว ทำให้เห็นได้อย่างแจ่มชัดว่า คณะกรรมาธิการฯ และทีมงานที่ทำงานร่วมกันมุ่งหวังที่เข้าไปแก้ปัญหาการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาใน "เชิงโครงสร้าง" มากกว่าการปล่อยให้ต่างฝ่ายต่างทำอย่างไร้ทิศทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การระดมทุนเพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพ และมีพลังเพียงพอในการเข้าไปสนับสนุนและพัฒนา กล่าวคือ เป็นการนำ "ศาสนวัตถุ" หรือ "ศาสนทุน" เพื่อไปพัฒนาทั้งศาสนบุคคล ศาสนทายาท ศาสนพิธี ศาสนสถาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาศาสนธรรม ให้เกิดมูลค่าเพิ่ม (Values Creation) ต่อการศึกษา ปฏิบัติ และเผยแผ่หลักธรรมคำสอน รวมไปถึงกิจกรรมทางศาสนาในมิติต่างๆ สรุปในประเด็นนี้ คณะทำงานมุ่งมั่นที่จะ "นำทุนไปสร้างธรรม เพื่อให้ธรรมไปสร้างคน" ต่อไปอย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ

          คำถามที่จะเกิดในประเด็นนี้คือ การการระดมทุนในลักษณะรวมศูนย์เช่นนี้ แม้จะเป็นทำให้เกิดความเป็นเอกภาพต่อการบริหารจัดการทุนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่อาจจะทำให้เกิดความอ่อนด้อยต่อการพัฒนาพระพุทธศาสนาแบบเอกชน หรือเชิงปัจเจกที่ไม่ได้เป็นพระพุทธศาสนากระแสหลัก อีกทั้งจะทำให้ขาดความหลากหลายในรูปแบบของกิจกรรม การศึกษา และตีความที่สอดรับกับมิติความเป็นไปของสังคมแบบพหุนิยม ที่เน้นความหลากหลายแต่สอดรับกับแกนหลักของศาสนา


ไม่มีธนาคารพระพุทธศาสนาก็พัฒนาจริยธรรมได้!!??

          ข้อถกเถียงในลักษณะเช่นนี้ เป็นการมองการพัฒนาจริยธรรมในเชิงปัจเจก ที่บางท่านอาจจะมองว่า การพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะต้องไประดมทุนจำนวนมาก แม้ทุนจะจำเป็น แต่อาจจะจำเป็นต่อการดำรงชีพเพื่อนำเงินไปแลกเปลี่ยนสินค้า และความต้องการเท่าที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตเพื่อปฏิบัติธรรม ในหลายๆ ครั้ง การพัฒนาจริยธรรมในเชิงปัจเจกเงินอาจจะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญ เพราะหากมองในวิถีของการประพฤติพรหมจรรย์ เงินอาจจะกลายเป็นศัตรูของพรหมจรรย์ก็ได้ เนื่องจากเงินจะทำหน้าที่ในการขัดขวางความเจริญงอกงาม และเจริญเติบโตขององค์ธรรมข้อต่างๆ เช่น สิกขาบทที่ห้ามพระไม่ให้ไปเกี่ยวข้องกับเงิน หรือชาวนาประสบชตากรรมจนเกือบเอาชีวิตไม่รอดเพราะอสรพิษคือเงินชักพาไปสู่ความโลภเก็บเงินบางส่วนที่โจรขโมยมาไปซ่อนเอาไว้ จนทำให้พระพุทธเจ้าต้องไปทำหน้าที่ในเป็นผู้ประกันความบริสุทธิ์ของชาวนา และกลุ่มคนจำนวนมากเป็นหนี้ทุกข์ทรมานเพราะการกู้หนี้ยืมสิน เพราะเมื่อกลุ่มคนบางกลุ่มมาเป็นลูกหนี้ธนาคารพระพุทธศาสนา เราจะตอบประเด็นการเป็นหนี้เป็นทุกข์ในโลกอย่างไร

          ฉะนั้น การจะมีธนาคารพระพุทธศาสนาหรือไม่มี คนกลุ่มนี้มองว่าไม่ได้เข้าไปสัมพันธ์ต่อการปฏิบัติธรรมในเชิงปัจเจกที่ทุกคนสามารถดำเนินการปฏิบัติโดยตรงเพื่อให้สอดรับกับแนวทางที่พระพุทธเจ้าตรัสย้ำว่า ธรรมที่พระองค์ตรัสไว้นั้น เป็นสิ่งที่เห็นเอง เข้าไป หรือน้อมไปปฏิบัติด้วยตัวเอง ยิ่งไปกว่านั้น การเข้าไปเกี่ยวข้องกับทุนคือธนาคาร อาจจะทำให้เราพลัดหลงเข้าไปสู่ความอยากเพิ่มมากยิ่งขึ้น หรือบางคนอาจจะเป็นหนี้ธนาคารแห่งนี้ เพราะเมื่อประเมินจากปรากฎการณ์ต่างๆ จะเห็นว่า คนมีเงินน้อย มีกำลังแสวงหาเงินจำนวนน้อย ไม่ค่อยประสบปัญหาเมื่อเผชิญหน้ากับความโลภหรือความอยาก แต่เมื่อเห็นว่าตัวเองมีศักยภาพในการเข้าถึงเงินมากขึ้น อยู่กับเงินจำนวนมากขึ้น ความโลภจะเกิดขึ้นกับจำนวนเงินที่แสวงหาได้มา ดังนั้น จำนวนเงินในเชิงปริมาณมักจะสัมพันธ์กับคุณภาพของความโลภ และความอยากที่เกิดขึ้นเป็นเงาตามตัวเลขของเงิน

ทุนกับพระพุทธศาสนา เงินตรากับจริยธรรม??!!?

          การอธิบายเพื่อหาคำตอบในมิตินี้ จำเป็นต้องศึกษาเพื่อให้้เข้าในว่า พระพุทธศาสนามองเรื่องเงินหรือทุนอย่างไร? ปฏิเสธทั้งหมด หรือเลือกปฏิเสธบางแง่มุม!!! พระพุทธศาสนามองความสัมพันธ์ต่อทุนในลักษณะของเงินตราใน ๒ มิติหลัก กล่าวคือ นักบวชกับเงินตรา และคฤหัสถ์ทั่วไปที่ไม่ใช่นักบวชกับเงินตรา

          ๑. นักบวชกับรักษาระยะห่างที่เหมาะสมกับเงินตรา

          การตีความความตัวอักษรอย่างเคร่งครัดตามวินัยนั้น เงินได้กลายเป็นสิ่งต้องห้ามตามหลักวินัย จนทำให้สรุปได้ว่า "เงินตราคือศัตรูของพรหมจรรย์" โดยเฉพาะการเน้นให้เห็นทรัพย์ของนักบวชคือ "ความสันโดษ" ดังที่พระองค์ตรัสว่า "ความสันโดษเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง" ซึ่งสะท้อนแง่มุมของคำว่า "นักบวช" ซึ่งหมายถึง "ผู้เว้น" เว้นทั้งการไม่เกี่ยวข้องกับเรือน การสะสมทรัพย์สินเงินทอง การมองในลักษณะเพื่อป้องกันไม่ให้อกุศลธรรมเกิดขึ้นจากการเข้าไปเกี่ยวข้องกับเงินตรา

          แต่หากจะตีความตามบริบทและความเป็นไปของโลกและสังคมโดยการนำหลัก "มหาปเทส" มาเป็นกรอบ อาจจะทำให้พระสงฆ์บางกลุ่มมีช่องทางในการนำเงินมารับใช้ธรรม หรืออำนวยความสะดวกเพื่อให้เกิดช่องทางในการพัฒนาจริยธรรมได้เช่นกัน แต่อาจจะต้องตอบคำถามให้ชัดเจน และวางตนวางใจเพื่อไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของเงินตราที่อาจจะพัฒนาไปเป็นอสรพิษที่ย้อนกลับมาทำร้ายพระสงฆ์บางรูปที่วางท่าทีไม่ถูกต้อง และเหมาะสม หากมองในมิตินี้ อาจจะอธิบายได้ว่า เราจะนำทุนมารับใช้ธรรมอย่างไร จึงจะสอดคล้อง เหมาะสม และเอื้อต่อการปฏิบัติธรรมตามสมควรแก่ธรรม

          ๒. คฤหัสถ์กับเงินตรา: ท่าทีที่ควรจะเป็น

          การแสวงหาเงินตรา หรือการพัฒนาทุนไม่ใช่สิ่งผิดในวิถีของคฤหัสถ์ ดังจะเห็นว่าพระพุทธเจ้าตรัสถึงความสุขของคฤหัสถ์ที่้กี่ยวข้องกับทรัพย์ว่า "สุขจากการมีทรัพย์ สุขจากการใช้จ่ายทรัพย์ และสุขจากการไม่เป็นหนี้" และทรัพย์ในสมัยพุทธกาลที่สำคัญประการหนึ่งที่คนทั่วไปควรมีคือ "ทรัพย์เสมอด้วยโค หรือข้าวเปลือกไม่มี" จะเห็นว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้ปฏิเสธทุนหรือเงินตรา และทรงย้ำเสมอว่า "คนมีปัญญา หรือมีความขยัยหมั่นเพียรย่อมหาทรัพย์ได้" วิเคราะห์ตามบริบทนี้จะพบว่า พระพุทธเจ้าต้องการนำธรรมมาเป็นเครื่องมือในการแสวงหาทุนหรือเงินตรา เพื่อใช้เงินตราเป็นเครื่องมือในการหล่อเลี้ยงกาย เพื่อซื้อหาสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่กายในฐานะเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตและเข้าถึงความจำสูงสุดในทางศาสนา

          ในขณะเดียวกัน ทรงเน้นว่า หากคนทั่วไปมุ่งหวังจะเป็นเศรษฐีต้องขยันหาทรัพย์ รักษาทรัพย์ให้ดี คบหากัลยาณมิตร และเลี้ยงชีวิตแบบเรียบง่ายไม่ฟุ้งเฟ้อ เมื่อได้้ทรัพย์สินเงินทองมาจากการทำอาชีพที่สุจริต (สัมมาอาชีวะ) แล้ว ทรงมุ่งหวังให้เจ้าของทรัพย์ประกันความเสี่ยงโดยแบ่งออกเป็น ๔ คือ ส่วนที่ ๑ ส่วนใช้สอยตามความจำเป็น ส่วนที่ ๒ และ ๓ ให้นำไปลงทุนเพิ่ม และส่วนที่ ๔ ให้เก็บรักษาเอาไว้ใช้คราวจำเป็น หากมองในมิตินี้ พระพุทธศาสนาไม่ได้รังเกียจเศรษฐีที่เพียรพยายามที่จะแสวงหาทุน และสะสมทุน แต่รังเกียจคนที่โลภโมโทสัน เห็นแก่ตัว เอารัดเอาเปรียบคนอื่นและสังคม ตัวอย่างเศรษฐีที่มีเงินในพระพุทธศาสนา จึงเป็นกลุ่มคนที่ตั้งใจทำงาน สะสมเงินทอง ลงทุนและขยายธุรกิจอย่างไม่หยุดยั้ง เมื่อได้กำไรมาจึงนำเงินบางส่วนไปช่วยเหลือสังคม โดยการแข่งขันกันตั้งโรงทาน สร้างวัด บำรุงศาสนา ดังเช่นกรณีของอนาถปิณฑิกเศรษฐีที่แปลตามชื่อว่า "เศรษฐีที่มีก้อนข้าวเพื่อคนอนาถา หรือคนยากไร้" หรือการเปิดโอกาสเศรษฐีเข้าไปช่วยคนที่มีกำลังน้อยกว่าในการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อช่วยเหลือคนด้อยโอกาศให้เข้าถึงแหล่งทุน ดังเช่นในกรณีของที่พระเจ้ามหาวิชิตราชดำเนินการปราบผู้ร้ายด้วยการปราบความยากจน โดยแบ่งพื้นที่ให้เศรษฐีเข้าไปช่วยฟื้นฟูอาชีพ และสนับสนุนทุนที่เหมาะสมแก่คนที่กำลังลงทุนในช่วงเริ่มแรก

          ในประเด็นคฤหัสถ์กับเงินตรานั้น พระพุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธทุน หรือเงินตรา หากเงินตราเป็นส่วนหนึ่งของคำว่าทุน พระพุทธศาสนาเลือกที่จะปฏิเสธ "ทุนสามานย์" ซึ่งเป็นทุนที่ก่อให้เกิดการกระตุ้นการเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน พระพุทธศาสนาปฏิเสธอย่างแข็งขัน และไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งคือ "ความโลภ และไม่รู้จักพอเพียงในการแสวงหาทุนหรือเงินตรา ดังพระดำรัสที่ว่า "โลภเกินไปก็ลามก" ประจักษ์ชัดว่า มนุษย์ในฐานะปุถุชนย่อมมีความโลภเป็นธรรมดา แต่ปัญหาที่เกิดเพราะ "ความโลภเกินไป" จึงทำให้มนุษย์ดึงทรัพยากร หรือแย่งชิงทรัพยากรมาตอบสนอง หรือมาใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม เกินความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต

 สรุป

         กล่าวโดยสรุปแล้ว เมื่อมองในเชิงโลกียวิสัย พระพุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธทุน หรือเงินตราโดยสมบูรณ์ ยิ่งไปกว่านั้น ทุนหรือเงินตราเป็นเครื่องมือสำคัญต่อการต่อการดำรงชีพ และการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่สนองตอบต่อการดำเนินชีวิต และการบริหารจัดการองค์กรให้เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผล เพื่อให้ชีวิตและองค์กรสามารถสนองตอบต่อวัตถุประสงค์ของตัวเอง อย่างไรก็ตาม สำหรับนักบวชแล้ว อาจกล่าวได้ว่า “เงินครูศัตรูของพรหมจรรย์” โดยวางหลักวินัยเป็นเด็ดขาดว่าไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะเงินอาจจะเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อขัดขวางการเพ็ญสมณธรรมเพื่อเข้าถึงความจริงสูงสุดในทางพระพุทธศาสนา ถึงกระนั้น หากจะนำหลักมหาปเทสเข้าไปช่วยตีความ การสัมพันธ์กับเงินอาจจะมีช่องทางให้นักบวชเข้าไปเกี่ยวข้องได้เช่นกัน 

         ประเด็นการตั้งธนาคารพระพุทธศาสนากับทุนหรือเงินตราขัดกับเจตนารมณ์คำสอนของพระพุทธศาสนาดั้งเดิมหรือไม่? ย่อมเป็นที่ประจักษ์ว่า ทุนหรือเงินตรากับความเป็นฆราวาสวิสัยนั้น เป็นสิ่งที่เอื้อและสัมพันธ์กันในฐานะเป็นปัจจัยเกื้อหนุนต่อการดำรงชีพและการประกอบสัมมาชีพ อีกทั้งตามร่าง พรบ. นั้น ผู้ที่ทำหน้าที่หลักในการบริหารจัดการธนาคารพระพุทธศาสนา คือ “คฤหัสถ์” ซึ่งสามารถเข้าไปเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกรรมทางการเงินโดยการบริหารจัดการธนาคารได้อย่างประสานสอดคล้องกับโลกียวิสัยและวัตถุประสงค์หลักในการจัดตั้ง อีกทั้ง พระสงฆ์ที่เข้าไปเกี่ยวข้องนั้น ตามพรบ.ให้เข้าไปทำหน้าที่ประดุจที่ปรึกษาผู้ซึ่งสามารถให้คำแนะนำ ในกรณีที่การดำเนินกิจการไม่สอดรับกับหลักการในพระพุทธศาสนา

         ดังนั้น เมื่อวิเคราะห์จากเจตนารมณ์ในการพัฒนาธนาคารพระพุทธศาสนาตามร่าง พรบ. เห็นได้ชัดว่า กลุ่มคนที่เกี่ยวข้องมุ่งมั่นที่จะ “นำทุนมาพัฒนา หรือรับใช้ธรรม เพื่อนำธรรมไปพัฒนาคน หรือองค์กรทางศาสนา” ต่อไป แนวทางดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการแก้ปัญหาในเชิงโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาองค์กรพระพุทธศาสนาทั้งทางด้านศาสนบุคคล ศาสนวัตถุ ศาสนสถาน และศาสนศึกษาทั้งของพระสงฆ์ และเยาวชนทั่วไปให้มีความเป็นเอกภาพ มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น  นอกจากนี้ การดำเนินธนาคารพระพุทธศาสนามีลักษณะการบริหารจัดการเหมือนธนาคารทั่วไป ข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนคือกลุ่มคนที่เป็นเป้าหมาย หรือลูกค้าหลักในการรับบริการจากธนาคาร และวัตถุประสงค์บางอย่างในการดำเนินการนั้นได้รับการจัดวางเอาไว้ค่อนข้างจะชัดเจนเดียวกันว่าต้องการจะตอบโจทย์เรื่องการบริหารองค์กรพระพุทธศาสนาในมิติต่างๆ ทั้งศาสนธรรม ศาสนบุคคล ศาสนสถาน ศาสนศึกษา สาธารณสงเคราะห์ และสาธารณูปการ

         สำหรับการตั้งธนาคารพระพุทธศาสนากับการพัฒนาจริยธรรมเชิงปัจเจกนั้น แม้ว่าบุคคลบางกลุ่มจะอ้างว่า บุคคลต่างๆ จะสามารถปฏิบัติธรรม และเข้าถึงธรรมด้วยตัวของตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยทุนหรือเงินตรามาช่วยพัฒนาคุณค่าภายในให้แต่ละคนเข้าถึงธรรม แต่เป้าประสงค์ในการพัฒนา หรือจัดตั้งธนาคารพระพุทธศาสนานั้นมุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของความเป็นเอกภาพในการระดมทุนเพื่อนำเงินตราไปเป็นเครื่องมือพัฒนาการพัฒนาจริยธรรมของกลุ่มคนต่างๆ ทั้งที่เป็นนักบวช และเยาวชนทั่วไป ส่วนการเข้าถึงความจริง หรือการนำธรรมไปปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงธรรมนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่แต่ละคนจะต้องพัฒนาองค์ธรรมให้เกิดขึ้นด้วยตัวของตัวเอง จะเห็นว่า หากมองในเชิงโครงสร้าง ธนาคารพระพุทธศาสนาอาจจะเข้าไปช่วยเสริมแรง และเป็นฐานในการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมในระดับองค์กร แต่สำหรับกลุ่มคนที่มีความพร้อม หรือมีอุปนิสัยในการที่จะเข้าถึงธรรมแล้ว อาจจะไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะใช้เครื่องมืออื่นๆ เข้ามาช่วยสร้างแรงจูงใจ

 

(ที่มา: บทความทางวิชาการ)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕