Mahachulalongkornrajavidyalaya University
MCU Home Search Contacts Study Events Site Map Thai/Eng
MCU
ON THIS SITE
Curriculum
Academic Articles

First Page » Phradhammakosajan » พรปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๕๑
 
counter : 16107 time

''พรปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๕๑ ''
 
Phradhrammakosajarn (2550)

          ในโอกาสที่ปีเก่าผ่านไป ปีใหม่เข้ามา คนไทยเรา ก็มักจะทักทายกันด้วยคำว่า สวัสดีปีใหม่
          คำว่า สวัสดี เป็นคำที่บัญญัติขึ้นโดย พระยาอุปกิตศิลปสารนำมาจากภาษาสันสกฤต ที่แปลว่า ขอให้มีความดีงามในชีวิต เวลาที่เราทักทายกันว่า สวัสดีนี้ ก็คือขอให้ความดีงาม จงมีแก่ท่าน สวัสดีปีใหม่ก็คือว่า ปีใหม่นี้ ขอให้มีแต่เรื่องดีๆ มีโชคดี มีความสำเร็จ
           คนที่จะประสบความสำเร็จ ความดีงามในชีวิต มาจากความเก่งและบวกกับความโชคดี คือ ความเฮง เก่ง หมายถึง ความรู้ ความสามารถที่เรามี มีความพร้อมที่จะทำงานตามที่คิดหรือได้รับมอบหมาย บางคนมีความรู้ มีความสามารถและพร้อมที่จะทำแต่ขาดโอกาสเมื่อไม่มีโอกาสก็ไม่ได้ใช้ความเก่งให้เปล่งประกายสมกับที่มี ก็เหมือนดาบที่อยู่ในฝักไม่ได้ชักออกมาใช้ จึงต้องรอโอกาสบางคนมีโอกาสดีเหลือเกิน แต่ก็ปล่อยให้โอกาสผ่านเลยไป ในที่สุดก็กลายเป็นคนที่เสียโอกาสเพราะไม่ตัดสินใจ เขาจึงบอกว่าสถานการณ์สร้างวีรบุรุษหรือวีรสตรี เพราะเมื่อมีสถานการณ์มีโอกาสก็กล้าจัดทำและในที่สุดก็ประสบความสำเร็จ
            ในปีใหม่นี้ ถ้าหากเรามัวแต่รอโอกาส และไม่ทำอะไรเลยโอกาสมาถึงก็ยังงอมืองอเท้าอยู่ ความโชคดีก็ไม่เกิด บางคนตัดสินใจแล้วแต่ผิดจังหวะ ก็ทำให้ชีวิตของคนนั้นไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น หากมองว่า ความโชคดีในปีใหม่นี้จะมีองค์ประกอบอะไรบ้างก็ดูที่คำสอนของพระพุทธเจ้าได้ พระพุทธเจ้าสอนว่า มาจากองค์ประกอบ ๓ ประการ ดังนี้
           ประการที่ ๑ ก็คือความเก่ง ความรู้ ความสามารถ เรียกว่า อัตตสัมมาปณิธิ วางตัวไว้ชอบ เมื่อเราวางตัวไว้ชอบก็คือ พัฒนาตัวเองตลอดเวลา เราก็จะกลายเป็นคนที่มีความเก่งและความดีอยู่ในตัวเองและเมื่อเรามีความเก่งและความดีอยากจะให้เปล่งประกาย เราก็ต้องแสวงหาประการที่ ๒
            ประการที่ ๒ ต้องทำบุญ เรียกว่า ปุพเพกตปุญญตา มีบุญที่ทำไว้แต่ก่อนมา อาจจะไม่ต้องเรียกว่าถึงชาติก่อนชาตินี้ก็ทำได้ แต่ทำในอดีตที่ผ่านมา ทำความดีไว้ให้มาก ความดีที่เราทำที่เรียกว่าบุญจะถูกเก็บไว้ในใจของเรา เราจะจดจำจารึกความดีที่เราทำเอาไว้ นึกขึ้นมาทีไรก็มีความสุข บุญจึงเป็นชื่อของความสุข ความเบา ความสบายใจ แต่ถ้าเราไปทำบาปไว้ที่ไหน นึกทีไรก็มีแต่เรื่องขุ่นข้องหมองใจ จิตก็ขุ่นมัว บาปเป็นเรื่องที่หนัก บาป แปลว่าทำให้จิตตกไปสู่อบาย สู่ความเสื่อม คนที่มีบุญก็คือจิตเบา นึกถึงเรื่องใด ก็ตามที่เราทำความดีแล้วเบาใจ แต่ถ้าหากหนักใจ เครียด ทุกข์ กังวล อาจเป็นเพราะบาปกรรมที่เราทำ
           ฉะนั้นจงทำบุญให้มาก จิตเราจะได้เบา ไม่กังวลและบุญที่ทำนั้นสะสมไว้ในจิตของเรา จะนำแต่ความดีมาสู่ชีวิตเขา เรียกว่าบุญจัดสรร คนที่ทำไม่ดีก็จะเจอคนไม่ดีมาหา เรื่องร้ายๆ ก็มาหา แต่ถ้าคนไหนเป็นคนดี คนดีก็มาสู่ เรื่องดีๆ ก็มาหา
            ยามบุญมา วาสนาช่วย ที่ป่วยก็หาย ที่หน่ายก็รัก
           บุญไม่มา วาสนาไม่ช่วย ที่ป่วยก็หนัก ที่รักก็หน่าย
           เพราะฉะนั้นปีใหม่นี้ทำบุญให้มากเข้าไว้ บางคนไปรอบุญเก่าอย่างเดียวบุญเก่าก็หมดไปได้ เหมือนเงินที่เราฝากไว้ที่ธนาคารพอได้ดอกเบี้ย เราถอนต้นออกมาเงินก็หมด ชีวิตเราที่เจริญก้าวหน้ามาจนปีที่แล้วเป็นเพราะบุญที่เราทำไว้แล้วในอดีต เมื่อบุญนั้นได้ให้ผลไปแล้ว เรียกว่า ไม่มีต้นทุนเหลือ คนที่ประสบความสำเร็จจึงต้องคิดว่า เราได้ดีด้วยบุญกุศลจึงต้องทำบุญเพิ่มอีก เพื่อรักษาสิ่งดีๆ ที่เราได้มาในปีที่ผ่านมาบุญอาจจะหมดสต็อกไปแล้ว ก็ไปทำเพิ่ม เช่น ไปถวายทาน รักษาศีล เจริญจิตภาวนา ไหว้พระ สวดมนต์ ถวายสังฆทานทำแล้วก็จะนำมาซึ่งบารมี คือ ทำให้เรามีบารมี
           คำว่า บารมี หมายถึง ความเต็มด้วยคุณงามความดีที่ว่าพระพุทธเจ้าบำเพ็ญบารมี ก็คือพระองค์เต็มด้วยความดีที่จะเป็นพระพุทธเจ้า เมื่อความดีเต็มเปี่ยมในใจ เขาเรียกว่าบารมีครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ก็บรรลุเป็นพระพุทธเจ้า เราเองอยากจะประสบความสำเร็จในเรื่องอะไร ก็ต้องบำเพ็ญบารมี คือ ทำความดีในด้านนั้นเอาไว้ สะสมไว้เรื่อยๆเก็บคะแนนเก็บแต้มเอาไว้ วันหนึ่งโอกาสก็จะมาถึง คือ เมื่อน้ำแต่ละหยดๆ ที่หยดลงไปในตุ่ม ตุ่มก็เต็มด้วยน้ำเหล่านั้น ฉันใด ชีวิตที่ทำความดีเอาไว้ วันหนึ่งบุญจะให้ผล เช่น ผู้ใหญ่อาจจะเห็นความดีของเรา หรือคนอื่นคนใด ก็จะเห็นความดีของเรา เรียกว่า เทวดาคุ้มครองก็ได้ นี้เป็นการทำความดี ต้อนรับปีใหม่
            ประการที่ ๓ ปฏิรูปเทสวาสะ อยู่ในที่ที่เหมาะสมกับความรู้ความสามารถของเรา เรื่องนี้เราก็เลือกได้บางคนเก่งในเรื่องนั้นๆ แต่เกิดผิดยุคก็มี ก็เลยไม่เป็นที่ต้อนรับไม่เป็นที่สนใจ เราคงเคยอ่านประวัติเจอ คนเก่งบางคนเกิดก่อนยุคของตัวเองเป็นร้อยปี กว่าคนรุ่นต่อมาจะซาบซึ้ง ในความเก่งเขาก็ตายไปแล้ว
           บางคนมีความรู้ความสามารถ ทำอะไรไว้เยอะ แต่ไม่ได้รับการยอมรับในสมัยของตัวเอง เขาเรียกว่าอยู่ผิดยุค ผิดที่ผิดจังหวะ กับบางคนอีกเหมือนกัน เกิดมาช้าไปหน่อยที่จริงต้องไปอยู่เมื่อร้อยปีที่แล้วน่าจะเหมาะเป็นความคิดโบราณ เขาว่าพวกไดโนเสาร์เต่าล้านปี นี่เห็นไหมว่าการที่เราจะประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับ ขึ้นอยู่กับสถานที่ ที่เราไปพูดที่เราไปทำหรือหน่วยงานที่เราสังกัด ถามว่าเราเลือกได้ไหมคนหนุ่มสาวยังมีโอกาสเลือกงานทำงานนี้ไม่เหมาะกับความรู้ความสามารถของเรา เขาไม่ต้อนรับคนอย่างเรา เราก็ไปที่อื่นไปที่อื่นแล้วก็พัฒนาตัวเองให้สอดคล้องกับที่ซึ่งเป็นปฏิรูปเทสนั้นจึงต้องเลือกปฏิรูปเทส
            ฉะนั้น เราต้องดูตัวเองว่าถ้าอยู่ตรงนี้อยู่ที่นี่ เราสามารถพัฒนาตัวเองได้ไหม ทำอะไรให้ถูกต้องและเป็นที่ยอมรับปรับตัวได้ไหม ถ้าเราปรับตัวได้ก็ทำ ก็พัฒนาตัวเอง การพัฒนาตัวเอง เรียกว่า อัตตสัมมาปณิธิ แปลว่า ตั้งตนไว้ชอบ บุญก็ทำไว้เสมอตามหลักปุพเพกตปุญญตา บุญที่ทำตั้งแต่ปีที่แล้วและปีก่อนๆ นั้นจะทำให้ชีวิตของเรา มีแต่ความดีงามมีแต่ความเจริญในปีนี้ และปีต่อๆ ไปเราจะเปล่งประกายไปเป็นที่ยอมรับ ก็เมื่ออยู่ในที่ที่เหมาะสม ได้แก่ ปฏิรูปเทสและเราก็ต้องทำบุญต่อไปอีก
           สรุปแล้วคนเราจะได้ดี ต้องมาจากต้นทุน ๓ ประการ คือ
            ๑. วางตัวไว้ดี ประวัติดี มีความรู้ความสามารถ
            ๒. ทำบุญไว้เยอะ ทำความดีไว้มาก และ
            ๓. อยู่ในที่ที่เขาชอบคนอย่างเราหรือส่งเสริมคนอย่างเรา
            ถ้ามีต้นทุนทั้ง ๓ อย่างนี้ สวัสดีปีใหม่แน่นอน คือปีใหม่จะมีแต่ความโชคดี มีความสุข มีความเจริญ แต่ยังไม่พอต้องพยายามให้ได้ดี หมายความว่า ทำดีให้ถูกดี ทำดีให้ถึงดีและทำดีให้พอดี แม้เราจะมีทุนดีก็เหมือนกัน แต่ทุนที่มีอยู่ เช่น เป็นคนเก่ง เป็นคนมีความรู้ความสามารถ แต่ทำไม่ถูกจังหวะ หรือไม่ถูกดีและทำไปแล้วเป็นกิ้งก่าวิ่งๆ หยุดๆ แล้วแต่อารมณ์ทำบ้างไม่ทำบ้าง มันก็ไม่เจริญ เรียกว่าทำไม่ถึงดี และบางคนทำแล้วก็เกินดีอีกนะ ขยันเกิน พูดมากเกิน ทำมากเกิน คนรับไม่ได้
           เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าจะให้มีความสวัสดี คือมีแต่เรื่องดีๆ ทำดีได้ดีในปีใหม่ ต้องทำดีให้ถูกดี ให้ถึงดี และให้พอดีที่ว่าให้ถูกดี คืออย่างไร
            ที่ว่าทำดีให้ถูกดี คือ เรามีหน้าที่อะไร ทำให้ที่สุด เป็นอะไรเป็นให้จริง-เป็นพ่อ-เป็นแม่-เป็นพระ-เป็นโยม-ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด นี้เรียกว่าทำดีให้ถูกดี บางคนมีหน้าที่แล้วไม่ทำ ไปทำสิ่งที่ไม่ใช่หน้าที่ เป็นฆราวาสอยากสวด เป็นนักบวชอยากร้องเพลง ถึงจะร้องเพลงดีแต่ไม่ใช่หน้าที่ เขาเรียกว่าทำดี ไม่ถูกดี คือ ไม่ถูกบทบาทของตัวเอง
           เพราะฉะนั้น เรามีหน้าที่อะไรทำให้สุดความสามารถ ทำให้ตรงหน้าที่นั้น แล้วเมื่อทำหน้าที่ตัวเองสมบูรณ์แล้วค่อยไปทำหน้าที่เพิ่มเติมอื่นๆ งานหลวงอย่าให้ขาด งานราษฎร์อย่าให้บกพร่อง อย่างนี้เรียกว่า ทำดีให้ถูกดี คือ ตรงหน้าที่ อย่าให้บกพร่อง
            ที่ว่าทำดีให้ถึงดี หมายความว่า อย่าเป็นคนจับจดตั้งใจทำแล้วต้องทำให้สำเร็จ อย่าเป็นเหมือนกับผู้เรียนตามหลักสูตรปริญญาตรี ๔ ปี บางคนเรียน ๓ ปี ออกกลางคัน ไม่ได้รับปริญญาบัตร แล้วยังบอกว่าการศึกษาไม่เห็นได้อะไรเลยทำงานก็ไม่ได้ ตกงาน เพราะเรียนไม่จบ ทำดีไม่ถึงจุดที่ความดีจะให้ผล ดังนั้น ทำอะไรก็ตาม ต้องทำให้เต็มที่ รำให้สุดแขน แพนให้สุดปีก
            ปีใหม่นี้ ถ้าอยากประสบความสำเร็จในชีวิต ต้องทำดีให้ถึงดี เหมือนกับเราจะขึ้นบ้านโดยอาศัยบันได ๗ ขั้น เราต้องขึ้นให้ครบ ๗ ขั้น จึงจะถึงชั้นบน แต่เราไปขึ้นแค่ ๒ ขั้น ๓ ขั้น มันก็ไม่ถึงชั้นเป้าหมาย เพราะทำไม่ถึงจุดที่ความดีจะให้ผลบางคนอยากจะทำงานสักชิ้น แต่มันยากลำบาก มีอุปสรรค เขาถูกด่า ถูกว่า ถูกบ่น ใจไม่สู้ หนาวนัก ร้อนนัก ก็ถอย อย่างนี้เรียกว่า หนักไม่เอา เบาไม่สู้ ทำดีไม่ถึงดี
            เพราะฉะนั้น นักปราชญ์ท่านหนึ่งจึงบอกว่า ให้ทำอะไรต้องทำให้ดีที่สุด ให้เลี้ยงม้า ม้าจะต้องอ้วบ ให้เป็นเสนาบดีกระทรวงการคลัง เงินจะต้องเต็มคลัง คนที่พูดประโยคนี้ก็คือขงจื้อ ตอนที่เขาให้รับตำแหน่งเล็กๆ ก็ทำไปก่อน พิสูจน์ฝีมือต่อเมื่อเขาไว้วางใจ เขาก็เลื่อนตำแหน่ง แต่บางคนตำแหน่งมีแต่ไม่ทำ เหมือนอย่างที่ว่า ทำดีไม่ถูกดี เขาจึงสอนว่าอย่าห่วงว่าเขาไม่รู้ว่าเก่งหรือมีความสามารถหรือไม่ ห่วงแต่ว่าสักวันหนึ่ง เมื่อคนเขายกย่องเรา ให้ตำแหน่งเรา เราเก่งจริง หรือเปล่ามีความรู้มีความสามารถหรือเปล่า เราต้องทำดีให้มันถึงดี
            ข้อสุดท้าย ที่ว่าทำดีให้พอดี ได้แก่ บางคนทำดีเกินธงมากเกินไปหากจะเทียบก็เหมือนเอาน้ำใส่แก้วมันล้นถ้วย เจิ่งนองไปหมด นอกจากจะเสียของแล้ว ยังเปียกปอนไปทั่ว พื้นตรงนั้น เพราะฉะนั้น คนที่ทำความดีต้องให้พอดีเราเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลางเห็นได้จากการใช้จ่าย จ่ายมากสุรุ่ยสุร่ายก็เสียเงินไปโดยใช่เหตุ จ่ายน้อยเกินไป อดอยาก ลำบากตน ความพอดีนี้ ก็คือ เศรษฐกิจพอเพียง
            ปีใหม่นี้ นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นเป้าหมายชีวิตเรา เพื่อความสุข เราจ่ายเงิน เพื่อให้เกิดความสุข อย่าให้เป็นทุกข์เพราะเป็นหนี้สิน บางคนติดการพนันเข้าไปอีก บางคนเล่นหวยทั้งบนดินใต้ดินมากมายปีใหม่นี้ไม่มีพวกอบายมุขทั้งหลายเราจะต้องดำรงชีวิตให้พอดีอย่าให้สิ่งไม่ดีเข้ามาแผ้วพาน หลวงพ่อปัญญานันทะ ท่านสอนว่าเผาศพทั้งทีให้เผาผีเสียด้วย บางคนเผาแต่ศพ คือ ร่างที่ไร้วิญญาณ แต่ไม่เผาผี ผีเลยสิงกลับบ้าน ปีใหม่นี้ไล่ผี อย่าให้สิงเรา มีผี ๖ ตัวด้วยกัน
            พระท่านว่าเป็นคำประพันอย่างนี้ ลองดูว่าผีตัวไหนชอบมาสิงเรา ตั้งแต่ปีที่แล้วปีนี้ไล่ไปเลยนะอย่าให้ตามมารังควานอีก
           ผีหนึ่ง ชอบดื่มสุราเป็นอาจิณ ไม่ชอบกินข้าวปลาเป็นอาหาร
            ผีสอง ชอบท่องเที่ยวยามวิกาล ไม่รักลูกรักบ้านของตน
            ผีสาม ชอบเที่ยวดูการละเล่น ไม่ละเว้นบาคลับละครโขน
            ผีสี่ ชอบคบคนชั่วมั่วกับโจร หนีไม่พ้นอาญาตราแผ่นดิน
            ผีที่ห้า ชอบเล่นไพ่ เล่นม้า กีฬาบัตร สารพัดถั่วโปไฮโลสิ้น
            ผีที่หก ชอบเกียจคร้านการหากิน มีทั้งสิ้น ๖ ผี อัปรีย์ เอย
           ถ้าเราทำดีให้ถูกดี ให้ถึงดี ให้พอดี ผีทั้ง ๖ ก็จะไม่เข้ามาสิงเรา ชีวิตเราก็จะมีแต่ความดี ประสบความสุขความเจริญงอกงามไพบูลย์ แล้วก็เป็นชีวิตที่มีแต่สวัสดี ก็คือ มีแต่ความดีงามเท่านั้น
            ฉะนั้น ถ้าเราประสงค์จะต้อนรับปีใหม่ด้วยความสวัสดีมีชัยก็คือมีแต่เรื่องดีๆ เราก็จะต้องดำเนินตามธรรมะที่ได้กล่าวมาก็คือ ข้อแรก วางตัวดี ข้อสองทำบุญไว้ดีแต่ก่อน ข้อที่สามอยู่ในที่ที่ดี อย่าพาตัวเองไปที่ที่ไม่เหมาะไม่ควร และทำดีได้ดีเพื่อความดีงามของชีวิตก็ต้อง
            ข้อหนึ่ง ทำดีให้ถูกดี ถามตัวเองว่าชีวิตเราเหมาะกับเรื่องอะไรทำเรื่องนั้นแหละ และเราก็จะโชคดีมีชัยประสบความสำเร็จ
            ข้อสอง เวลาทำแล้วต้องทำให้เต็มที่ อย่าเยาะแยะ ทำให้ถึงเป้าหมายให้สำเร็จให้ได้ ไม่ลงทุนเปล่า เหนื่อยเปล่า ทำดีให้ถึงดี และ
            ข้อสาม เมื่อทำดีถึงดีแล้วรู้จักหยุดรู้จักพอเศรษกิจพอเพียง อย่าไปฟุ้งเฟ้อสุรุ่ยสุร่ายไม่ทำให้ชีวิตของเราออกนอกลู่นอกทางไม่ติด อบายมุขทั้ง ๖ ประการ ก็คือ ผี ๖ ตัว เพราะเกินธง เครียดไป มากไป
            ฉะนั้น ปีใหม่นี้ จงมีแต่ความสวัสดี จากการทำดีให้ถูกดีทำดีให้ถึงดี และทำดีให้พอดี ชีวิตก็จะมีแต่ความสวัสดี มีชัย ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยและความดีที่เราบำเพ็ญมาจงมาอำนวยอวยพรให้ทุกท่านมีแต่ความสวัสดีมีชัย ในโอกาสต้อนรับปีใหม่นี้ เพื่อทำดีให้ถูกดี ให้ถึงดี ให้พอดี และชีวิตก็จะได้ มีความสวัสดีมีชัย ตลอดไปทุกท่าน ทุกคนเทอญ

(Source: -)
 
 
 
Copyright © Mahachulalongkornrajavidyalaya University All rights reserved 
Maintained by: webmaster@mcu.ac.th 
Last Update : Thursday February 9, 2012