หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,รศ.ดร. » พระพุทธศาสนา: ศาสนาแห่งทุกข์นิยม???
 
เข้าชม : ๓๓๙๔๖ ครั้ง

''พระพุทธศาสนา: ศาสนาแห่งทุกข์นิยม???''
 
พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,ผศ.ดร. (2554)


       นักคิด และนักวิชาการทั้งในตะวันตก และตะวันออกจำนวนมากมักจะหยิบยื่นข้อหาให้แก่พระพุทธศาสนามาโดยตลอดว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนา "ทุกข์นิยม" หรือ "นิยมความทุกข์" ด้วยเหตุผลของการจัดลำดับความสำคัญ และจัดวางตำแหน่งของ "ความทุกข์นำหน้าความสุข" ในหลายบริบท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ และถือได้ว่าเป็นชุดความคิดหลักในพระพุทธศาสนา คือ "หลักอริยสัจสี่" ที่เน้นความทุกข์ สาเหตุแห่งทุกข์ ความดับทุกข์ และวิธีการในการดับทุกข์ จากแง่มุมดังกล่าวได้ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า "แท้จริงแล้ว พระพุทธศาสนาให้คุณค่า และใส่ใจความทุกข์มากกว่าความสุขจริงหรือ??!!??"

เราบัญญัติทุกข์ และความดับทุกข์

     ในขณะเดียวกัน พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพรหมชาลสูตรว่า "ภิกษุทั้งหลาย ทั้งในกาลก่อนและบัดนี้ เราบัญญัติแต่ทุกข์และความดับทุกข์เท่านั้น" สรุป พระองค์สอนแค่สองเรื่องเท่านั้น คือ "ความทุกข์กับความสุข" เพียงแต่ว่าความสุขที่พระองค์ทรงเน้นมากคือ "นิพพาน เป็นสุขอย่างยิ่ง" เพราะเป็น "สุขแท้" ไม่แปรเปลี่ยนตามกาละ และเทศะ อีกทั้ง ไม่ต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไข และตัวแปรต่างๆ

      คำถามมีว่า เพราะเหตุใด??? จึงต้องตรัสถึง "ความทุกข์ก่อนความสุข" เพราะทุกครั้งที่มนุษย์เผชิญหน้ากับความทุกข์เขาเหล่านั้นจะรีบเบือนหน้าหนี และตะเกียกตะกายแสวงหาความสุขทั้งๆ ที่เราก็ไม่ทราบว่าเจ้าความสุขนั้น หน้าตาจะเป็นฉันใด จะยั่งยืน หรือชั่วคราว ตัวอย่างที่เด่นชัด คือ "พระพุทธเจ้า" นั่นเอง ช่างน่าอัศจรรย์ว่า ความสุขที่พระองค์ทรงค้นพบคือ "นิพพาน" จนทำให้พระองค์ถึงกับอุทานออกมาด้วยความปีติว่า "สุขอย่างอื่นที่ยอดเยี่ยมกว่าความสงบ (นิพพาน) นั้น ไม่มีอีกแล้ว"

สุขแท้.. ชั่วคราว.. หรือค้างคืน.. ขึ้นอยู่กับทุกข์ที่เราเผชิญ!!

    
การที่มนุษย์คนหนึ่งจะผ่านด่าน "ทดสอบ" คือ ความทุกข์" เพื่อให้บรรลุถึง "ความสุข" แบบใดแบบหนึ่งนั้น ย่อมต้องใช้ความอดทน ความมุ่งมั่นและตั้งใจ หาไม่แล้ว ความสุขดังกล่าวจะกลายเป็น "ความสุขแบบบังเอิญ" "สุขแบบชั่วคราว" และ "สุขแบบค้างคืน" แล้วความสุขแบบนั้นก็กลายกลับมาเป็นความทุกข์ที่คอยทิ่มแทงหัวใจดังที่เคยได้ประสบ


     จะเห็นว่า เมื่อยิ่งทุกข์มากก็โหยหาความสุขมาก และวันหนึ่งเมื่อเราค้นพบความสุขเราก็อยากจะให้มันอยู่กับเรานานๆ ทั้งนี้ ารที่ความสุขจะอยู่กับเรานานมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งว่า เราจะเอาทุกข์ที่เคยประสบอย่างแสนสาหัสมากระตุ้นเตือนใจของเรามากน้อยเพียงใด และเมื่อใดเราหลงลืมละเมอเพ้อพกลุ่มหลงมัวเมากับความสุขแบบไม่ลืมหูลืมตา สักวันหนึ่งตื่นขึ้นมาก็จะพลันพบว่า "ความสุขที่เราเฝ้าถวิลหาได้โบยบินหนีไปยามที่เราหลับไหล"

เมื่อเผชิญหน้ากับความสุข... อย่าลืมขอบคุณความทุกข์ที่ผ่านเลย!!!

     การเข้าใจธรรมชาติของ "กฎไตรลักษณ์" คือ "สรรพสิ่งไม่เที่ยง คงทนอยู่ในสภาพเดิมตลอดไปไม่ได้ และไม่สามารถบังคับ หรือกะเกณฑ์ให้เป็นไปตามปรารถนาและความต้องการของเราครั้งแล้วครั้งเล่า" ทำให้เราตระหนักรู้และวางท่าทีในเชิงบวกต่อ "โลกธรรม" คือ "มีลาภ ไร้ลาภ มียศ ไร้ยศ มีสุข ทุกข์ เสียงสรรเสริญ และนินทา" นั้นล้วน "เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปตามตัวแปรแห่งเหตุปัจจัย"


     ในสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญหน้ากับ "ความทุกข์ตรมระทมใจ" ความทุกข์ที่เห็นและเป็นอยู่นั้น กลับกลายเป็นบทเรียนครั้งยิ่งใหญ่ที่แวะเวียนเข้ามาทักทาย และทดสอบจิตใจเราให้แข็งแกร่ง มีสติมากขึ้น และไม่ประมาท ลุ่มหลง มัวเมาในทุกวินาทีแห่งลมหายใจของการใช้ชีวิต ความจริง เราไม่รู้เลยว่า การยืนอยู่บนขอบเหวเปี่ยมล้นด้วยความสุขสนุกหรรษาเพียงใด ถ้าครั้งหนึ่งเราไม่เคยล้มลุกคลุกคลานอยู่ใต้ก้นเหวมาก่อน

ทุกข์คือกัลยาณมิตรผู้คอยสกิดใจเมื่อพบสุข

      แท้ที่จริงแล้ว พระพุทธศาสนาให้คุณค่า และใส่ใจความทุกข์มากกว่าความสุขจริงหรือ??!!?? คำตอบที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ การใส่ใจ "ความทุกข์" ได้กลายเป็นตัวแปรสำคัญที่กระตุ้นเตือนให้เราเพียรพยายามที่จะค้นหา "ความสุข" เพื่อจะอยู่กับ "ความสุข" ทั้งยามตื่น และหลับไหลในทุกอณูแห่งลมหายใจ ท่ามกลางหมอกบาง ลมหนาว พายุ แสงแดด และลมฝนที่ซัดผ่านเข้ามาในชีวิต และการทำงาน ไม่ว่าความสุขนั้นจะเดินทางผ่านมาอยู่กับเราเพียงชั่วคราว ค้างคืน หรือตลอดไปก็ตาม


     
นอกจาก “ความทุกข์” จะทำให้เรามีเวลาในการคิดคำถึงบทเรียนที่เจ็บปวด และโหยไห้อาลัยหา จนอยากจะลิ้มรสความสุขแล้ว ความทุกข์ยังได้ทำหน้าที่ประดุจ “กัลยาณมิตร” คอยกระตุ้นเตือนใจเราให้เข้มแข็งดุจภูภาแล้ว การศึกษา เรียนรู้ และเข้าใจความทุกข์ และความสุข จึงเป็นการเปิดประตูหัวใจของเราให้พร้อมที่จะเผชิญหน้ากับความทุกข์อย่างไม่หวาดหวั่นพรั้นพรึง อีกทั้งไม่ผลีผลามและลนลานเมื่อพานพบและเสพความสุขโดยปราศจากสติ และปัญญา


แลกเปลี่ยนประสบการณ์ได้ที่... http://www.gotoknow.org/blogs/posts/485331

(ที่มา: บทความทางวิชาการ)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕